ปริศนาโบราณคดี : เส้นทางสันนิษฐานว่าด้วยการเดินทัพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในล้านนา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เส้นทางสันนิษฐานว่าด้วยการเดินทัพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในล้านนา (1)

250 ปีสถาปนากรุงธนบุรี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานโครงการมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์ ได้ดำริจัดโครงการ “ตามรอยพระเจ้าตากสินในล้านนา” เนื่องในวาระครบรอบ 250 ปีแห่งการสถาปนากรุงธนบุรี ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2560 โดยดิฉันได้เข้าร่วมเป็นคณะสำรวจด้วย

การนำคณะนักวิชาการระดับชาติขึ้นมาสำรวจร่องรอยของพระเจ้าตากสินในครั้งนี้ คณะได้ใช้เส้นทางโดยเริ่มออกเดินจากกรุงธนบุรี ขึ้นมายังพิษณุโลก จากนั้นเข้าสู่จังหวัดตาก

ที่จังหวัดตาก คณะได้สืบค้นหาสถานที่ประสูติของพระเจ้าตากก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ว่าควรเป็นบริเวณสถานที่ใด

ระหว่างบ้านระแหง ซึ่งเป็นเมืองเก่าริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง

หรือว่าควรเป็นบริเวณพระบรมธาตุบ้านตาก ซึ่งก็มีความเก่าแก่พอๆ กัน ยังเป็นปริศนาอยู่

จากนั้นขึ้นสู่บริเวณ “ปากวัง” เป็นจุดที่แม่น้ำปิงมาบรรจบกับแม่น้ำวัง จุดนี้มีความสำคัญยิ่ง เป็นปริศนาว่าจาก “ปากวัง” จุดนี้พระเจ้าตากจะใช้เส้นทางเดินทัพสายใดขึ้นไปปราบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2313 และครั้งที่ 2 ในปี 2317 ระหว่างแม่น้ำปิงกับแม่น้ำวัง?

หลังจากการลงพื้นที่ในเดือนธันวาคม 2560 แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กำหนดจัดงานประชุมสัมมนาทางวิชาการในห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเพื่อสรุปผลการศึกษา ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561

ซึ่งดิฉันเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “เส้นทางสันนิษฐานว่าด้วยการเดินทัพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในล้านนา”

จุดประกายให้ชาวล้านนาเปลี่ยนมุมมองต่อพระเจ้าตากสิน

การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในล้านนา ยังไม่เคยมีการแกะรอยเรื่องเส้นทางเดินทัพกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ว่าพระองค์เสด็จมากี่ครั้ง และแวะพัก ณ จุดไหนบ้างมาก่อน

เนื่องจากเอกสารฝ่ายล้านนาที่เขียนถึงวีรกรรมของพระองค์มักมุ่งเน้นไปที่บทบาทตอนที่พระญาจ่าบ้านและพระญากาวิละแปรพักตร์จากพม่าหันไปสวามิภักดิ์และขอความช่วยเหลือจากกองทัพสยามในตอนขับไล่พม่าออกจากล้านนาเสียเป็นส่วนใหญ่

ทำให้อาจละเลยเรื่องเส้นทางเสด็จของพระเจ้าตากสินสู่ล้านนาว่าใช้เส้นทางใดไปบ้าง

กล่าวให้ง่ายก็คือ ชาวล้านนารู้จักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในฐานะนักรบผู้กล้า ที่ขึ้นมาช่วยปราบกองกำลังทหารพม่าอันโหดร้ายที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่กรุงอังวะ ที่ได้เข้ามายึดครองล้านนานานกว่า 200 ปี ตั้งแต่ยุคที่ล้านนาสูญเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ.2101

เมื่อเอ่ยถึงพระนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวล้านนามีมโนทัศน์ต่อพระองค์ว่าท่านคือสัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสรภาพจากพม่า

หาใช่ภาพลักษณ์ของกษัตริย์สยามที่แผ่แสนยานุภาพขึ้นมา “ปราบชาวไทยก๊กต่างๆ” ที่แข็งข้อให้ราบคาบแต่อย่างใดไม่

เนื่องจากจวบจนยุคที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้แก่พม่าในครั้งที่ 2 สถานะของเชียงใหม่และล้านนาไม่เคยตกเป็นเมืองบริวารหรือเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยามาก่อนเลย ต่างไปจากก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กพิมาย ก๊กนครศรีธรรมราช ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะเกี่ยวกับสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จขึ้นมาบนแผ่นดินล้านนาก็มีการเล่าขานกันบ้างอย่างประปราย โดยผู้เล่าเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้ข้อมูลมาจากความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ที่บอกต่อๆ กันมา

ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ ดิฉันจึงได้นำสถานที่เหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นของเส้นทาง (สันนิษฐาน) ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในล้านนาประกอบกันด้วย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการยกทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่ครั้งที่ 1

เรื่องราวตอนนี้แทบไม่ปรากฏในเอกสารตำนานหรือพงศาวดารฝ่ายล้านนา เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังไม่สามารถตีเชียงใหม่ได้สำเร็จ แต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในฝ่ายสยามและฝ่ายพม่าทุกฉบับ

เอกสารฝ่ายพม่า อาทิ ประวัติศาสตร์พม่า เขียนโดย หม่อง ทิน อ่อง ระบุว่าระหว่าง พ.ศ.2306-2317 พม่าโดยฉินบูชินแห่งราชวงศ์คองบอง ได้ปกครองล้านนาแบบเข้มงวดเป็นเวลา 11 ปี

กระทั่ง พ.ศ.2317 ล้านนาเป็นของสยาม แต่หม่อง ทิน อ่อง ก็ให้เหตุผลว่า ปี 2312 พม่าติดศึกใหญ่กับจีน และ 2316 พวกมอญในไทยได้ก่อกบฏ อันเป็นชนวนให้พม่าต้องปราบมอญจนกระทบกระทั่งกับสยาม

พระราชพงศาวดารพม่า เรียบเรียงโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวว่า ปี พ.ศ.2313 พม่ากำลังอยู่ในช่วงที่ทำสงครามกับจีน ต้องทุ่มเทด้านกองกำลังทหารไปที่จีน ทำให้เกิดช่องโหว่ต่อการควบคุมชาวล้านนาที่เอาใจออกห่างไปฝักใฝ่สยาม

เอกสารเล่มเดิมกล่าวต่อไปว่า ปี 2313 ตรงกับปีขาล โปมะยุหง่วน (โปมยุง่วน) อีกชื่อคือ อปะกามินี (อภัยคามินี) สะโดเมงเตง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น ยกทัพ “พม่าลาว” (หมายถึงชาวล้านนาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า) มาตีสวรรคโลกของสยาม

แต่เอกสารฝ่ายไทยเขียนว่า คนที่เป็นแม่ทัพมาตีสวรรคโลกคือ โปสุพลา (สีหปตี-บางท่านว่าคือคนเดียวกับเนเมียวสีหบดี) โดยเจ้าพระยาสุรสีห์ (ต่อมาคือกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ในสมัยรัชกาลที่ 1) ได้ยกทัพไปตีตอบจนแตกพม่าแตกพ่ายไป

ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งทัพหลวงอยู่ที่เมืองพิชัย มีมังไชย เจ้าเมืองแพร่ (ผู้ที่เคยเอาใจออกห่างจากพม่าในคราวที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาจนเสียกรุงครั้งที่ 2) ได้มาขอสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก่อนเป็นเมืองแรกในบรรดาหัวเมืองล้านนาทั้งหมด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกมังไชยให้เป็นพระยาสุริยวงศ์ โดยให้เข้าร่วมในกองทัพต่อสู้กับพม่าด้วย

เห็นได้ว่าการศึกครั้งแรกนี้ เป็นศึกที่เกี่ยวพันต่อเนื่องมาจาก “ศึกสวรรคโลก” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเห็นว่า ไหนๆ กองทัพที่มาช่วยตีพม่าก็ได้รวมตัวกันครบทีมอยู่แล้ว ณ ที่สวรรคโลกแห่งนี้ อีกทั้งระยะทางที่จะมุ่งไปสู่เชียงใหม่ก็มาไกลเกินครึ่งทางแล้ว “บางที” ฝ่ายสยามอาจสามารถตีพม่าแตกในคราวนี้ก็เป็นได้

หรือถึงแม้สยามไม่สามารถตีเชียงใหม่จากพม่าได้ก็ไม่ถือว่ามีอะไรเสียหาย อย่างน้อยที่สุดถือเสียว่าได้มาดูชัยภูมิเส้นทางเดินทัพ เอาไว้เป็นข้อมูลในคราวหน้า

สุดท้ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ไม่สามารถตีเชียงใหม่ได้ ด้วยขาดเสบียงอาหารและขาดแคลนกำลังพล

