เส้นทางสู่อำนาจ : วิถีแห่งรัฐประหาร “จอมพล ป. vs ประชาธิปัตย์”

มุกดา สุวรรณชาติ

น้ำผึ้ง เริ่มขม ประชาธิปัตย์ ทหาร

หากประเมินผ่านหนังสือของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอมอบอำนาจของคณะทหารแก่รัฐบาล” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2490

ตามมาด้วยคำมั่นสัญญา 5 ประการจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รวมทั้งคำปฏิญาณอันจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำคณะรัฐประหารเปล่งพร้อมกันเมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2490

“ภายใต้เดชะพระบารมี ต่อหน้าเทพเจ้าทั้งหลายผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ คือ มีพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมืองและเทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ทุกสถาน รวมทั้งเทวราชผู้อภิบาลมหานพเศวตฉัตร ข้าพเจ้า (ออกชื่อ) ขอให้วาจาสัตย์ว่า

ในการทำรัฐประหารครั้งนี้ข้าพเจ้ากระทำด้วยเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทะนุบำรุงประเทศชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้ากระทำเพื่อขจัดความทุกข์เข็ญให้ประเทศชาติร่มเย็นและก้าวขึ้นสู่ความเป็นอารยะ มิได้มักใหญ่ใฝ่สูงในส่วนตัวด้วยประการใดๆ

ข้าพเจ้าจึงขอตั้งปณิธานยึดมั่นในใจว่า

จะรักษาเกียรติวินัยอันดีงามด้วยความกล้าหาญ จะเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ รักษาความสามัคคีของหมู่คณะ ไม่ทรยศริษยาต่อผู้ประกอบคุณงามความดี ข้าพเจ้ายึดมั่นในสัจวาจานี้ด้วยดวงจิตอันแน่วแน่ทุกลมหายใจตราบจนชีพสลาย”

น่าจะสร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงให้กับรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์+

เดินหน้า รุกไล่
เปิดแผน มหาชนรัฐ

แม้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2491 นายควง อภัยวงศ์ จะลาออกและจัดการเลือกตั้งเพื่อแสวงหาความชอบธรรมมาเป็นฐานทางการเมืองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลตามมติของสภาผู้แทนราษฎรอีกในวันที่ 21 กุมภาพันธ์

โดยภาพที่ปรากฏต่อสังคม ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับคณะทหารในการรุกไล่กลุ่มของนายปรดี พนมยงค์ ดำเนินไปด้วยความเข้มข้น

บทความของ “แมลงหวี่” เบื้องหลังประวัติศาสตร์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็คึกคักอย่างยิ่ง

คึกคักจากบทที่ 1 ว่าด้วยการปฏิวัติแบบปาฏิหาริย์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน บทที่ 2 ว่าด้วยรัฐบาลอุบัติเหตุ ตอนที่ 1 รัฐบาลดีที่สุด ต้องประกอบด้วยบุคคลที่ไม่อยากเป็นรัฐบาล” ตอนที่ 2 นักการเมืองคนใดตายเพื่ออุดมคติ นักการเมืองคนนั้นไม่มีวันตาย ตอนที่ 3 ว่าด้วยการรับรอง “วิทยฐานะ” รัฐบาลไทย

ตอนที่ 4 โอ้ เจ้าแม่ประชาธิปไตย กรรมอันใดหนอ คนพาลจึงอาศัยนามของเจ้า ประกอบทุศีลกรรมอยู่เสมอ ตอนที่ 5 หมอดูจ้า แม่นๆ

กระหน่ำเข้าใส่การค้นพบ “คลังอาวุธ” มหึมาที่บ้านนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

“ประกอบด้วยสรรพาวุธเครื่องสังหารอย่างร้ายแรงที่สุด รวมชนิดและจำนวนเท่าที่ทราบในขณะนี้คือ ปืนกล 17 กระบอก ปืนยิงรถถัง 1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน ปืนกลเบรน ปืนหลังม้าประมาณ 30 กระบอก

ปืนยิงเงียบแบบอเมริกัน เครื่องพ่นไฟ ดินระเบิด ลูกระเบิดควัน ลูกระเบิดขว้าง ลูกระเบิดยิง ลูกกระสุนปืนยาวประมาณ 300 หีบ กระสุนปืนสำหรับยิงบนเครื่องบิน 22 หีบ กระสุนปืนยิงเร็วเป็นจำนวนมาก ลูกระเบิดสำหรับเครื่องบินประมาณ 50 ลูก รวมทั้งแท่นและเครื่องมือทำอาวุธปืน

