“เวียตเจ็ท” รับเครื่องใหม่ครึ่งปีหลัง เสริมฝูงบินเพิ่มรายได้

“เวียตเจ็ท” เร่งรับมอบเครื่องบินใหม่เสริมฝูงบินอีก 13 ลำในครึ่งปีหลัง พร้อมทำสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินใหม่แบบบิ๊กลอตทั้งจากแอร์บัส-โบอิ้งอีก 150 ลำ รวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แจงผลประกอบการครึ่งแรกปี”61 ตุนรายได้ไปแล้วกว่า 56% ของเป้าหมายรวมทั้งปี

รายงานข่าวจากสายการบินเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ตามแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2561 นี้ สายการบินเวียตเจ็ทมีแผนจะรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 17 ลำ โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา รับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321 แล้ว จำนวน 4 ลำ ที่เหลืออีกจำนวน 13 ลำ มีแผนจะรับมอบทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เวียตเจ็ทมีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีก จากการรับมอบเครื่องบินใหม่ตามลำดับ

และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการอัพเกรดบริการให้ทันสมัย ลดการใช้พลังงานตามแผนการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการบินในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก สายการบินยังได้ทำสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินใหม่อีก 150 ลำ รวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX จำนวน 100 ลำ มูลค่ารวม 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A321 Neo จำนวน 50 ลำ รวมมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในงาน Farnborough Airshow กรุงลอนดอน เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“การใช้เครื่องบินรุ่นใหม่จะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 15% รวมถึงการใช้โปรแกรมการบริหารจัดการประสิทธิภาพและการขยายเครือข่ายการบินระหว่างประเทศ ทำให้เวียตเจ็ทสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายบัตรโดยสารในสกุลเงินต่างประเทศ เพิ่มรายได้จากธุรกิจเสริม และลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงด้วย”

รายงานข่าวยังเปิดเผยถึงผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมาด้วยว่า สายการบินเวียตเจ็ทมีรายได้จากการขนส่งทางอากาศ 8,588 พันล้านด่อง หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 52.05% โดยมีกำไรก่อนหักภาษีจากการขนส่งทางอากาศกว่า 950 พันล้านด่อง หรือ 1,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 43.7% โดยมีรายได้จากธุรกิจเสริมเพิ่มขึ้น 24% หรือราว 540 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้โดยสารในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 28% จากปีที่ผ่านมา โดยเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.7% และเป็นผู้โดยสารต่างประเทศอีก 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 96% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากสายการบินมีการบริหารจัดการราคาขายให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

“การขนส่งทางอากาศในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมากกว่า 52% ส่งผลต่อการดำเนินงานมากกว่า 43% ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 82.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ไปที่ 88.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทว่ามีความมั่นคง แม้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น โดยผ่านการบริหารอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร การประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน และการเพิ่มรายได้เสริม”

จากตัวเลขดังกล่าวนี้ส่งผลให้รายได้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 16,478 พันล้านด่อง หรือประมาณ 23,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.6% และมีกำไรจากธุรกิจการขนส่งทางอากาศอยู่ที่ 1,686 พันล้านด่อง หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และคิดเป็น 56.2% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปี 2561 จึงมั่นใจว่าสายการบินจะสามารถดำเนินงานได้ทะลุเป้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแผนอย่างแน่นอน