คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนที่ 25 “น้ำเน่า”

เว้นวรรคเลี้ยววกไปเก็บเอาเรื่องอื่นๆ มาเล่าสลับตลอดระยะหลายๆ เดือนระหว่างเขียนเรื่องของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ รวมทั้งเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแส เรียกว่าพยายามจะให้มันอัพเดตที่สุดสำหรับหนังสือรายสัปดาห์

แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกวันนี้ไม่มีอะไรรวดเร็วฉับไวเกินไปกว่าโลกของโซเชียลมีเดีย (Social Media) ซึ่งแพร่ภาพกันสดๆ อย่างทันทีทันใด

มีความจำเป็นต้องเก็บปะติดปะต่อเรื่องเก่าๆ ซึ่งมันยังทันสมัยมาเรียงลำดับความเพื่อเล่าต่อไป

ซึ่งพยายามติดตามการบ้านการเมืองโดยเฉพาะการ “เลือกตั้ง” อยู่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยทั้งๆ ที่มันน่าเบื่อหน่ายเป็นอันมาก

ได้เห็นวิธีการเก่าๆ โบร่ำโบราณของเผด็จการรุ่นใหม่ ยุทธวิธีการเอาเปรียบคู่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างด้านๆ

แถมยังปากแข็งไม่อับอายอะไรทั้งสิ้นทั้งปวง

 

กลับมาได้ยินคำว่า “น้ำเน่า” ในวงการเมืองถี่ขึ้นมาอีกในระยะนี้

ทั้งๆ ที่คำนี้ได้ถือกำเนิดมาจากวงการบันเทิง ซึ่งในยุคสมัยก่อนจะมีก็แต่ภาพยนตร์ไทยเท่านั้นที่เป็นตัวชูโรงเรื่องความบันเทิง เป็นแหล่งแจ้งเกิดของดาราใหม่ๆ ซึ่งทุกวันนี้ถ้าหากยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องเรียกกันว่ารุ่นปู่ย่า ตายาย ทั้งสิ้น

วงการโทรทัศน์เพิ่งมาแย่งชิงทีหลังตามการเดินทางของเวลา

การสร้างหนังไทย ภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนค่อนข้างยากลำบากพอสมควร ไม่นับเรื่องวัสดุอุปกรณ์ของความจำเป็น เช่น ฟิล์ม กล้องถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งมีราคาแพง เพราะประเทศเราผลิตเองไม่ได้

เนื้อหาเรื่องราวก็ต้องแต่งกันขึ้นมาเองส่วนมาก ก่อนจะหาซื้อ หยิบบทประพันธ์ของนักเขียนมาสร้าง

เอาเป็นว่ามันค่อนข้างจะออกมาไม่ค่อยสมจริงสมจัง เนื้อหาเรื่องต่างๆ ก็วนๆ เวียนกันในกรอบแคบๆ ไม่ค่อยพัฒนา หรือเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ได้รับความนิยม และไม่ค่อยประสบความสำเร็จทั้งเรื่องชื่อเสียงและรายได้

นักวิจารณ์หนังกลุ่มหนึ่งซึ่งจำไม่ผิดว่าจากหนังสือหน้าบันเทิงหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ได้บัญญัติศัพท์สำหรับหนังไทยที่สร้างแบบสุกเอาเผากิน ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวทั้งเนื้อหาและเทคนิคทั้งหลายว่า– “น้ำเน่า”

วนเวียนอยู่แต่ในบ่อซึ่งไม่มีทางจะไหลเวียนไปไหน ไม่มีทางออก ไม่มีการศึกษาพัฒนา มันจึง “เน่าเหม็น” อยู่ในบ่อนั้น

 

จําเป็นต้องรำลึกนึกถึงประสบการณ์เดิมๆ แบบว่าพยายามเค้นอีกสักครั้ง ขณะเริ่มต้นชีวิต “คนหนังสือพิมพ์” แถวๆ อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ได้ทำงานเรียนรู้เติบโตอยู่ที่นั่น 20 ปีเต็มๆ

จำได้เสมอไม่เคยลืมโดยไม่จำเป็นต้องไปค้นคว้าอะไรที่ไหน บอกกล่าวเล่าขานกันให้รุ่นหลังๆ ฟังต่อๆ มาว่าเริ่มทำมาหากินอยู่กับหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

