กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : ลับขวานสิ

ณห้องประชุมผู้บริหารระดับสูง องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งเดิม

โต้ง และ จอย สองหนุ่มสาวไฟแรง กำลังนำเสนอแนวคิด “ธุรกิจ” ใหม่

ต่อหน้าผู้บริหารรุ่นเก๋ากว่าสิบคน ของบริษัทแห่งนี้

ห้องประชุมที่มีบรรยากาศ ไม่เป็นมิตร อย่างที่หลายคนคงจะนึกออก

ห้องขนาดใหญ่ ดูโอ่อ่า เฟอร์นิเจอร์ชั้นดี แอร์เย็นๆ ไฟสลัวๆ

เก้าอี้ที่ดูใหญ่โตของผู้บริหาร แสดงถึง “ชนชั้น” อย่างภาคภูมิใจ

เรียงตัวกันเป็นรูปวงรี ขนาดใหญ่ เปิดส่วนหัวไว้ให้กับ “ผู้นำเสนอ”

มี “หัวโต๊ะ” ชัดเจนอีกฟาก บ่งบอกเป็นนัยว่า

ผู้ที่นั่งตรงนี้ มี “ตำแหน่ง” สูงที่สุดในวงสมาคมนี้

โต้ง และ จอย เพิ่งจะนำเสนอ “ธุรกิจใหม่” ให้กับบริษัทเสร็จไป

เป็นสิ่งที่บริษัทแห่งนี้ ยังไม่เคยทำมาก่อน

ผู้บริหารท่านหนึ่ง ยกมือถามคำถามเชยๆ

“มีบริษัทไหนเคยทำความคิดนี้สำเร็จแล้วหรือยัง”

โต้งตอบ “เราจะเป็นผู้นำคนแรกที่จะทำในเรื่องนี้ครับ โอกาสเปิดกว้างแล้ว”

ผู้บริหารอีกท่าน ถามต่อ “ถ้ามันดีจริง ทำไมถึงยังไม่มีใครทำล่ะ”

จอยตอบ “แนวคิดนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทางทีมงานระดมสมองกันมา จึงยังไม่มีใครทำค่ะ”

ผู้บริหารอีกท่าน กล่าวเสริม

“เราลองจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มาศึกษาให้รอบคอบดูก่อนมั้ย ถ้านำเสนอเข้าบอร์ดไปแบบนี้ ผมคิดว่า อาจจะโดนตีตก และดูไม่ดี”

โต้งกล่าวเสริม “ผมคิดว่า เราอาจจะค่อยๆ ทดลองทำไปก่อนโดยไม่ใช้เงินลงทุนมาก น่าจะได้เรียนรู้มากกว่าการไปจ้างที่ปรึกษาครับ”

ผู้บริหารท่านเดิมเสียงเริ่มแข็ง ท่าทางไม่พอใจ

“คุณเคยได้ยินมั้ย ถ้าจะต้องไปตัดต้นไม้ใหญ่ เราควรใช้เวลา 70% ในการลับขวานให้คมเสียก่อน พวกคุณยังเด็ก ไม่มีประสบการณ์ ยังขาดความรอบคอบ”

โต้งและจอย มองหน้ากัน สื่อด้วยสายตาโดยนัยว่า “แกคิดเหมือนฉันใช่มั้ย”

 

ผมได้มีโอกาสฟังบรรยายของ พี่บี๋ อริยะ พนมยงค์ MD ของ LINE Thailand

และเป็นอดีต MD ของ Google Thailand

สององค์กร ที่คงจะปฏิเสธยากว่ามีความเป็น “นวัตกรรม” สูงมาก

ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านแทบจะทุกคน ต้องใช้บริการของทั้งสองบริษัทนี้

วันหนึ่งๆ ก็คงคิดเป็นหน่วย “ชั่วโมง” ได้เลยทีเดียว

พี่บี๋เล่าให้ฟังว่า เรื่องของ “นวัตกรรม (Innovation)” นั้น

พูดให้สนุกนั้นง่าย แต่ทำจริงๆ นั้น “ยากมาก”

เหตุผลมีอยู่ “สองอย่าง”

 

ข้อแรก นวัตกรรม ไม่มี “ตัวอย่าง”

ถ้ามีตัวอย่าง ก็ไม่เรียก นวัตกรรม

ผู้บริหารหลายๆ ท่านชอบถามว่า

“เรื่องนี้ มีใครทำรึยัง”

คำถามนี้ เป็นคำถามที่ “เชย”

