คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนจบ “จากรัฐบาลเปรมถึงชาติชาย”

ย่างเหยียบแผ่นดินของทวีปยุโรปครั้งแรกในชีวิตเมื่อมีเลข 3 นำหน้าอายุ และเป็นบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร “สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์” (2523) จากความเมตตาของอาจารย์คึกฤทธิ์ ให้เดินทางติดตามไปด้วย

ได้พบรู้จัก (อดีต) “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศนี้ยังต่างประเทศถึง 2 ท่าน คือ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 และ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต) ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของรัฐบาล “เปรม 1” ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” โดยเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา ถัดจาก (ป๋า) พล.อ.เปรมหลังจากท่านบอกว่า “ผมพอแล้ว- – ”

อันที่จริงถ้าไม่ได้ติดสอยห้อยตามอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านเป็น (อดีต) นายกรัฐมนตรีด้วยเช่นเดียวกันย่อมจะไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับผู้ยิ่งใหญ่ดังได้เอ่ยนามมาทั้ง 2 ท่าน

สำหรับ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ได้เฉียดเฉี่ยวพูดคุยกับท่านมาบ้างสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในปี พ.ศ.2518 ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดย “พรรคกิจสังคม” (18 เสียง) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เมื่อท่านอาจารย์เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน จนได้สัมผัสมือกับประธาน “เหมา เจ๋อ ตุง” จอมคนผู้ยิ่งใหญ่ (น้าชาติ) ซึ่งต้องร่วมทีมไปด้วยจึงมีบทบาทไม่น้อย

 

ทั้ง 3 ท่านเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) ด้วยภารกิจเกี่ยวกับเบื้องสูงยังเมืองโลซานน์ (Lausanne) ผู้ติดตามจึงต้องเพียงยืนรอตรงหน้าตำหนักที่ประทับ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ เมื่อเสร็จภารกิจสำคัญแล้วเจ้าหน้าที่ ข้าราชการของรัฐบาลไทยจัดให้มีอาหารว่าง ดื่มน้ำชา กาแฟยังโรงแรมสวยงามซึ่งไม่ห่างไกลจากอพาร์ตเมนต์มากเท่าไร

ลักษณะศิลปะ งานสถาปัตยกรรมสไตล์ของยุโรปคลาสสิค งดงามมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว ขณะเดียวกันทิวทัศน์เบื้องหน้านั้นเป็น “เทือกเขาแอลป์” (Alps) ขนาดใหญ่สวยงามที่สุดในยุโรป โดยบนยอดยังขาวโพลนด้วยหิมะตลอดปีที่ทอดเงาสะท้อนลงมาบนทะเลสาบสีใสยามบ่ายแก่ซึ่งยาวเหยียดพาดผ่านทุกเมือง จนไปสิ้นสุดยังทะเลสาบเจนีวา (Geneva) เนื่องจากว่าเมื่อผ่านเมืองไหนก็เรียกว่าทะเลสาบตามชื่อเมืองนั้น อันที่จริงน่าจะเป็นการสร้างเมืองริมทะเลสาบเสียมากกว่า

เป็นความภูมิใจเป็นอันมากตลอดมาแม้เมื่อยามสูงวัยที่ยังสามารถจำความหลังแต่ครั้งกระนั้นได้อย่างชัดเจนเกินกว่าการบันทึก ด้วยเวลาได้ผันผ่านจนยาวนานหลายทศวรรษ เรียกว่ามีโอกาสก็จะพูดคุยบอกเล่า มีพื้นที่จะเขียนเล่าความหลังอันเป็นความสุขปลาบปลื้มในหัวใจซึ่งคนใหญ่คนโตขนาด (อดีต) นายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ ประธานองคมนตรี ท่านได้ลุกจากที่นั่งของท่านเดินมานั่งข้างๆ และทักทายไต่ถามว่า “มายังไง มากับใคร?” (บางทีป๋าท่านอาจจะเบื่อเหล่าข้าราชการ นักการเมืองที่ห้อมล้อมท่านอยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้)

ซึ่งใครจะไปรู้ว่าในเวลาต่อมาจะได้เป็นผู้รับผิดชอบ จัดทำหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ของท่านจนสำเร็จเสร็จสรรพเมื่อได้มารู้จักมักคุ้นกับ (ท่านพี่หมง) พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (อดีต) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังจากท่านผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานปี

 

ก่อนจากกันครั้งนั้นยังเมืองโลซานน์ ท่านยังหันมากล่าวลาด้วยความสุภาพว่าท่านไปละนะ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นผมเป็นเด็กตัวเล็กๆ การกล่าวลาของป๋า อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ยินพร้อมๆ กับท่านอื่นๆ ด้วย เพราะได้เดินมาส่งท่านทั้งหมด จึงได้ถูกนำมาถ่ายทอดให้ใครต่อใครฟังอีกเป็นแรมเดือนระหว่างยังอยู่ในยุโรป เช่นที่ลอนดอน (London) จนถึงกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก (Copenhagen-Denmark) ทีเดียว พร้อมทั้งมาแถมท้ายยังเมืองไทยเมื่อได้อยู่กันพร้อมกับคนอื่นๆ

(ป๋า) พล.อ.เปรมพร้อมคณะ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชายได้ไปพักผ่อนยังบ้านริมทะเลสาบเจนีวาของน้าชาติ ซึ่งว่ากันว่าเป็นบ้านพักเมื่อครั้ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (อดีต) อธิบดีกรมตำรวจผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของคำขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ซึ่งเป็นพี่เขย ท่านใช้บ้านหลังนี้พักลี้ภัยการเมือง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำ “รัฐประหาร” (2500) และทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

คณะของ (ป๋า) พล.อ.เปรมเดินทางกลับเมืองไทย อาจารย์คึกฤทธิ์และลูกหาบได้รับเชิญไปเป็นแขกของบ้านหลังนี้ โดย (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงมื้อกลางวัน ท่านผู้หญิงเข้าครัวอบแอปเปิลเป็นของหวานเสิร์ฟพร้อมกาแฟ

 

ได้ขยับความสัมพันธ์เข้ามาใกล้กับน้าชาติมากขึ้นอีก ก่อนจะค่อนข้างสนิทชิดเชื้อขณะได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ รายวัน” ในปี พ.ศ.2529 ซึ่งอีกประมาณ 8 ปีต่อมาน้าชาติได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 เมื่อ พ.ศ.2531 เนื่องจากการงานได้เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสื่อต้องทำหน้าที่รายงานข่าวและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล เพียงแต่ว่าต้องมามีอันเป็นไป–ต้องลาจาก จาก “สยามรัฐ” ปี พ.ศ.2534–

รัฐบาลน้าชาติเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นรัฐบาลผสมโดยมีพรรค “ชาติไทย” เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพขณะนั้นค่อนข้างเดินเคียงคู่ไปด้วยกันได้ดีพอสมควร แม้จะไม่แนบแน่นมากมายอะไร แต่กลับไม่มีทีท่าว่าจะมีการ “รัฐประหาร” ทั้งๆ ที่ในรัฐบาลของน้าชาติจะมีรัฐมนตรี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “สายล่อฟ้า” อยู่คนสองคน

รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปได้สวย รัฐมนตรีส่วนใหญ่กำลังอิ่มเอมมีความสุข เศรษฐกิจค่อนข้างดีในขณะที่ทหารมองว่ารัฐบาลไม่มูมมามเกินไป

แต่ในที่สุด “กองทัพ” ซึ่งมีผู้นำเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นทุกเหล่าทัพก็ตัดสินใจ “ยึดอำนาจ” ด้วยการวางแผน “จับน้าชาติ” กับ “พล.อ.อาทิตย์” โดยเจ้าของพื้นที่คือ “ทหารอากาศ” ขณะที่น้าชาติกำลังจะเดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศซึ่งมี (บิ๊กเต้) พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศขณะนั้น (2534) บินกลับมาจากเกาหลียามดึกเพื่อวางแผนดำเนินการ ระหว่างน้าชาติจะนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เข้าเฝ้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งผู้นำทหารบอกว่าน้าชาติไม่รักษาคำพูด—

อาจารย์คึกฤทธิ์ในวัยเลข 8 นำหน้า มีสุขภาพไม่ค่อยดีสักเท่าไร หลังจากที่ได้เดินทางกลับมาจากไปผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจจากประเทศสหรัฐอเมริกา บทบาทด้านสื่อมวลชน เขียนคอลัมน์จึงเพลาๆ ลงไปมาก