คนนำพาไปสำนักแห่งนี้ก่อนที่อาจารย์คึกฤทธิ์จะชักชวนให้เข้ามาสังกัดค่าย “สยามรัฐ” อย่างถาวร ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” (ท่านพี่ปุ๊) “รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับ เจ้าของบทประพันธ์โด่งดังมากมาย รวมทั้งผลิตผลอันสืบเนื่องมาจากการเดินทางไปแสวงหายังสหรัฐ ชื่อ “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก (Pocket-Book) ด้วย 1 เล่ม—

เริ่มงานกับสยามรัฐได้แค่อาทิตย์เดียว “สุจิตต์ วงษ์เทศ” (ทองเบิ้ม บ้านด่าน) เพื่อนร่วมสำนักหน้าพระลาน ก้าวขึ้นมาบนกองบรรณาธิการ บอกว่ามาสมัครงาน

เขาได้ทำงานอยู่กองบรรณาธิการนี้ประมาณสักปีเศษ ก่อนลาจากด้วยเหตุผลส่วนตัว เหมือนตอนที่เขามาสมัครเข้าทำงาน

หรือเหตุผลจากหัวใจเรียกร้องย่อมไม่ทราบ เดินทางสู่สหรัฐ กลับมาพร้อมกับหนังสือขนาดกระเป๋า (Pocket-Book) ชื่อ “เมด อิน ยูเอสเอ” (MADE IN USA)

ท่าน (เจ้าสัวช้าง) -ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานใหญ่ของค่าย “มติชน” ปัจจุบัน เดินสวนทางกับสุจิตต์มาเติมเต็มกองบรรณาธิการ “สยามรัฐรายวัน” ทำงานทุกเม็ดแทนบรรณาธิการ นพพร บุณยฤทธิ์ (2514-2522) – (เสียชีวิต) ท่ามกลางคนหนุ่มสาวไฟแรงประจำกองบรรณาธิการมากมายทั้งอนันต์ สายศิริวิทย์, เสถียร จันทิมาธร มาจนถึงไพบูลย์ สุขสุเมฆ โฉม ปาริษา, วีระ มุสิกพงศ์ (นักการเมืองคนดัง) และ ฯลฯ หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนที่ยังมีลมหายใจต่อสู้เวียนว่ายอยู่ในสังคมก็ล้วนแล้วแต่วันเวลาพาขึ้นไปยืนอยู่บนสะพานพระราม 7 ด้วยกันทุกคน รุ่นพี่ๆ ต่างเสียชีวิตกันไปเกือบหมด

แม้กระทั่ง “คอลัมนิสต์” ของสยามรัฐก่อนเกิด “มติชน” บนถนนสายสื่อหนังสือพิมพ์ ท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ก็เพิ่งลาโลกไปไม่กี่วันมานี้

 

หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เป็นหนังสือพิมพ์เสนอเรื่อง “การเมือง” เนื้อๆ เรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง

สู่ยุค (ท่านพี่) นพพร บุณยฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการ เกิดหน้าบันเทิง กีฬา เริ่มสนุกสนานกับการวิพากษ์วิจารณ์หนังไทยอย่างตรงไปตรงมา นอกจาก แก้ว สีหมากสุก (ไพบูลย์ สุขสุเมฆ และอีกหลายนามปากกา-เสียชีวิต) วีระ มุสิกพงศ์ ยังมีศิริพงษ์ จันทน์หอม (เสียชีวิต) และรุ่นน้องๆ อย่างหม่อมราชวงศ์พันธุ์ดิศ ดิศกุล และ ฯลฯ ติดตามกันมา

หลังสุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เสถียร จันทิมาธร เกิดอุบัติเหตุต้องหันหลังจากสยามรัฐ เดินตามความฝันสร้าง “มติชน” ขึ้นในโลกหนังสือพิมพ์ ก่อนเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์พกพาเดินทางมาถึง คนหนุ่มสาวชาวสยามรัฐได้ก้าวเข้ามาช่วยกันทำงานแบบใส่จิตวิญญาณอย่างสนุกสนานเป็นที่ยอมรับ

