ต่างประเทศอินโดจีน : “เดอร์ตี้ โดเซน”

ที่มาภาพ : hrw.org

“เดอะ เดอร์ตี้ โดเซน” เป็นชื่อภาพยนตร์สงครามโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “12 เดนตาย”

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ (เอชอาร์ดับเบิลยู) หยิบยืมมาเป็นฉายานามของ 12 นายพลกัมพูชา ซึ่งองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนนานาชาติแห่งนี้กล่าวหาว่าเป็น “มือสกปรก” ทำงานค้ำจุนบัลลังก์ของฮุน เซน นายกรัฐมนตรี “อมตะ” ของกัมพูชา มาเป็นเวลานาน

มีการเผยแพร่ทั้งชื่อทั้งสังกัดออกมาทั้ง 12 คน มีทั้งที่เป็นนายพลทหารระดับผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการทั้งจากทัพบกและกองทัพอากาศ นายพลตำรวจทั้งภูธรและนครบาล

ทั้งหมดถูกเอชอาร์ดับเบิลยูกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมอย่างสำคัญใน “ประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหันต์” ในห้วงเวลากว่า 3 ทศวรรษของฮุน เซน

ตั้งแต่การจัดการกับนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม, ผู้สื่อข่าว, ผู้นำสหภาพแรงงาน และอื่นๆ ที่ล้มหายตายจากไปรวมแล้วเป็นหลายร้อยคนในช่วงกว่า 30 ปีดังกล่าว

ด้วยเหตุปัจจัยที่มีที่มาจากการเมืองล้วนๆ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของทั้ง 12 คน ยังจับกุม, ทุบตี, ก่อกวน และแทรกแซงข่มขู่ ใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิทั้งหลาย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงาน เรื่อยไปจนถึงผู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน และคนธรรมดาสามัญทั่วไปที่ “บังอาจ” แสดงความคิดเห็นออนไลน์จาบจ้วงนายกรัฐมนตรี

“ตลอดหลายปีที่ว่านี้ ฮุน เซน ได้สร้างและพัฒนาแกนหลักของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบดำเนินการตามคำสั่งของตนเอง อย่างรุนแรงและอำมหิต” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของเอชอาร์ดับเบิลยูระบุ

“ความสำคัญของนายพลกัมพูชาเหล่านี้ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้” เมื่อเข้ารับผิดชอบในการกวาดล้างบรรดาผู้สื่อข่าว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม กับบรรดาผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล พร้อมๆ กับการรณรงค์หาเสียงให้ฮุน เซน อย่างเปิดเผย”

คนทั้ง 12 ทำหน้าที่เป็นเหมือน “องครักษ์พิทักษ์” นายกรัฐมนตรี แลกเปลี่ยนกับยศถาบรรดาศักดิ์และความมั่งคั่งร่ำรวยเรื่อยมาตลอดระยะเวลาดังกล่าว

 

ในรายงานชิ้นนี้ เอชอาร์ดับเบิลยูให้รายละเอียดของพฤติกรรมเอาไว้ถี่ยิบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนทั้ง 12 ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร, มีการกระทำเข้าข่ายเป็นอาชญากรสงคราม และเข้าข่ายการทำสงครามต่อมนุษยชาติมาอย่างไรบ้างตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และบางครั้งกลายเป็นที่มาให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นโดยไม่จำเป็น รวมทั้งการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนในเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งการเข้ายึดที่ดิน ฆาตกรรม ทารุณกรรม และการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจ

เอชอาร์ดับเบิลยูระบุเอาไว้ในรายงานว่า “แทนที่จะทำหน้าที่รับใช้ประชาชน เจ้าหน้าที่เหล่านี้กระทำการเพียงเพื่อปกป้องระบอบการปกครองของฮุน เซน เอาไว้เท่านั้น”

ผลก็คือ คนเหล่านี้ซึ่งทำหน้าที่ในตำแหน่งที่มีค่าจ้างเงินเดือนเพียงไม่กี่มากน้อยมาตลอดชีวิตการทำงาน “สามารถสั่งสมความมั่งคั่งมหาศาลที่ไม่สามารถอธิบายถึงที่มาได้”

เป็นไปได้มากอย่างยิ่งว่า นั่นคือ “รางวัลตอบแทนความภักดี” ของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เอชอาร์ดับเบิลยูระบุ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของเอชอาร์ดับเบิลยูก็คือ คนทั้งหมดนี้ไม่เพียงเอนเอียงเข้าข้างพรรคประชาชนกัมพูชา ทั้งหมดยังเป็น “คณะกรรมการกลางพรรค” ซีพีพีของฮุน เซน อีกต่างหาก “ซึ่งละเมิดทั้งกฎหมายกัมพูชาเองและมาตรฐานสากล” อีกด้วย

อดัมส์สรุปบทบาทของทั้ง 12 คนไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า

“ไม่มีเผด็จการใดบรรลุถึงจุดสูงสุดหรืออยู่ในสถานะสูงสุดได้ยาวนาน โดยปราศจากการสนับสนุนของผู้คนอำมหิตเช่นนี้”