ทรงประทับในเชียงใหม่ 9 วัน แล้วถอยทัพกลับ

มีข้อน่าสังเกตว่า เหตุการณ์ตอนนี้ เอกสารฝ่ายสยามได้กล่าวถึง “อาถรรพ์” ว่ากษัตริย์อยุธยามักต้องยกทัพมาตีเชียงใหม่สองครั้งเสมอจึงจะสำเร็จ ไม่เคยสำเร็จในครั้งแรกเลย

เท่าที่ตรวจสอบสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ พบว่ากษัตริย์อยุธยารายพระนามดังต่อไปนี้ ต้องขึ้นมาตีเชียงใหม่ถึง 2 ครั้ง เจ้าสามพระยา พระไชยราชา พระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ใช้เดินทัพสู่เชียงใหม่นั้น จากเมืองพิชัย (ปัจจุบันตั้งอยู่ในอุตรดิตถ์) เส้นทางใกล้ที่สุดคือการที่พระองค์เดินทางเข้าสู่สวรรคโลก จากนั้นเข้าเมืองเถิน (เถินบุรี หรือสังขเติ๋น) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองสามแพร่ง คือกึ่งกลางระหว่างสวรรคโลก ลำปาง และลำพูน

จากเมืองเถิน เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นมาลำพูนโดยผ่านเมืองลี้ พงศาวดารระบุว่ากองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่ที่ “แม่น้ำปิงเก่าเหนือเมืองลำพูน” คำว่าแม่น้ำปิงเก่า หมายถึงแม่น้ำกวง

เส้นทางจากเมืองเถินเข้าสู่เมืองลี้ หรือในอดีตเรียกบริเวณนี้ว่า “ลี้สบเถิน” (ลี้สบทิน) นั้น เป็นป่าเขาทุรกันดารยากต่อการเดินทัพพอสมควร ปราชญ์ชาวบ้านในลำพูนที่สนใจศึกษาเรื่องเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงสันนิษฐานว่า

พระองค์ไม่น่าจะใช้เส้นทางเดินบกจากเมืองลี้สู่ตัวเมืองลำพูนเพราะมีระยะไกลมาก พระองค์น่าจะเดินตัดบริเวณที่เรียกว่าตำบลป่าลานในปัจจุบันลงมาสู่แก่งก้อ จุดลงเรือขึ้นแม่น้ำปิงขึ้นสู่ลำพูน-เชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง)

ครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน หัวหน้าสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย ได้อธิบายว่า เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่ที่อำเภอลี้เล่าว่า บริเวณอุทยานพุทธปางประทีป ตำบลป่าลาน อำเภอลี้นั้นเคยเป็นจุดพักยั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนั้น จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่ลานด้านหน้า

นอกจากนี้แล้ว ครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน ยังได้กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านเคยเชื่อกันว่า ถ้ำช้างร้อง อยู่กลางลำน้ำปิง มีพลับพลาที่ประทับหลังหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า “พลับพลาพระเจ้าตาก”

ถ้ำช้างร้องอยู่ไม่ไกลจากสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย ทำให้ในอดีตครูบาป่านิกรจึงเชื่อว่าสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อยและถ้ำช้างร้องคือเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ไว้ที่แก่งสร้อย

แต่ต่อมาเมื่อครูบาป่านิกรได้มาสำรวจเส้นทางในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงอย่างละเอียด ประกอบกับได้อ่านพงศาวดารฝ่ายสยามหลายเล่ม จึงทราบความจริงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นมาลำพูนครั้งแรก เดินทางมาจากสวรรคโลก (ทะลุอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ในปัจจุบัน) จากนั้นพบรอยต่อระหว่างอำเภอเถินกับอำเภอลี้ ในเอกสารระบุว่าท่านใช้เส้นทางลี้ ประกอบกับชาวบ้านบอกว่าท่านยั้งทัพที่อุทยานพุทธปางประทีป

จึงมีความเป็นไปได้ว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ลงเรือลัดเลาะเลียบลำน้ำปิงขึ้นไปทางเหนือ จากเมืองลี้ สู่เมืองฮอด จอมทอง เวียงหนองล่อง ป่าซาง และลำพูน ประทับที่ลำพูนก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่เชียงใหม่

ฉบับหน้ามาดูกันต่อว่า พ้นจากป่าซางไปแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้เส้นทางใดบุกเข้าเมืองเชียงใหม่ จะใช้เส้นปิงเก่าโดยอ้อมเข้าหริภุญไชยเก่าและเวียงกุมกาม หรือตัดเข้าเส้นปิงใหม่โดยไม่ผ่านลำพูน?