โดยเฉพาะกับ “หน้าบันเทิง” ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่กับสื่อฉบับนี้มากขณะนั้น แต่ได้สร้างความโด่งดังเป็นมาตรฐาน และเป็นที่มาของศัพท์ “น้ำเน่า” ที่ใช้เรียกขานหนังไทยห่วยๆ ไร้สาระไม่มีการพัฒนาว่า “หนังน้ำเน่า”

ใครจะเชื่อว่าคำว่า “น้ำเน่า” ซึ่งสามารถจินตนาการได้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นอย่างไร? จะถูกนำมาใช้กับการเมือง โดยเฉพาะกับนักการเมือง “น้ำเน่า”–ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในประเทศนี้

ปี พ.ศ.2516 ผู้สื่อข่าว ช่างภาพของสยามรัฐได้บุกเข้าไปทำข่าวเพียงฉบับเดียวในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี ระหว่างที่นายทหาร ตำรวจ ฯลฯ ระดับบิ๊กนำเอาพาหนะของทางราชการขนดาราสาวเพื่อไปพักผ่อนล่าสัตว์ ในที่สุดฟ้ามีตา ธรรมชาติลงโทษ ทำให้เฮลิคอปเตอร์ซึ่งใช้ขนซากสัตว์มาจากป่าเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ เท่ากับประจานให้สังคมได้รู้เห็น

กองบรรณาธิการชุดนั้นแหละที่ได้ร่วมในการทำข่าว “วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516” และสยามรัฐอยู่ในเส้นทางเหตุการณ์ครั้งนั้นเนื่องจากสำนักงานอยู่ริมถนนราชดำเนิน อันเป็นเส้นทางเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ห่างจากท้องสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ วันที่ “6 ตุลาคม 2519” ในอีก 3 ปีต่อมา

 

อาจารย์คึกฤทธิ์เคยเปรยๆ เกี่ยวกับเรื่องคำว่า “น้ำเน่า” ในหนังไทยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญมากเท่ากับในวงการผู้แทนฯ ระหว่างท่านได้มาก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” (Social Action Party) ในปี พ.ศ.2517 เมื่อลาออกจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังเสร็จภารกิจการจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517”

พรรคกิจสังคมระดมผู้สมัครจากทั่วประเทศส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้เข้าสู่สภาเพียง 18 ที่นั่ง แต่ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล และอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) มีนโยบายชัดเจนในการบริหารประเทศ ซึ่งต่อมาอีกหลายรัฐบาลได้นำไปดัดแปลงแก้ไขจัดทำเป็นโยบายในรัฐบาลของตนเองต่อๆ มากระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน

อาจารย์คึกฤทธิ์ต้องบริหารจัดการผู้แทนราษฎร ไม่เฉพาะของพรรคกิจสังคมเท่านั้น กับอีกหลายหลากพรรคร่วมรัฐบาลเรียกว่า “สหพรรค” ซึ่งมีผู้แทนฯ มาจากหลายแห่งแหล่งที่ ท่านจึงได้รู้เห็นผู้แทนฯ ซึ่งจ้องหาผลประโยชน์อย่างเดียว เรียกได้ว่าคุ้นเคยพวกเขา

วันนี้ศัพท์น้ำเน่ากำลังกลับมาระบาดใช้เรียก “ผู้แทนฯ น้ำเน่า” อีก โดยเฉพาะอดีตผู้แทนฯ ที่วางแผนก่อตั้งพรรค โยกย้ายพรรค และกำลังรวมกลุ่มเดินสายแบบมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง เพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

อดีต ส.ส.บางคนได้เริ่มเป็น ส.ส.หนุ่มของพรรคกิจสังคม กระทั่งก้าวขึ้นถึงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก่อตั้งพรรคเอง ได้ร่วมรัฐบาลหลายยุคสมัย เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งเข้าร่วม “พรรคสามัคคีธรรม” เรียกว่าโอนอ่อนผ่อนพลิ้วไปกับกระแสได้ทุกยุคสมัย

กำลังเดินสายชักชวนเพื่อนนักการเมืองแนวทางเดียวกันมาลงบ่อ “น้ำเน่า” ในสมัยรัฐบาล “เผด็จการ” ที่ว่ากันว่า (จะ) มีการ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนการเลือกตั้ง?