‘หมอธี’ ยันร่างกฎคุมประพฤติเด็ก ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่มีนัยห้ามชุมนุมทางการเมือง เหตุมี ‘คำสั่งคสช.’กำกับแล้ว

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวกรณีที่ ศธ.เสนอแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ว่า เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 เป็นกฎที่มีมานานจำต้องปรับแก้กฎกระทรวงจากเดิมเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น โดยกฎกระทรวงที่ออกมาจะเป็นเกณฑ์กลาง ว่าเวลาเด็กทำผิดในลักษณะไหน จะลงโทษอย่างไร อีกทั้งกฎกระทรวงเดิม ไม่กำหนดและขยายความเพิ่มเติมให้ทันสมัย เช่น ข้อกำหนดที่ว่า นักเรียนนักศึกษาต้องไม่ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และไม่มีข้อห้ามครอบคลุมถึงรวมกลุ่มมั่วสุมของเด็กแว้น อย่างไรก็ตามต้องดูภาพรวม และตีความคำว่ามั่วสุมให้เข้าใจด้วย เช่น เด็กรวมกลุ่มกันเพื่อไปเรียนพิเศษแล้วรถติดกลับบ้านดึก ไม่ถือว่ามั่วสุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักเรียนและนักศึกษาบางส่วนกังวลว่า การแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับใหม่นี้ จะละเมิดสิทธิและจำกัดสิทธิไม่ให้นักศึกษาชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ไม่ละเมิดสิทธิ เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีสิทธิออกกฎกระทรวง ในการดูแลความประพฤตินักเรียนอยู่แล้ว และการแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับใหม่นี้จะดูเรื่องความประพฤติทั่วไป ไม่มีนัยทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้มี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน กำกับดูแลอยู่แล้ว

ด้าน นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รักษาการเเทนเลขาธิการ กช. ในฐานะโฆษกศธ.กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ศธ.ได้ปรับปรุงกฎกระทรวงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยเพิ่มเติมข้อความ ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน มีเจตนาห้ามเด็กยกพวกตีกัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท แล้วสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ทั้งนี้ต้องการป้องกันเยาวชนไม่ให้ไปมั่วสุมเสพยา และป้องกันเด็กแว้นนัดรวมตัวแข่งรถสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ไม่ได้มีเจตนาในการสกัดกั้นการชุมนุมของนักศึกษาในการทำกิจกรรม

“กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งครอบคลุมบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ดังนั้นถ้านักศึกษามหาวิทยาลัยรายใด มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้ อย่างไรก็ตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ แม้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขั้นต่อไปต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบพิจารณา และไม่สามารถบอกได้ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ จะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในวันไหน” นายชลำ กล่าว

นายชลำ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการดำเนินการเมื่อพบนักเรียนและนักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสม ตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา มีดังนี้ เมื่อ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) และศูนย์เสมารักษ์ ของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) พบนักเรียนนักศึกษากระทำความผิด จะเข้าไปทักทายและแสดงตนพร้อมบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมกับสอดส่อง ดูแลให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย พร้อมซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำและบันทึกข้อมูลและพฤติการณ์การกระทำ ให้คำปรึกษา แนะนำอบรมสั่งสอน และช่วยเหลือเบื้องต้น โดยแนวการทางดำเนินการของเจ้าหน้าที่เมื่อพบนักเรียนนักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสม คือ ปล่อยตัว, ปล่อยตัวทำหนังสือแจ้งสถานศึกษา, ให้นักเรียนนักศึกษารายงานตัวกับสถารศึกษา, นำนักเรียนนักศึกษามายังสำนักงานหรือแจ้งสถานศึกษา, นำส่งสถานศึกษา และนำสั่งผู้ปกครองและแจ้งสถานศึกษา

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน(ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว จะทำให้การดำเนินการป้องกันปัญหาด้านยาเสพติด และความรุนแรงในเด็กได้ดีขึ้น เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี วุฒิภาวะยังไม่สมบูรณ์จึงอาจตัดสินใจผิดพลาด หรือวิเคราะห์คาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น เด็กบางคนคิดว่าเขามีสิทธิในตัวของเขาเอง แต่ต้องให้ข้อมูลว่าแม้ว่าเด็กจะยินยอมพร้อมใจ แต่ยังมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ เช่น พรากผู้เยาว์ ทั้งนี้ยืนยันว่ากฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ละเมิดสิทธิเด็ก เพราะในกฎระบุถึงความพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น

นายธีร์ กล่าวต่อว่า กฎกระทรวงนี้ จะทำให้การดำเนินการดูเเลเด็กของ ฉก.ชน. สะดวกมากขึ้น เพราะกฎหมายเดิมไม่ครอบคลุมทุกสถานที่เเละทุกเวลา และเบื้องต้น ตนได้รับคำสั่งจาก นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้จัดอบรมนักจิตวิทยานักเรียนชั่วคราว โดยคัดเลือก นักวิชาการการศึกษา ศึกษานิเทศก์ เจ้าหน้าที่จากฉก.ชน. รวมกว่า 3,000 คน มาฝึกทักษะด้านจิตวิทยา ให้คำปรึกษาเเละดูเเลเด็ก เพื่อฝึกให้เด็กได้จัดการความขัดเเย้งในใจ เเละในสังคมด้วยสันติวิธี ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครู เสริมทักษะการใช้ชีวิต ปรับปรุงระบบสืบสวน สอบสวนให้เป็นระบบมากขึ้น ให้ความรู้ครูด้านเพศทางเลือก เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มเเผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนเเละนักศึกษา (พสน.) ให้มีความชัดเจนเเละรัดกุมมากยิ่งขึ้น

“อย่างไรก็ตาม หากต้องการขับเคลื่อนกฎกระทรวงดังกล่าวที่แก้ไขแล้วให้มีประสิทธิภาพ ควรมีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประจำใน ศธจ. มาควบคุมเรื่องนี้อย่างชัดเจนประมาณ 3-5 คน เพื่อให้มีการดำเนินการออกตรวจเป็นประจำ และมีกำลังเพียงพอในการคุมพื้นที่” นายธีร์ กล่าว