E-DUANG : “บ้านเมืองของเราลงแดง” ของ “ครูเบ็น”

บทความของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน อาจเขียนและตีพิมพ์ อาจเผย แพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในเดือนกรกฎาคม 2520

เป้าหมายก็เพื่อ “กรณี 6 ตุลาคม 2519″โดยเฉพาะ
เห็นได้จากชื่อเรื่องเมื่อแปลมาเป็นภาษาไทย คือ “บ้านเมืองของเราลงแดง” แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม
แต่เมื่อมีการตีพิมพ์อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2559
อันเป็น “ส่วนหนึ่ง”เนื่องในวาระแห่ง “รำลึก “40 ปี 6 ตุลา”ของการจัดงาน
ใครที่ได้อ่านก็จะได้ “ประจักษ์”
ประจักษ์ว่า “คำอธิบาย”ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน มิได้จำกัดเฉพาะสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ตรงกันข้าม มี”มาก”กว่านั้น “กว้าง”กว่านั้น
โดยเฉพาะเมื่ออ่านข้อเขียน”ใหม่”ไม่ว่าจะจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ว่าจะจาก ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไม่ว่าจะจาก เกษียร เตชะพีระ
ยิ่งคำตามของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยิ่งชัด

ชัดว่า “คำอธิบาย” ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ครอบคลุมจากสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 กระทั่งสถานการณ์เดือนตุลาคม 2559

เรียกได้ว่า “อเนกประสงค์”
นั่นก็คือ ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระทั่งหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2559
ถามว่าทำไมความขัดแย้ง แตกแยกจึงเกิดขึ้น
เป็นความขัดแย้งที่ไม่เพียงแต่ดำรงอยู่เหมือนก่อน 6 ตุลาคม 2519
หากแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า”คนเดือนตุลา”ก็ยังมี
นั่นก็คือ คนที่เคยร่วมกันต่อสู้ในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 และในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 ทุกวันนี้ก็มีความขัดแย้งมีความแตกแยก
เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน มี “คำตอบ”

อย่าว่าแต่จะสามารถ “สัมผัส” และ “รับรู้” ได้ในความแตกแยกของคนเดือนตุลา หากแม้กระทั่งคนเดือนพฤษภาคม 2535 ก็แตกแยก

เห็นได้ชัดจากกรณี “รัฐประหาร”
ปรากฏว่าส่วน 1 ที่เข้าร่วมกับ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ส่วน 1 ที่เข้าร่วมกับ”กปปส.”เห็นด้วย
ทั้งรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทั้งรัฐประหารเมื่อปี 2557
ยิ่งกว่านั้น รูปธรรมที่เห็นได้ชัดอีกกรณีหนึ่งก็คือ “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
คำตอบหาอ่านได้จากหนังสือ”บ้านเมืองของเราลงแดง”ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน แม้จะเขียนถึง”6 ตุลา”แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 40 ปี
แต่ตอบได้ทั้ง”ประชามติ”และ”รัฐประหาร”
เท่ากับ”อธิบาย”ได้อย่าง”อเนกประสงค์”ในทางความคิด
และในทางการเมือง