โลกหมุนเร็ว/ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/The Prince ของมาเคียเวลลี (3)

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

The Prince ของมาเคียเวลลี (3)

 

ว่าด้วยการหลีกเลี่ยงความเกลียด และการถูกเหยียดหยาม

มาเคียเวลลีบอกว่า สำหรับเจ้าผู้ครองนคร เรื่องนี้มีความสำคัญรองลงมาจากเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เช่น ความกล้าหาญ การเป็นผู้นำในการรบ การไม่ละเลยที่จะฝึกปรือกองทัพอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นในยามสงบหรือสงคราม

เมื่อพูดถึงความเกลียด เขายกตัวอย่างผู้ครองนครที่ยามมีชัยเหนือข้าศึกทำการกวาดต้อนผู้คน ริบทรัพย์สมบัติ แล้วก็ข่มขืนผู้หญิง นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ มันสร้างความเกลียดชังฝังเข้ากระดูกในความรู้สึกของประชาชน

สำหรับความรู้สึกเหยียดหยาม จะมาจากบุคลิกที่อ่อนแอ โลเลไม่แน่นอน แหย หยุมหยิม ขี้ขลาด ลังเล ไม่เด็ดขาด

ประชาชนจะเฝ้าดูอยู่ว่าผู้ครองนครของเขามีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มั่นคงหรือไม่

 

สําหรับผู้ครองนครแล้ว การจะรักษาสถานะที่มั่นคง ต้องสนใจทั้งกิจการภายในและภายนอก การดำรงอยู่ภายในขึ้นอยู่กับประชาชน ส่วนกิจการภายนอกขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของศัตรู เรื่องภายนอกต้องอาศัยการมีกองกำลังที่เข้มแข็งและการสร้างพันธมิตรที่สามารถไว้วางใจได้

การจะมีพันธมิตรที่วางใจได้ก็ต้องมีกองทัพที่ไว้ใจได้ คำพูดนี้ทำให้งงได้ แต่เมื่อลองคิดตามอีกทีก็คงจะจริง เพราะการมีกองทัพที่แข็งแกร่ง ก็ทำให้ประเทศอื่นเกรงใจไม่กล้าทำอะไร

ไม่เช่นนั้นประเทศต่างๆ ในโลกนี้จะพากันสร้างกองทัพที่มีแสนยานุภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปทำไม

เจ้าผู้ครองนครต้องหาจุดสมดุลระหว่างการทำให้ทหารพอใจกับประชาชนมีความสุข ธรรมชาติของทหารนั้นต้องการรบ จึงต้องการผู้ปกครองที่ห้าวหาญ เปิดโอกาสให้เหล่าทหารแสดงความสามารถ ลาภ ยศก็จะตามมา ทหารกับความทะเยอทะยานเป็นของคู่กัน เมื่อแสดงความสามารถ ทั้งตำแหน่งทั้งเงินก็ตามมา

นี่ทำให้เราเข้าใจทหารที่อยู่ในบ้านเราได้เหมือนกัน ว่าธรรมชาติของทหารเป็นเช่นนี้เอง นายทหารอาชีพไม่ว่าชาติไหนก็คงจะคล้ายๆ กันคือมีความทะเยอทะยาน การได้รบคือโอกาสได้เลื่อนชั้น ได้บำเหน็จรางวัล

ส่วนประชาชนต้องการบ้านเมืองที่สงบสุข ประชาชนไม่ต้องการผู้ครองนครที่เก่งกาจเหนือมนุษย์ แต่ต้องการคนที่มีความสามารถกลางๆ

 

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนเคยถามคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยว่าชอบประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง หรือไม่ เขานิ่งไปสักครู่แล้วตอบว่าชอบจู หรง จี มากกว่า เขามีความรู้สึกว่าสี จิ้น ผิง ห้าวหาญเกินไป ส่วนจู หรง จี ดูใจดี

ผู้ครองนครส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์มักเลือกที่จะเอาใจทหารไว้ก่อน และให้ความสนใจประชาชนน้อย

