มนัส สัตยารักษ์ : กลัวแม่ด่า

มังคุดจาก “บ้านป่าฝน” ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช กับการถ่ายทอดสดสัมภาษณ์ “13 หมูป่าอะคาเดมี่” จังหวัดเชียงราย ประจวบเหมาะเข้ามาสู่ผมพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย ทั้งสองกรณีในปัจจุบันกาล ทำให้ผมหวนนึกย้อนไปถึงอดีต ปี พ.ศ. 2484 ครั้งหลบภัยทหารญี่ปุ่นไปอยู่ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

มังคุดไร้สารกล่องใหญ่ที่เพื่อนนักอ่าน-นักเขียนแห่งลานสกาส่งมาให้ผมอิ่มใจสบายท้องไปหลายวัน ทำให้ผมนึกถึงวันที่ได้พบ “ขุมทรัพย์” ต้นมังคุดเล็ก ๆ กลางป่าละเมาะที่ตำบลควนลังในปี 2484

กาละและเทศะที่ห่างไกลกัน (2561 กับ 2484 = 77 ปี และ เชียงราย กับ สงขลา) เหตุใดจึงประดังเข้ามาในความคิดของผมพร้อมกัน และต่างก็นึกถึง แม่ เหมือนกัน?

ถ้ายังงงกับรำพึงรำพันข้างต้น ก็ขอความกรุณาอ่านต่อไปแล้วจะเข้าใจเอง

เด็กในเมืองได้ไปอยู่ในป่ายาง กลางดงมะพร้าวและท้องทุ่งที่มีละเมาะเบญจพันธุ์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ บางมุมมีคลองน้ำใสไหลผ่านร่มรื่น ให้ความรู้สึกดิบราวกับอยู่ในโลกดึกดำบรรพ์นั้นเท่ากับเป็นการได้เปลี่ยนบรรยากาศ หรือเหมือนได้ไปท่องเที่ยวแปลกถิ่น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการผจญภัยแม้แต่น้อย

เทียบไม่ได้กับการ “ติดถ้ำ” ในความมืดถึง18 วันของ 13 หมูป่า

ถ้ำแคบ หินแหลมคม น้ำขุ่นคลั่กและเย็นจัด ฝนกระหน่ำจนระดับน้ำสูงขึ้น ไม่มีอาหาร และอ็อกซิเจนที่จำเป็นสำหรับการหายใจก็ลดน้อยลง กลายเป็นสถานการณ์ที่ อาสา “นานาชาติ” ต้องแข่งกับเวลาเพื่อช่วยให้ทั้ง 13 ชีวิตรอดปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บางเรื่องราวของ “ควนลัง” ในส่วนของผม (5-6 ขวบ) ยังแจ่มชัดอยู่ในมโนภาพ

มีภาพที่น่าตื่นเต้นเหมือนกับการผจญภัยอยู่เหมือนกัน

เช่น ภาพที่ญาติผู้น้องวัยเดียวกับผมจมน้ำในคลอง ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งลงไปช่วยฉุดขึ้นมาได้ทัน

อีกภาพหนึ่งเป็นความรู้สึกสูญเสียจนร้องไห้โฮอกมาเมื่อผมถูกหนุ่มนายหนึ่งเต้าข่าวว่าญาติของผมเสียชีวิตจากระเบิดที่เมืองสงขลา แม้ต่อมาจะรู้ว่าเป็นเรื่องล้อเล่น แต่เป็นเรื่องโหดร้ายที่เด็กจดจำ และสุดท้ายเป็นเรื่องระทึกชวนตื่นเต้น เมื่อพี่ชายถูกงูพิษกัดนิ้วมือแล้วสั่งห้ามไม่ให้ผมบอกแม่

1.สดุดีจ่าแซม 2.แถลงปิดภารกิจ 3.ปิดถ้ำฟื้นฟู 4.ลำเลียงหมูป่า

แต่เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นเรื่องดี… เราได้เรียนรู้ธรรมชาติที่ไม่มีในเมือง ได้ไปทำบุญในมัสยิดอิสลาม และผมได้แอบพบต้นมังคุดเป็นขุมทรัพย์ส่วนตัว

บทสรุปของชีวิตในช่วง “ควนลัง” เป็นเรื่องแฮ็ปปี้เอนดิ้ง

กลับมาสู่กาลเวลาในปัจจุบัน…

เปิดทีวีถ่ายทอดสด สุทธิชัย หยุ่น สัมภาษณ์หมูป่า 13 คนพร้เอมทีมงานบางส่วนที่เข้าไปช่วยเหลือและอยู่เป็นเพื่อนถึงในถ้ำ เช่น พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน กับหน่วยซีลแห่งราชนาวีไทย 3 ท่าน และคุณหมอของโรงพยาบาลเชียงรายประชาสรรค์ 2 ท่าน ที่ดูแลสุขภาพและจิตใจของ 13 ลูกหมูป่าหลังออกจากถ้ำแล้ว

ผมไม่ได้สนใจจดจำว่าเป็นทีวีช่องไหนและอยู่ในรายการอะไร พยายามทุ่มเทสมาธิคอยฟังเนื้อหาและรายละเอียดของการสัมภาษณ์ รู้สึกพอใจที่มีภาพและเสียงหัวเราะตลอดรายการ จากทุกคน แทบจะทุกคำถามและทุกคำตอบ

