ขอให้ความขัดแย้งตุรกี-สหรัฐอเมริกา จบไวเพื่อสันติภาพโลก

A supporter of Turkish President Tayyip Erdogan waves a U.S. and Turkish flag as he waits for him to arrive outside of The Peninsula hotel in Manhattan, New York City, U.S. September 19, 2017. Picture taken September 19, 2017. REUTERS/Darren Ornitz

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

ช่วงเดือนสิงหาคมนี้โลกกำลังจับตาความขัดแย้งระหว่างตุรกีกับสหรัฐอเมริกา

กล่าวคือ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561 “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีเพิ่มเป็น 2 เท่า ทำให้ค่าเงินลีราตุรกี ถึงได้ร่วงไปถึง 20% และลดลงมากกว่า 40% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จากเดิมที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกได้ประมาณ 3.78 ลีราตุรกี กลับอ่อนค่ามาเป็น 6.92 ลีราตุรกีต่อดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม

ส่งผลให้ตุรกีตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐถึง 2 เท่า เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 120% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 140% และยังส่งผลกระทบกับสินค้าจำพวกข้าว ผลไม้ ยาสูบ ถ่านหิน และเครื่องสำอางที่นำเข้าจากสหรัฐด้วย

เมื่อค่าเงินตุรกีลดอย่างฮวบฮาบทำให้รัฐบาลตุรกีได้ใช้มาตรการสกัดไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ เพื่อพยุงค่าเงินเอาไว้ มีการรณรงค์ให้คนตุรกีเทขายเงินดอลลาร์อเมริกา ไม่ซื้อสินค้าอเมริกา ช่วยซื้อสินค้าตุรกี

ในขณะเดียวกันประเทศพันธมิตรมุสลิมที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างกาตาร์เข้าช่วยเหลือวิกฤตการเงินครั้งนี้ กล่าวคือ ชัยค์ ตามีม บิน ฮามัด อัล-ตอนี (Sheikh Tamim bin Hamad al-Thani) เจ้าผู้ครองรัฐ (Amir) แห่งกาตาร์ เสด็จมายังกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี แบบที่ไม่ได้มีกำหนดการล่วงหน้ามาก่อน

โดยประกาศลงทุนในตุรกีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงิน Lira ของตุรกีแข็งค่าทันที

ในขณะเดียวกันภาคประชาชนทั้งในประเทศตุรกีหรือแม้แต่มุสลิมหลายประเทศที่สนับสนุนประธานาธิบดีตุรกี (ถึงแม้ไม่ใช่กลุ่มใหญ่แต่ได้ผลในแง่จิตวิทยาในยุคสื่อไร้พรมแดน) ก็ร่วมรณรงค์ซื้อเงินตุรกี เทขายเงินดอลลาร์และรณรงค์บอยคอตสินค้าอเมริกา

ความเป็นจริงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและตุรกีครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากการที่ตุรกีจับกุมนักบวชชาวอเมริกันและข้อพิพาทการทูตอื่นๆ ก่อนหน้านี้เรื่อยมา

กล่าวคือ แอนดรูว์ บรันสัน (Andrew Brunson) นักบวชชาวอเมริกันซึ่งถูกทางการตุรกีจับกุมและดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนความพยายามก่อรัฐประหารโค่นผู้นำตุรกีปัจจุบัน แอร์โดอาน เมื่อปี 2016

แอนดรูว์ บรันสัน ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนฟัตฮุลเลาะห์ กูเลน นักคิด นักฟื้นฟูสังคมผ่านหลักการศาสนาชาวตุรกีผู้เป็นศัตรูทางการเมืองกับแอร์โดอาน และหลบเขาไปลี้ภัยอยู่ในสหรัฐตั้งแต่ปี 1999 รัฐบาลตุรกีเชื่อว่าคนผู้นี้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016 และพยายามเรียกร้องให้สหรัฐส่งตัวเขากลับมารับโทษในตุรกี

แอนดรูว์ บรันสัน ซึ่งอาศัยอยู่ในตุรกีมานานกว่า 20 ปียังโดนข้อหาหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธเคิร์ด PKK ซึ่งถือเป็นองค์กรนอกกฎหมายตุรกี

ซึ่งหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริงในทุกข้อกล่าวหา เขาอาจโดนโทษจำคุกสูงสุดถึง 35 ปี

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ปี 2011 มีกลุ่มอำนาจใหม่คือจีน-รัสเซีย ขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าที่มีสหรัฐ-นาโต้ ในขณะเดียวกัน แอร์โดอานผู้นำตุรกีก็กำลังเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัสเซียเพื่อดุลอำนาจอเมริกา และคบกับศัตรูอเมริกาอย่างอิหร่าน

จริงอยู่ในอดีต ตุรกีเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ-นาโต้มายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่การที่ตุรกีเป็นผู้นำโลกมุสลิมต่อต้านนโยบายอเมริกาที่จะให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเป็นการตบหน้าผู้นำอเมริกาอย่างมาก

ดังนั้น สงครามการเงินระหว่างทั้งสองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองโลกที่สหรัฐอเมริกาต้องการสั่งสอนตุรกีและจะเป็นสงครามอุดมการณ์ระหว่างขบวนการเมืองอิสลามที่กำลังเติบโตทั่วโลกกับเสรีนิยม ทุนนิยมตะวันตก

แต่ผลร้ายหากกระทบเศรษฐกิจ การเมืองโลกก็จะกระทบสันติภาพโลกก็ถูกกระทบในที่สุดทั้งๆ ที่โลกพึ่งจะดีใจการญาติดีระหว่างอเมริกากับเกาหลีเหนือ

ดังนั้น พวกเราก็คงขอพรให้สงครามครั้งนี้จบโดยเร็วเพื่อสันติภาพโลกเช่นกัน