ทั้งหมดนี้เป็นจำนวนอาวุธพอตั้งกองทัพน้อยได้กองหนึ่ง

ในการจับกุมบริวารของนายทองอินทร์ประมาณ 21 คน ฐานสงสัยว่าจะมั่วสุมกันคิดก่อการร้าย ปรากฏว่ามีคนต่างด้าวรวมอยู่ด้วย 3 คน”

นี่ย่อมโยงไปยังสิ่งที่ “แมลงหวี่” ฟันธง

“การค้นได้คลังอาวุธที่บ้านนายทองอินทร์ในคืนวันที่ 2 ธันวาคมนี้ได้บังเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายนเพียง 2 วัน คงไม่มีใครลืมวันที่ 30 พฤศจิกายนนั้นเสียได้เพราะมันเป็นวันโลกาวินาศซึ่งชนกลุ่มหนึ่งได้วางแผนการที่จะทำการปฏิวัติสังหารพระราชวงศ์จักรีและตั้งระบอบมหาชนรัฐขึ้นในเมืองไทย”

เหมือนกับว่าทั้งรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ และคณะรัฐประหารยัง “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” กันด้วยความหวานชื่น

 

สัญญาณ ขัดแย้ง
ต้นปี 2491

หนังสือ “พลิกแผ่นดิน” ของประจวบ อัมพะเศวต ระบุว่า เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป นายควง อภัยวงศ์ ได้จัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะรัฐประหารก็เริ่มเผยแสดง

พลันที่รัฐบาลเสนอนโยบายจะปรับปรุงกิจการทหารให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือจัดให้กำลังทหารทั้งหมดเป็นส่วนของชาติอย่างแท้จริง ไม่ให้ทหารเล่นการเมือง ไม่ให้ทหารเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

นี่คือหลักการที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่า เป็นการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง “ทหาร” กับ “การเมือง”

ฝากอำนาจสังหารไว้แก่ “ทหาร” ยึดอำนาจทางจิตใจและความนิยมของประชาชนไว้แก่ “นักการเมือง”

ยากเป็นอย่างยิ่งที่คณะทหารจะเห็นชอบด้วย

นอกจากนั้น ความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งยังอยู่ที่คณะทหารพยายามเสนอและผลักดัน พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น “รองอธิบดีกรมตำรวจ”

แต่ไม่ได้รับการขานรับจาก พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

“ตราบใดที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่าว่าแต่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจเลย แม้แต่พลตำรวจก็ไม่รับมาอยู่กรมตำรวจ”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าสถานะของ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างไร

สถานะ 1 เขาเคยเป็นนายทหารคนสนิทของ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม กระทั่งดำรงยศเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สถานะ 1 เขาเป็นเขยใหญ่ของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร

ตามมาด้วยความขัดแย้งอันเนื่องจากการที่พระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกว่า การที่ต่างประเทศยังไม่รับรองฐานะรัฐบาลนั้นติดขัดอยู่ที่ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม

“เพราะต่างประเทศเกรงว่า จอมพล ป. จะกลับมามีบทบาท”

แม้เมื่อรับฟังดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกล่าวตอบว่า “ยินดีจะลาออกจากตำแหน่ง” แต่เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไป พ.ท.กาจ กาจสงคราม ได้แถลงข่าวว่าจอมพล ป. จะลาออกนั้นเป็นข่าวชวนวิวาท เพราะเมื่อทหารได้ยินก็ไม่พอใจเสียแล้ว

“ทหารจะไม่ยอมให้จอมพล ป. ลาออก”

 

สัญญาณ ทวงคืน
พรรคธรรมาธิปัตย์

สัญญาณ 1 ซึ่งไม่ควรมองข้าม ปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 หลวงวิจิตรวาทการได้ประกาศจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ เพื่อให้การสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สัญญาณนี้เกิดก่อนการเลือกตั้ง

แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะแถลงปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคธรรมาธิปัตย์ แต่หลวงวิจิตรวาทการก็โฆษณาหาเสียงว่า หลักการและนโยบายของพรรคเป็นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากนั้น สมาชิกคนสำคัญๆ หลายคนของพรรคล้วนใกล้ชิดกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น พล.ท.มังกร พรหมโยธี ไม่ว่าจะเป็น พล.ท.ปลด ปลดปรปักษ์ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายเพียร ราชธรรมนิเทศ บุคคลเหล่านี้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครก็แพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์

