คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : นวราตรีกับงานแห่วัดแขก พื้นที่ และเพศที่สาม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในบรรดางานเทศกาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในประเทศไทย งานซึ่งเป็นที่รู้จักและใหญ่ที่สุด (โดยเฉพาะในแง่คนเข้าร่วม) คืองานเทศกาลนวราตรีของวัดแขกสีลม หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า “งานแห่วัดแขก” (ปี 2559 มีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม) (ปี2561 มีวันที่ 19 ตุลาคม) ปี2565 มีวันที่ 5ตุลาคม

ที่จริงเทศกาลนวราตรี หรืองานบูชาพระแม่เก้าคืน (นว-เก้า, ราตรี-คืน) ในฤดูเก็บเกี่ยว ปฏิบัติในทุกศาสนสถานของศาสนาฮินดู เช่น วัดเทพมณเฑียร วัดวิษณุยานาวา คีตาอาศรม ฯลฯ เว้นก็แต่พระเทวสถานสำหรับพระนครหรือโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์ฝ่ายไทย และไม่มีพิธีนี้มาตั้งแต่โบราณแล้ว

พิธีนวราตรี ในภาคเหนือของอินเดียมีสองครั้งในรอบปี ครั้งที่หนึ่งอยู่ในราวเดือนเมษายน เรียกว่า วสันตียนวราตรีหรือนวราตรีในฤดูวสันต์ และศรทียนวราตรีหรือนวราตรีในฤดูศารท (ใบไม้ร่วง) ตกในราวตุลาคม

มิตรสหายชาวอินเดียบอกผมว่าทางภาคเหนือของอินเดียปลูกทั้งข้าวสาลีและข้าวเจ้า ข้าวสาลีเก็บเกี่ยวต้นปีจึงมีนวราตรีในต้นปี ส่วนอินเดียภาคใต้ซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้นเหมือนบ้านเรานิยมปลูกข้าวเจ้ามากกว่าจึงมีแต่นวราตรีในช่วงปลายปีครั้งเดียว

เทศกาลนวราตรี ประกอบด้วยกิจของศาสนิก คือการถือพรตอดอาหารหรือกินแต่ “ผลาหาร” คือพืชผักและไม่กินข้าวกับถั่ว “มีตา” คือเมล็ดถั่วที่เพาะได้ทุกชนิด สวดมนต์ภาวนา ส่วนกิจตามศาสนสถานก็จะมีพิธีบูชาพระเทวีปางต่างๆ พิธีบูชายัญและการแห่แหน

ภาคเหนือนิยมบูชาพระเทวี “นวทุรคา” หรือทุรคาเก้าปาง ส่วนภาคใต้จะนิยมบูชาพระเทวีทุรคา และอาจมีเทวีท้องถิ่น เช่น มีนากษี มาริอัมมา

วันสุดท้ายที่เรียกว่า วิชัยทศมี (ทศมี-ลำดับสิบ) ตามเทวตำนานคือวันฉลองชัยของพระแม่เจ้า บางที่เขาจะบูชายัญด้วยควายหรือแพะ และมีพิธีแห่แหนเจ้าแม่ไปรอบๆ

ผมจึงเข้าใจว่า ตำนานเจ้าแม่ฆ่าอสูรควาย (มหิษาสูร) ในปุราณะ สร้างขึ้นเพื่อเป็นคำอธิบายพิธีบูชายัญควายต่อเจ้าแม่

หมายความว่า การบูชายัญด้วยควายหรือ “คน” (คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ) มีมานานแล้วก่อนจะมีเทวตำนานเรื่องมหิษาสุรมรทินี คือเกณฑ์ให้ควายเป็นอสูรเสีย การฆ่าบูชายัญควายในพิธีจึงแทนที่ด้วยคำอธิบายเชิงเทวตำนาน

ปัจจุบันที่พราหมณ์ส่วนมากสมาทานมังสวิรัติแล้วนั้น เขาเลิกฆ่าสัตว์บูชา แล้วเอาฟักเขียวสมมุติว่าเป็นควายเป็นแพะ เอามีดบูชายัญฟันเข้าฉับ แล้วเอาผง “กุงกุม” ที่มีสีแดง (อันเดียวกับที่เขาใช้เจิม) ทาตรงรอยฟันนั้น สมมุติว่าเป็นเลือดตัวบูชายัญ

