วิเคราะห์ : จัดทัพนครบาล โผ “แคนดิเดต” ใครแรง-ใครแผ่ว ลุ้นกุมบังเหียน “ผบ.ตร.น้อย”

แม้เหลืออีก 3 เดือนจะถึงเวลาวางหัวโขน ถอดเครื่องแบบอำลาชีวิตราชการไปเป็นพลเรือนเต็มขั้น

เริ่มมีการวิจารณ์กันแล้วว่า “นายพล” คนไหนมีโอกาสลุ้นนั่งเก้าอี้กองบัญชาการสำคัญในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ปกติจะพิจารณารายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายในเดือนสิงหาคม

ตำแหน่งที่ถูกจับตามากที่สุดคือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เจ้าของรหัส “น.1” แคนดิเดตเป็นใคร?

เนื่องจากเจ้าของฉายา “น.1 ไม่บึ่งแล้ว” พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช “บิ๊กหยม” เกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายน

นาทีนี้สปอตไลต์จึงหันมาฉายจับที่เก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล”

ซึ่งว่ากันว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ ยกเป็น “ผบ.ตร.น้อย” กันเลย เป็นกองบัญชาการเกรดเอ

เพราะต้องรับผิดชอบพื้นที่เมืองหลวง ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ

มีภารกิจที่หนักหน่วง คนที่จะรับไม้ต่อ ต้องเดินงานต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานแก้ไขปัญหาจราจร ถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล

งานบริการประชาชน งานสอบสวนเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

งานสืบสวนสอบสวน งานความมั่นคง งานจราจร งานป้องกันปราบปราม งานป้องกันปราบปรามยาเสพติด และกิจกรรมพิเศษ ล้วนเป็นภารกิจ “หิน” ทั้งสิ้น

เพราะกองบัญชาการนี้ถือเป็นหน้าตาของประเทศ คดีเกิดในกรุงล้วนเป็นข่าวดัง จึงต้องสรรหานายพลฝีมือถึงคุมพื้นที่

ดังนั้น หากวางตัวบุคคลที่จะสานงานต่อเนื่องไม่เป็น จะทำให้การบริหารงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลล้มเหลว

แคนดิเดตที่พูดๆ ถึงมีหลายคน ถูกจับตาวางตัวมานั่งเก้าอี้ “น.1”

เริ่มที่ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น “บิ๊กบัว” ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) นรต.36

“บิ๊กบัว” เป็นเพื่อน นรต.36 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงให้น้ำหนักนายพลน่าลุ้นที่สุด

ถือเป็นนายตำรวจมากความสามารถ ครบเครื่องทั้งบู๊และบุ๋น

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น

ขณะที่งานสืบสวนซึ่งเป็นหัวใจของตำรวจก็ไม่น้อยหน้าใคร

กอปรกับคุ้นชินกับพื้นที่เมืองหลวง เคยมาเป็นรองผู้บังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (191) และผู้กำกับการสายตรวจ 191 ทั้งสองตำแหน่งอยู่มาระยะหนึ่ง

สะสมประสบการณ์ผ่านงานกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)

เมื่อมานั่งบริหารงานเก้าอี้ ผบช.สตม. หรือ “มหาเมฆ 1” เพียงไม่ถึง 1 เดือน กล้าตัดสินใจแก้ไขระบบการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า-ออกที่มีปัญหาเรื้อรังสะสมมานาน

พร้อมเกลี่ยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม. เพื่อให้พอกับการรองรับผู้โดยสารภายในสนามบิน และเร่งรัดติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองมากกว่า 1 แสนคน

ถัดมา พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ “รองหลวง” รอง ผบช.น. นรต.41 ก่อนหน้านี้เคยนั่ง ผบก.สปพ. ชื่อชั้น “นักสืบคนดัง”

อดีตนายเวร พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ผ่านการคุมงานด้านความมั่นคง และงานป้องกันปราบปราม

ทำโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการควบคุมสายตรวจด้วยระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อรองรับการตรวจตู้แดงในหน้าที่ปกติและเทศกาลสำคัญ

โครงการอาสาสมัครจิตอาสา หัวหน้าศูนย์ ศปจร.น. และ ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น

และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ชื่อนี้ในวงการสีกากีไม่มีใครไม่รู้จัก ตั้งแต่ขยับจากตำแหน่ง “ผู้การ 191” ขึ้นสู่เก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สไลด์นั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวแบบด่วนพิเศษเมื่อปีที่ผ่านมา

มีผลงานออกสื่อต่อเนื่อง เรื่องปราบปรามเด็กแว้น ทัวร์ศูนย์เหรียญ คอลเซ็นเตอร์ นายทุนเงินกู้คิดดอกเบี้ยโหด ขบวนการลวงโอนเงินข้ามชาติ ที่คนไทยจำนวนมากเป็นเหยื่อมานานหลายปี

ด้วยดีกรีและบารมี นายตำรวจที่คนในวงการขนานนาม “บิ๊กโจ๊ก” ว่ากันว่าคนนี้ “บิ๊ก” ของจริง เพราะเป็นนายตำรวจคนสนิทใกล้ชิด “บิ๊กป้อม”

ทีมเดอะโจ๊กจึงรวบรวมคนเก่งมีฝีมือเป็น “ทีมงานพิเศษ” ระดับ พ.ต.อ.พิเศษ จนถึง ผบ.หมู่ มือทำงานสังกัด 191 ตำรวจท่องเที่ยว นครบาล ภูธร ติดสอยห้อยตามชุดใหญ่

เป็นทีมงานเข้มแข็งส่งให้ภารกิจบำบัดทุกข์ประชาชน ในนามทีมบิ๊กโจ๊ก ที่ครอบคลุมหลายหน้างาน แผ่มากกว่าฟังก์ชั่นในตำแหน่ง ลุล่วง เด่นดัง

หากเปรียบมวยทั้งสามค่าย น้ำหนักในการชก กรรมการก็ตัดสินให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ที่มีภาษีมากกว่าเนื่องจากใกล้ชิดยึดขั้วอำนาจ

แต่เป็นไปได้ว่า สิ้นเดือนกันยายนนี้ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (ผบช.ทท.) เกษียณอายุราชการ เก้าอี้ ผบช.ทท. ว่าง “รองโจ๊ก” มีสิทธิ์ที่จะสไลด์ไปแทน ถ้าพลาด น.1

สำหรับผู้บัญชาการเมืองหลวงจะอยู่ที่ผู้มีอำนาจกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ต้องคัดนายตำรวจที่จะมากุมบังเหียนสนองงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลได้ราบรื่น

 

ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดปัญหาคลื่นใต้น้ำที่อาจจะกระทบกับการทำงานของรัฐบาลในระยะหนึ่งได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่วางไว้

เพราะฉะนั้น การคัดตัวคนที่ต้องการเข้ามาทำงานจึงต้องดูว่าจะตัดสินเลือกใคร

แต่ทางปฏิบัติ เอาเข้าจริง ฝีมือ ผลงาน เป็นเรื่องรอง ประเด็นหลักคือ “แคนดิเดต” สายไหน เส้นใคร?