ถ้าองค์กรหนึ่ง คิดจะสร้าง “นวัตกรรม” แล้ว

แสดงว่า คุณเลือกที่จะเป็น “ผู้นำ”

ทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร ทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

การถามหา “ตัวอย่าง” จึงตรงข้ามกับการสร้าง “นวัตกรรม” ซึ่งต้องอาศัย “ความกล้าหาญ” อยู่ไม่น้อย

คุณต้องลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ในแบบที่ “ผู้นำ” ควรจะทำ

“มีใครทำหรือยัง”

ถ้ามีแล้ว จงอย่าทำ เพราะมันไม่ใช่ “นวัตกรรม”

ถ้ายังไม่มี และเห็นว่ามีโอกาสจะสำเร็จอยู่บ้าง

“จงรีบทำซะ”


ข้อสอง

การ “คิดการใหญ่” เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ถนัด

ที่บริษัท Google เขาจะมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “10X”

“คิดจะทำอะไรใหม่ทั้งที ต้องดีกว่าเดิม 10 เท่า”

บริษัทส่วนใหญ่ อยากจะสร้าง “นวัตกรรม”

แต่ก็ยังตั้งเป้าหมาย ให้มีผลงานดีขึ้น “10%”

อันนี้คือ “หลุมพราง” เลยก็ว่าได้

เวลาคนเราคิดจะทำอะไรดีขึ้นแค่ 10%

เราจะเริ่มจากสิ่งที่เราทำวันนี้

นำมาวิเคราะห์ว่า มีอะไรดี อะไรที่ยังปรับปรุงได้

แล้วค่อยๆ ลงมือแก้ไขกันไป

เพื่อที่จะปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น “10%”

หากแต่ว่า “การทำอะไรที่ติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ” นั้น

ดีขึ้น 10% ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

 

ทีนี้ลองใหม่

ตั้งโจทย์ ทำให้ผลงานปีหน้าดีขึ้น 10 เท่า ของปีนี้

ดู “บ้าบอ” จะไปทำได้อย่างไร

แต่ถ้าลอง “หัวหน้า” เอาจริง ซีเรียสกับสิ่งนี้

แน่นอนว่า “สิ่งที่ทำในปีหน้า จะต้องไม่เหมือนกับที่ทำในวันนี้ โดยสิ้นเชิง”

เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง “นวัตกรรม” ของทีมงาน

ที่จริงแล้ว การตั้งเป้า 10 เท่า ที่ดูจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้นั้น

อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เทคนิคขั้นเทพ” ในเชิงจิตวิทยา ให้ลูกน้อง “คิดนอกกรอบ” ออกไปจากสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อเริ่มที่จะ “คิดต่าง” ผลลัพธ์อาจจะเหนือความคาดหมาย

แม้จะไม่ได้ “สิบเท่า”

แต่หลายๆ ครั้ง ก็มากกว่า “สิบเปอร์เซ็นต์”

การตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ จึงไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่เพียงอย่างเดียว

แต่ยังช่วยผลักให้คนในองค์กร “คิดนอกกรอบ” อีกด้วย

 

หนึ่ง เลิกถามว่า “มีใครทำหรือยัง”

สอง คิดให้ใหญ่สิบเท่า

สองคำแนะนำจาก พี่บี๋ อริยะ ถึง “ผู้บริหารรุ่นเก๋า” ทั้งหลาย

พูดง่าย แต่ “ทำยาก”

สองคุณสมบัติ ที่จะแบ่งผู้บริหารออกเป็นสองพวก

พวกแรก ชอบ “พูดนวัตกรรม”

อีกกลุ่ม ชอบ “สร้างนวัตกรรม”

กลับมาที่ห้องประชุมบริษัทยักษ์ใหญ่

โต้ง และ จอย หันมามองหน้ากัน

หลังจากถูกสั่งสอน เรื่อง “การใช้เวลาในการลับขวานให้คม ก่อนลงมือตัดต้นไม้”

ทั้งสองเผลอพูดเปรยๆ ขึ้นมาเบาๆ จนผู้บริหารท่านหนึ่ง บอกว่า “พวกคุณพูดอะไรกัน”

โต้งจึงเดินไปที่ไมโครโฟน แล้วพูดว่า

“พวกเรากำลังนำเสนอให้สร้างเลื่อยไฟฟ้าครับ”

คำคมบางอย่าง ก็ใช้ได้ในบางสถานการณ์

ขวานที่คม หรือจะสู้ “เลื่อยไฟฟ้า”

จริงไหมครับ ท่านผู้บริหาร