 

ความจริงรัฐบาลน้าชาติ (2531-2534) ค่อนข้างโชคดีที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสื่อมวลชนด้วยความเป็นคนอารมณ์ดีไม่ว่าจะมีปัญหาหรือเรื่องราววุ่นๆ หนักๆ เข้ามาขนาดไหน สื่อจะพยายามไล่ต้อนซักถามอย่างไรจะมีคำพูดที่ติดปากว่า “No Problem” อย่างอารมณ์ดี ไม่มีปัญหา

ได้เข้าพบท่านอย่างเป็นกันเองยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อนำการ์ดกราบเรียนเชิญ “นายกรัฐมนตรี” ให้เดินทางไปเป็นเกียรติในงานครบรอบวันเกิดของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งนานๆ จะจัดงานครบรอบวันเกิดใหญ่ๆ สักครั้ง โดยบอกว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้มาเรียนเชิญท่านนายกฯ และอาจารย์จะไปในงานครั้งนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ท่านเดินไม่ไหวต้องนั่ง Wheel Chair ถึงยังไงน้าชาติไม่มีทางปฏิเสธแน่?

ร่วมงานกับ “สยามรัฐ” และค่อนข้างใกล้ชิดกับอาจารย์คึกฤทธิ์กว่า 20 ปี ได้เดินทางติดตามไปทั้งต่างประเทศ ในประเทศ ได้ความรู้รอบตัวต่างๆ ทั้งเรื่องการเมืองไทย และ ฯลฯ ซึ่งหาไม่ได้จากห้องเรียนและหนังสือ พอจะได้รู้จักอารมณ์และนิสัยใจคอท่านอยู่บ้าง

แต่จนแล้วจนรอดกลับเอาตัวไม่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนใกล้ชิดรอบตัวท่าน ซึ่งไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่ชอบพูดว่า “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น”

 

ศิษย์สนิทสนม ลูกน้องผู้ร่วมงานมักเปรียบเทียบว่าท่านเหมือนดวงอาทิตย์ อยู่ใกล้เกินไปก็ร้อนจนไหม้ ห่างมากไปก็จะหนาวสั่น นอกจากนั้นเวลาห่างไปนานหน่อยจะถูกคนรอบข้างท่านแอบ “แทงข้างหลัง” แม้กระทั่งอุบัติเหตุที่ทำให้ต้อง “เดินออกจากสยามรัฐ” ก็ล้วนแล้วแต่จากรายงานข่าวหลายๆ ทาง ซึ่งล้วนรู้ไม่จริงทั้งสิ้น แต่ไม่คิดว่าเป็นความผิดของใคร เพียงแต่เป็นความพลาดเรื่องการ “เว้นระยะห่าง” เกินไปของตัวเราเอง

จำได้ว่าอาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางไปถึงโรงแรมที่เป็นสถานที่จัดงานวันเกิด “สยามรัฐครั้งใหญ่” ท่านเดินไม่ได้ เมื่อลงจากรถ เลขาฯ ส่วนตัวของท่านลืมเอา Wheel Chair มาด้วย ท่านจึงถามหา เขาตอบว่า “บรรณาธิการบอกว่าที่งานมีเอาไว้ให้–“?

วันที่ตำรวจบุกบ้านซอยสวนพลูของท่าน (2518) และท่านเดินทางไปสถานีตำรวจทุ่งมหาเมฆ แล้วต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล กว่าจะกลับเข้าบ้านก็รุ่งสาง ยังมีอารมณ์ถามว่า “มีแก้วเหลือชงกาแฟให้กินสักถ้วยไหม?”

แต่ก่อนหน้านั้นผมเองเดินสำรวจความพินาศของบ้านผ่านเข้าไปใต้ถุนเรือนไทย จ่าตำรวจที่เฝ้าประตูหน้าบ้านเข้ามาคว้าข้อมือจะจับกุม ถามว่า “–จะมาขโมยอะไร?”

คนรอบตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ คุณภาพ “ไม่เต็มแก้ว” รวมทั้งตัวเราเองด้วยเช่นเดียวกัน?