มีคำถามหนึ่งที่สุทธิชัยชวนคุยแบบเจาะใจ ถามทำนองว่า รู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงอะไรที่ตัวเองมาติดถ้ำอยู่อย่างนี้ เช่นกลัวจะทำการบ้านไม่ทันหรืออะไรทำนองนี้

แทบทุกคนตอบคล้าย ๆ กันว่า “กลัวแม่ด่า”

ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงอดีตที่ควนลัง วันที่พี่ชายถูกงูกัดนิ้วมือ พี่ชายให้เด็กชาวบ้านแถวนั้นตักน้ำมาราดมือดับพิษร้อนพร้อมกันนั้นก็กำชับเชิงขู่ไม่ให้ผมบอกแม่ พี่เขาคงกลัวแม่ด่าที่ซุกซนนั่นเอง

ผมก็กลัวแม่ด่าเหมือนกัน แต่กลัวพี่ตายมากกว่า จึงวิ่งไปบอกแม่โดยไม่สนใจคำขู่

ในวัย 50 ผมขับรถพลิกคว่ำที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร กระดูกคอแตกหัก 3 ข้อ หมอจังหวัดสุราษฎร์ธานีโกนหัวเจาะกะโหลกตรงขมับเพื่อแขวนลูกตุ้มเหล็กดึงถ่วงหัวไว้ไม่ให้คอย่น ผมตัดสินใจให้เขาส่งกลับไปหาดใหญ่จะได้อยู่ใกล้แม่

แต่แล้วกลับเป็นฝ่ายต้องปลอบใจแม่ว่า “ไม่เป็นเไร แม่” อยู่ 2 หรือ 3 ครั้ง เมื่อแม่ทำท่าเหมือนหัวใจจะสลาย

และเมื่อถึงวันที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดเอากระดูกตะโพกมาแทนกระดูกคอ ผมซึ่งเขาห้องผ่าตัดเป็นคนแรกถูกเข็นออกมาเป็นคนที่ 3 ลองนึกดูเถิดว่าระหว่างที่รอนั้นแม่หัวใจสลายไปแล้วกี่หน พอผมเห็นหน้าซีดเผือดของแม่ ก็ได้แต่พูดว่า “ไม่เป็นเไร แม่” อยู่นั่นเอง

การที่หมูป่าตอบคำถามของสุทธิชัยไปทำนองเดียวกันว่า “กลัวแม่ด่า” นั้น แม้ไม่ใช่ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็อธิบายได้ว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ถ้าพวกเขาตอบในขณะที่ยังไม่ได้ออกมาจากถ้ำ คงไม่มีเสียงหัวเราะหัวใคร่อย่างที่เห็นหรอกครับ… เราทุกคนที่เกิดมาได้สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้เป็นแม่มากพออยู่แล้ว จิตใจของเราทั้งโดยสามัญสำนึกและใต้สำนึกต่างตระหนักดี เราไม่อยากทำอะไรให้แม่ด่าอีก

ถ้าไม่นับความสูญเสีย “จ่าแซม” หรือ น.ต.สมาน กุนัน “วิกฤคิถ้ำหลวง” ก็เท่ากับไทยเราได้อะไรคืนมามากมาย

รู้สึกว่าประเทศของเราเป็นที่รักของนานาชาติ ไอ้ที่เขาค่อนขอดกระแนะกระแหนนั้นเป็นนักการเมืองไทยต่างหาก ไม่ใช่ประเทศไทย

อดปลื้มแทนคนไทยทั้งชาติไมได้ เมื่อมีข่าวจากผู้นำประเทศออสเตรเลียและอังกฤษให้เกียรติและให้เครื่องราชแก่วีรบุรุษของเขาที่เข้ามาช่วยประเทศของเราโดยไม่หวังผลตอบแทน

รู้สึกมีความสุขเหมือนได้เห็นและได้ฟังเพลงชาติไทยในกีฬาโอลิมปิด

ขอขอบคุณทุกท่านในรายการสัมภาษณ์ ที่มีอารมณ์ขัน ทำให้บทสรุปของ”ถ้ำหลวง” เป็นบทจบที่สวยงาม

แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีสื่อโซเชี่ยลตำหนิและค่อนขอดบ้างก็ตาม ก็พอจะเข้าใจได้ว่าพวกเขาเป็นคนประเภทที่เอาใจยากและชอบจับผิด อาจจะเพราะเข้าใจว่า คสช.เป็นผู้จัดรายการแบบ เดินหน้าประเทศไทย พวกเขามองว่าสุทธิชัยเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เป็นนักวิเคราะห์ข่าว ไม่ใช่นักข่าว และไม่ใช่นักสัมภาษณ์

มีโพสต์ตำหนิในเฟซว่าสุทธิชัยใช้คำถามรุกเร้าเด็กเกินไป ตามสไคล์เดิมที่เคยชินจนเป็นบุคคลิกประจำตัว คือ”ต้อน” ผู้มาให้สัมภาษณ์ ผู้ตำหนิไม่สนใจเสียงหัวเราะ

พฤติกรรมจากตรรกะเบี้ยว ๆ ประเภทนี้ของสื่อโซเชี่ยล เหมือนมีเม็ดทรายในรองเท้า มันก็แค่เจ็บเล็ก ๆ รำคาญหน่อย ๆ เมื่อก้าวเดิน… เราไม่อยากทนก็เพียงแต่หยุดเดิน ถอดรองเท้าแล้วหยิบเม็ดทรายทิ้งไป