มาดู เกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นไทยให้ถูกต้อง

Union กับ lotion

อย่าเพิ่งแปลกใจว่าทำไมคอลัมน์ “มองไทยใหม่” จึงเอ่ยถึงคำภาษาอังกฤษ ๒ คำนี้ ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะอยากจะวิเคราะห์ว่า คำ ๒ คำนี้ควรจะเขียนด้วยอักษรไทยว่าอย่างไร

หากอ่านตามแบบอักขรวิธีไทย “ion” ในคำทั้งสองนี้ก็น่าจะออกเสียงเหมือนกัน แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนี้ไม่ เพราะอักขรวิธีภาษาอังกฤษกับอักขรวิธีภาษาไทยนั้นมีหลักเกณฑ์ต่างกัน (“อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ” ใน มติชนสุดสัปดาห์ เมษายน ๑๓-๒๗, ๒๕๖๑)

หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๓๒ มีตารางเทียบเสียงสระไว้ดังนี้

สระ ใช้ ตัวอย่าง

ตารางนี้เพียงแต่บอกว่า ion อ่านได้ ๒ แบบ แต่คำใดจะเป็นแบบใดนั้นต้องตรวจสอบพจนานุกรมภาษาอังกฤษก่อน เรื่องนี้คอลัมน์ “มองไทยใหม่” เคยให้คำอธิบายไว้แล้วว่า

“สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษก็คือ ตัวอักษรพิเศษที่เขียนไว้หลังคำศัพท์ ใช้แสดงเสียงอ่านแบบหนึ่งต่อหนึ่งโดยไม่กำกวม ซึ่งพจนานุกรมแต่ละฉบับก็จะมีคำชี้แจงและให้ตัวอย่างไว้อย่างง่ายๆ ว่า สัญลักษณ์ใดใช้แสดงเสียงอะไร”

ตัวอักษรพิเศษข้างต้นนี้เรียกว่าสัทอักษร (phonetic alphabet) เมื่อตรวจสอบวิธีการออกเสียงตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสถานแล้ว ก็จะได้ผลว่า lotion ถอดตามเสียงอย่างใกล้เคียงได้ว่า [โลเชิน] union ถอดตามเสียงอย่างใกล้เคียงได้ว่า [ยูเนียน] แต่เนื่องจากตารางเทียบเสียงในหลักเกณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๒ ใช้อักษรโรมัน มิได้ใช้สัทอักษร lotion จึงถอดเป็น โลชัน คำที่เก็บไว้ในพจนานุกรมจึงเขียนเช่นนั้น ตารางต่อไปนี้เปรียบเทียบให้เห็นวิธีการเขียนที่ใช้หลักต่างกัน (ดูตาราง)

คำเหล่านี้แม้จะไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ แต่คนไทยก็มักจะอ่านหรือออกเสียงโดยมีเสียงวรรณยุกต์กำกับมาให้ด้วย เพราะอิทธิพลของภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาวรรณยุกต์

อย่างไรก็ตาม การออกเสียงวรรณยุกต์นั้นก็มักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและบุคคล เช่น นิวยอร์ก (New York) บางคนก็อ่านว่า [นิวย้อก] บางคนก็อ่านว่า [นิวหยอก] ซึ่งสอดคล้องกับที่ ราชบัณฑิตยสถานได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ว่า

“ราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว”

จะเห็นได้ว่าในตัวอย่างข้างต้นมีเพียง แฟชั่น คำเดียวที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ แสดงว่าคำนี้ได้กลายมาเป็นคำไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกับคำว่า พ่าห์ สนเท่ห์ เสน่หา เสน่ห์ ที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต

คำจากภาษาอังกฤษที่เข้ามาสู่ภาษาไทยนั้นมีมากกว่าที่เก็บไว้ในพจนานุกรม คำอื่นๆ ในลักษณะเดียวกับ lotion จึงเขียนกันไปต่างๆ นานา

ตารางต่อไปนี้เปรียบเทียบให้เห็นรูปการเขียนในภาษาไทยแบบต่างๆ กัน เทียบกับการเขียนแบบใกล้เคียงกับเสียงภาษาเดิม

คําที่เขียนแบบมีรูปวรรณยุกต์กำกับนั้นเป็นการเขียนตามเสียงที่ผู้เขียนนิยม

กล่าวคือ พยางค์ท้ายที่เป็นคำเป็นมักจะออกเป็นเสียงโท [ชัน] จึงกลายเป็น [ชั่น]

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในยุคที่เสียงภาษาอังกฤษไม่ใช่สิ่งลึกลับดังในปัจจุบันนี้ ผู้ใช้ภาษาส่วนหนึ่งก็คงจะยอมรับแล้วว่ารูปการเขียนใดใกล้เคียงกับเสียงภาษาเดิมมากที่สุด

แต่ก็ยังคงเขียนตามแบบเดิมต่อไปด้วยความเคยชิน

เพราะบางคำก็ติดอยู่ในภาษาแล้ว