ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 10-16 สิงหาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งกัมพูชาถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เลือกตั้งระดับท้องถิ่น เมื่อ 4 มิถุนายน 2560

และการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 29 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

นำมาสู่บทความพิเศษ “ข้อสังเกต การสังเกตการณ์การเลือกตั้งกัมพูชา 2018”

น่าสนใจยิ่ง

น่าสนใจเช่นเดียวกับทัศนะของนายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย

ที่ได้แสดงความเห็นต่อการเลือกตั้งกัมพูชา ผ่านการสัมภาษณ์ของ “ชนัดดา ชินะโยธิน”

แน่นอน เป็น “มุมมองที่แตกต่าง”

ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลการเลือกตั้งกัมพูชารอบด้านขึ้น

 

แน่นอนการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของประชาธิปไตย

แต่การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและเสรี คือก้าวย่างสำคัญของประชาธิปไตย

อย่าเพิ่งประณามแต่เฉพาะกัมพูชาเลย

“ไทย” เราก็ยังไม่ไปถึงไหน

ผ่านมา 4 ปี

แม้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

แต่มาจากการแต่งตั้ง

ไม่ได้ “ผูกพัน” กับประชาชน

มีประเด็นที่เป็นคำถามต่อบทบาทของ สนช. หลายประเด็น

ซึ่งจดหมายจาก “ไอลอว์” จะช่วยถามคำถามนั้น

ในวาระ 4 ปี สนช.

 

สนช.

เปิดประชุมนัดแรกในเดือนสิงหาคม 2557

ผลงานที่โดดเด่นของ สนช.

คือผลิตกฎหมายได้ปริมาณมาก

นับถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เห็นชอบกฎหมายไปอย่างน้อย 298 ฉบับ

เฉลี่ยเดือนละห้าฉบับ

แต่กฎหมายที่ออกมา ล้วนตอบสนองความต้องการของ คสช.

มีเป้าหมายช่วยให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ

สามารถแบ่งเป้าหมายในการออกกฎหมายของ สนช. เป็นสามอย่าง

หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ

สอง ยื้อการเลือกตั้งต่ออายุให้กับรัฐบาล คสช. เช่น การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

และสาม ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง เช่น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ

 

มีร่าง พ.ร.บ. จำนวนหนึ่งที่ สนช. ยังคงเตะถ่วงไม่รีบพิจารณาให้เสร็จ

โดยมีข้อสังเกตว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ในสภา

เช่น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ใช้เวลาพิจารณามากกว่าหนึ่งปีสามเดือนแล้ว

ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะผ่านความเห็นชอบเมื่อไร

มีกระแสข่าวมาตลอดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะไม่ผ่านในยุคนี้

หรือถ้าผ่าน ก็คงถูกแก้ไขจนไม่สามารถใช้งานได้จริง

นั่นเพราะสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ถือครองที่ดินจำนวนมาก

จึงอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้

และมีข่าวที่สมาชิก สนช. สายธุรกิจร่วมยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายดังกล่าวด้วยตัวเอง

 

บทบาทสำคัญของ สนช. อีกหนึ่งอย่างคือ การเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ

สี่ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ลงมติเห็นชอบตำแหน่งสำคัญๆ อย่างน้อย 13 องค์กร

เห็นชอบ 60 ตำแหน่ง ไม่เห็นชอบ 19 ตำแหน่ง

ผู้ได้รับความเห็นชอบจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิก สนช. เช่น ดิสทัต โหตระกิตย์ ถูกแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

หรือ พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ถูกแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุด

อีกทั้งบางคนก็เป็นคนใกล้ชิดกับคนใน คสช. เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.

ดังนั้น สนช. จึงกลายเป็นตัวแทนของผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มาทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ

นอกจากนี้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง กรรมการองค์กรอิสระต่างๆ สามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวข้ามรัฐบาล

ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายจับตากฎหมาย

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์

 

ข้อสังเกตของไอลอว์นี้

เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ไปถึงการเลือกตั้งของไทยที่จะมีขึ้นแน่นอน

ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การ “ไม่ยอมรับ” การเลือกตั้งของไทยหรือไม่