ในการแห่เจ้าแม่วันวิชัยทศมี ทางอินเดียใต้นอกจากมีขบวนแห่เทวรูปในวิมาน (รถยาตรา) แล้ว เขายังมี “คนทรง” ของวัดต่างๆ เข้าขบวนแห่ด้วย

วัดแขกสีลมบ้านเรามีสามคน คือ เจ้าแม่กาลี พระขันทกุมาร และพระมาริอัมมัน

คนทรงเหล่านี้จะแสดงการทรมานตน เช่น แทงปากด้วยของแหลม ทูนหม้อกลัศที่หนักมากๆ ถือหม้อดินบรรจุไฟ เป็นต้น

การทรมานตนนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “พิธีกรรม” ในการเชื่อมต่อตนเองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือแสดงว่าตนได้ยกจิตให้เหนือ “ตัวตน” จนไม่เจ็บไม่ปวดและแสดงกิริยาอาการที่ในเวลาปกติไม่สามารถทำได้

คือจะเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ต้องอยู่เหนือภาวะจำกัดของตนเองก่อน อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงจะเผยออกมาได้หรือเข้ามา “แทรกกลาง” ได้

มีผู้ถามผมว่า ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าศาสนาฮินดูไม่มีหรือไม่ยอมรับการทรงเจ้าเข้าผี เหตุใดวัดแขกถึงมี ผมก็ตอบง่ายๆ ว่า ที่จริง “นิกายเจ้าแม่” ซึ่งวัดแขกสีลมสังกัดนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ “ศาสนาผี” ในอินเดียก่อนที่ฮินดูจะเข้ามา (Pre-Hinduism)

พิธีกรรมของนิกายเจ้าแม่นั้นจึงมีอะไรที่เป็น “พื้นเมือง” มากๆ เช่น การเข้าทรง การทรมานตน

ลองสังเกตนะครับว่าเทพที่เข้าทรงในเทวสถานของอินเดียนั้น โดยมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นเทพพื้นเมือง เช่น เจ้าแม่ต่างๆ ที่อยู่ตามหมู่บ้าน ขันทกุมาร (ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองอินเดียใต้) พระศิวะก็ต้องเป็นโหมดพื้นเมืองอย่างไภรวะ แต่พระวิษณุ พระสุริยเทพ หรือเทพในพระเวทกลับไม่มีเลย

ก็เพราะเทพเหล่านี้โดยมากเป็นของพวกอารยันนะครับ ซึ่งมีระบบศาสนาอีกแบบหนึ่ง

เวลาคนทรงวัดแขกจะเข้าทรง พิธีกรรมส่วนนี้พราหมณ์จะเกี่ยวน้อยมาก แต่กรรมการและผู้รู้ซึ่งเป็นคนธรรมดาจะทำกันเอง เขาบอกว่า อันนี้เป็นประเพณีที่สืบมาแต่ปู่ย่าตายาย

อีกคำถามซึ่งผมมักโดนถามจากผู้ไปสังเกตการณ์ที่งานแห่วัดแขก คือเหตุใด งานนี้เจ้าของซุ้มต่างๆ ที่มาตั้งสักการะขบวนแห่ รวมทั้งคนไปงานจึงมี “เพศที่สาม” มากมายเหลือเกิน

ใครมีโอกาสลองไปเที่ยวชมซุ้มและโต๊ะสักการะนะครับ มีมากมายมหาศาลสารพัดรูปแบบ

ผมคิดว่า ความนิยมงานวัดแขกโดยเฉพาะในเพศที่สามนั้น หรือที่จริงความนิยมพิธีกรรมของศาสนาฮินดูในกลุ่มเพศที่สามเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใหญ่ๆ คือ

อย่างแรก มีผู้บอกผมว่าพิธีกรรมของศาสนาฮินดูเต็มไปด้วยสีสัน มีอุปกรณ์และเครื่องบูชามากมาย ซึ่งตรงกับความสนใจและความชอบของกลุ่มเพศที่สาม