แต่ ส.ส. ที่ได้รับเลือกเข้ามาในนามพรรคธรรมาธิปัตย์จำนวน 6 คนล้วนมาจากต่างจังหวัด 1 ในนั้นคือ นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ซึ่งลงสมัครที่ปทุมธานี

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมติจากสภาผู้แทนราษฎรให้จัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2491 ก็ปรากฏใบปลิวเถื่อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

“เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและปัญหาในทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่”

พรรคประชาธิปัตย์ก็พอจะอ่านสถานการณ์ออก ไม่ว่าจะผ่านบทบาทของพรรคธรรมาธิปัตย์ ไม่ว่าจะผ่านบทบาทของใบปลิวเถื่อน นายควง อภัยวงศ์ จึงเดินทางไปพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ท.กาจ เก่งระดมยิง เพื่อซักถามให้แน่ใจเกี่ยวกับกรณี “ใบปลิวเถื่อน”

แต่ได้รับการปฏิเสธว่า “ไม่ได้เกี่ยวข้อง”

ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังยืนยันอีกว่า “จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้”

 

เมษายน 2491
คณะประชาธิปไตย

การปรากฏขึ้นของพรรคธรรมาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม 2490 การปรากฏขึ้นของใบปลิวเรียกร้อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2491

เหมือนเป็นสัญญาเบาๆ และมีความต่อเนื่อง

แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ การปรากฏขึ้นของ “คณะประชาธิปไตย” ประกาศยืนหยัดสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดกาล

ด้วยอุดมคติ 3 ประการคือ (1) เสียสละทุกวิถีทางเพื่อยังความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วนิรันดร (2) เสียสละทุกวิถีทางเพื่อสร้างบำรุงไว้ซึ่งและเพิ่มพูนประโยชน์ของชาวนาและกสิกรและกรรมกรไทยเพื่อชาติไทย (3) สมานสามัคคีระหว่างชนชาติไทยทั้งมวลเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติไทย

มีชื่อ พล.ท.พระยาเทพหัสดิน ปรากฏในประกาศของคณะประชาธิปไตย เป็นสมุดปกเขียวถ่ายลายเซ็นยืนยันออกเผยแพร่

มีข้อความบางตอนว่า

“ด้วยสมาชิกบางท่านได้ขอให้ข้าพเจ้ากล่าวคำขวัญไว้ในสมุดประวัติการณ์เล่มนี้ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นคนกลางๆ ไม่เกี่ยวกับพรรคใด การบันทึกเจตนาอันมั่นคงของ “คณะประชาธิปไตย” ที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดกาล ดังปรากฏในสมุดเล่มนี้ย่อมแสดงความเห็นของคณะว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะและบุคลิกภาพเป็นศูนย์รวมแห่งความรักนับถือ มีสมรรถภาพสมที่จะเป็นผู้บริหารประเทศ

เมื่อได้พิเคราะห์ตามรายนามของผู้ลงลายมือชื่อทุกๆ หน้าแล้วก็พอจะสังเกตได้ว่า ผู้ลงนามได้ลงด้วยความระมัดระวังและด้วยความรอบคอบ เพราะผู้ลงนามส่วนมากมีวัยวุฒิ คุณวุฒิในทางราชการและวิชาการ ทั้งเป็นผู้มีความรอบรู้พอที่จะหยั่งเหตุการณ์ในทางการเมืองได้ดี รวมทั้งวิวัฒนาการทางการเมืองของเมืองไทยตั้งต้นตลอดมา

ผลสุดท้ายก็เป็นนักสู้ที่เคารพต่อเหตุผลยิ่งกว่าการถือทิฐิ จึงยอมมอบความเป็นผู้นำในทางการเมืองให้แก่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นผู้มีใจเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง”

ยิ่งเมื่อพลิกดูรายพระนามและนามแต่ละนาม ยิ่งเห็นการตระเตรียมอันรอบคอบ

ไม่เพียงแต่มี ม.จ.นิตยากร วรวรรณ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา หากแต่ยังมีหลวงระงับประจันตคาม (โป๊ะ วัชรปาน) ส.ส.นครราชสีมา มีนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ส.ส.เชียงใหม่ รวมทั้งนายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ อีกด้วย

เป็นสัญญาณอันเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2491