ข้อสังเกตอีกอันหนึ่งคือ เมื่อเจ้าผู้ครองนครแต่ละคนขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีต่างๆ กัน สำหรับผู้ที่ขึ้นครองด้วยความชอบธรรมตามครรลองก็จะไม่เสี่ยงกับการโดนโค่นจากอำนาจ ในขณะที่ผู้ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการเป็นหนี้บุญคุณใครบางคนก็มักจะโดนโค่นในที่สุด

ตัวอย่างเช่น มาร์คัส ออเรลิอัส กษัตริย์นักปราชญ์ (161-180) ผู้เขียนเรื่อง The Meditations ออเรลิอัสเป็นลูกบุญธรรมของอันโทนินัส ปิอุส และได้รับสืบทอดตำแหน่งต่อมาอย่างชอบธรรม เขาครองอาณาจักรอย่างยาวนาน

จักรพรรดิอีกองค์คือ แปร์ติแนกซ์ (193) ได้ขึ้นครองแผ่นดินต่อจากคอมโมดัส โดยบรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดร่วมมือกันฆาตกรรมคอมโมดัสและให้วุฒิสภารับรอง ในขณะที่ทหารที่ไม่พอใจเป็นคลื่นใต้น้ำ ทหารพวกนี้เคยกับการคลุกคลีอยู่ในกามคุณตั้งแต่ครั้งที่คอมโมดัสยังปกครอง จึงไม่พอใจที่แปร์ติแนกซ์ห้ามปราม ไม่ทันพ้น 3 เดือนแปร์ติแนกซ์ก็ถูกสังหารโดยพวกที่กลัวว่าเขาจะปฏิรูปการปกครอง

นอกจากนี้ ด้วยวัยที่ค่อนข้างชรา จึงไม่ได้รับการกลัวเกรง

 

อเล็กซานเดอร์ แซเวรุส (222-235) ผู้ครองเมืองต่อจากเอลากาบาลุส ซึ่งนำเขามาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ยาวนานถึง 14 ปี แต่แม้ว่าแซเวรุสจะเป็นกษัตริย์ที่มีความรอบคอบเที่ยงธรรมเดินสายกลาง เขากลับได้รับอิทธิพลจากมารดาผู้มีนิสัยไม่ค่อยน่านิยมเท่าไหร่

ประชาชนหาว่าเขาอ่อนแอ ในที่สุดก็ถูกสังหารโดยนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งน่าจะมีส่วนผลักดันโดยแมกซิมินัส ซึ่งขึ้นครองเมืองต่อมา

ประวัติศาสตร์บางตอนที่เกี่ยวกับแซเวรุสบอกว่า เช้าวันหนึ่งในปี 235 แซเวรุสได้ขอให้กองทหารม้าของเขาขับไล่ศัตรูที่เคลื่อนใกล้เข้ามา แต่ทหารกลับไม่ยอมทำตาม ได้ตะโกนโห่ประจานความขี้ขลาดของแซเวรุสพร้อมกับด่ามารดาผู้ตระหนี่และทะนงตนของเขา แซเวรุสวิ่งเข้าไปหลบในกระโจมและซบกับอ้อมอกของมารดา

ในสามคนนี้มีมาร์คัส ออเรริอุส ผู้เดียวที่ตายอย่างสมเกียรติ เพราะขึ้นครองราชย์โดยชอบธรรมไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใคร มีคุณงามความดี ไม่มีคนเกลียด ไม่มีคนดูหมิ่น เขาได้รับการเคารพยกย่อง สามารถทำให้ประชาชนผาสุกและทหารก็มีความพอใจ

มองตัวละครของมาเคียเวลลีแล้วก็ย้อนดูตัวได้ ไม่ว่าในบทบาทข้าราชการ นักการเมือง ทหาร ผู้นำองค์กร หัวหน้างาน หัวหน้าครอบครัว ได้ข้อคิดดีๆ จากมาเคียเวลลีทั้งนั้น