เหตุผลนี้แม้ผมคิดว่าจะมีส่วนถูก แต่คงไม่ใช่สาเหตุใหญ่ที่สุด เพราะคนที่ไม่ใช่เพศที่สามแต่ชอบพิธีกรรมและสีสันก็มีมาก

ผมว่าสาเหตุใหญ่น่าจะมาจากการที่ศาสนาในไทยไม่ค่อยมี “พื้นที่” ของเพศหญิง มิไยต้องกล่าวถึงเพศที่สาม

ผู้ชายกลายเป็นศูนย์กลางของระบบศาสนา ไม่ว่าจะเป็นองค์แห่งการบูชา นักบวช ผู้นำ (แม้แต่พิธีกรรมของพราหมณ์ตามประเพณีไทยมีที่เกี่ยวกับผู้หญิงน้อยมาก)

แต่งานวัดแขก ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้าไปสร้าง “พื้นที่” ของตัวเองในด้านพิธีกรรม จะทำพิธี จะจัดตกแต่งซุ้มของตนอย่างไรก็ได้ และยังไม่รังเกียจอัตลักษณ์ทางเพศ เพศที่สามจึงแสดงออกและมีบทบาทได้มากกว่า

อัตลักษณ์ทางเพศของเพศที่สามและผู้หญิง จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงภาวะบางอย่างหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ไม่กลายเป็นบาปโทษหรือคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์

แม้ไม่อาจกลายเป็น “คนใน” อย่างพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีในเทวสถาน แต่ภายใต้ความอิสระของพื้นที่ที่ได้รับ เพศที่สามสามารถประกอบพิธีและเป็นผู้นำทางศาสนาภายในพื้นที่และชุมชนของตัวได้โดยไม่ต้องซ่อนเร้นอัตลักษณ์ทางเพศ

ซึ่งผมเข้าใจว่า ศาสนาอื่นๆ ในสังคมไทยให้พื้นที่นี้น้อยกว่ามาก

อีกทั้งงานนวราตรี องค์แห่งการบูชานั้นเป็น “เพศหญิง” นะครับ ผู้ชายแท้ๆ จึงเป็นได้แค่ผู้รับใช้ชั้นสุดท้าย

หากลองเข้าไปในวัดแขกสีลม จะเห็นครับว่า บรรดาบริวารของเจ้าแม่ทั้งหมดซึ่งปั้นอยู่ตามเสาและหลังคา ล้วนแต่เทวีและยักษิณี ไม่มีเทวะและยักษะปรากฏเลย

ในแง่นี้ เพศที่สามก็น่าจะเข้าใกล้ “เจ้าแม่” มากกว่าผู้ชายแท้ๆ ส่วนผู้หญิงนั้นย่อมศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะเป็นภาวะเดียวกับเจ้าแม่เอง

แต่ในทางหนึ่ง ฮินดูปัจจุบันก็เป็นศาสนาของผู้ชายไปแล้วล่ะครับ แม้ศาลเจ้าแม่พื้นบ้านในอินเดียโดยเฉพาะในภาคใต้ ผู้รับใช้ดูแลยังคงไม่ต้องเป็นพราหมณ์และมักเป็นผู้หญิง

ส่วนวัดแขกสีลมนั้นแม้จะเป็นเทวสถานของเจ้าแม่ แต่ก็มีความ “เป็นทางการ” คือมีความเป็นฮินดูที่มีระเบียบแบบแผนด้านพิธีกรรมสูง เช่นเดียวกับเทวสถาน “หลวง” ไม่ใช่ศาลระดับชาวบ้านอีกต่อไป ดังนั้น พื้นที่ภายในจึงกลายเป็นของผู้ชาย เช่น พราหมณ์เป็นผู้นำด้านการประกอบพิธี

จากแง่นี้ งานแห่วัดแขกจึงยังเป็นพื้นที่ด้านความเชื่อของสังคมไทยซึ่งยังไม่ “นิ่ง” จึงน่าเข้าไปศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง