ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมพระเจ้าตากสินจึงต้องเสด็จไปจันทบุรี?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะแตกนั้น ได้มีกองกำลังหลายกลุ่มหลบหนีออกมาจากเกาะเมืองอยุธยา ด้วยสาเหตุและข้ออ้างต่างๆ อยู่หลายกลุ่ม

ในกรณีของพระยาตาก (สิน) นั้น ถูกส่งออกมาตั้งค่ายรับศึกของฝ่ายอังวะ อยู่ที่วัดใหญ่ไชยมงคล พร้อมกับพระยาเพชรบุรี ตั้งแต่เดือน 12 (พฤศจิกายน) ปี พ.ศ.2309 และเนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มจะเข้าสู่น้ำหลากแล้ว ทัพของพระยาตากและพระยาเพชรบุรี จึงเป็นทัพเรือที่ใช้สกัดเรือรบของฝ่ายอังวะ ที่ขึ้นลงเข้าหากัน (ข้อเขียนชิ้นนี้อ้างถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ดังนั้น ในที่นี้จึงขอเรียกว่าพระยาตาก)

ข้อความในพงศาวดาร ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุว่าพระยาเพชรบุรีถูกสังหารในการศึกที่วัดสังฆาวาส (ปัจจุบันอยู่ห่างจากเกาะเมืองอยุธยา ตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาทางทิศใต้ เลยจากสถานีรถไฟบางปะอินมาราว 2 กิโลเมตร) ส่วนพระยาตากนั้น “…ถอยมาแอบดู หาช่วยหนุนไม่…”

จากนั้นพระยาตากก็ไม่ได้กลับเข้าเมืองนะครับ แต่ได้นำกำลังคนเข้าไปตั้งทัพ “ดูเชิง” อยู่ที่วัดพิไชย (หมายถึงวัดพิชัยริมแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกำแพงเมืองฟากทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา)

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มี “ค่ายของจีน” อยู่ที่คลองสวนพลู ซึ่งเป็นย่านคนจีนในกรุงศรีอยุธยา วัดใหญ่ไชยมงคลที่พระยาตากได้รับคำสั่งให้ไปสร้างค่ายนั้นก็อยู่ในบริเวณย่านดังกล่าว

แต่พระยาตากเลือกที่จะไม่ไปเข้าร่วม (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ตัวท็อปของประเทศอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า ค่ายจีนชาวจีนนี้ น่าจะเป็นเครือข่ายของจีนฮกเกี้ยน จึงเป็นคนละกลุ่มกันกับพระยาตาก ซึ่งมีเชื้อสายของจีนแต้จิ๋ว)

ประกอบกับหลังจากที่ยกทัพออกจากกรุงได้ 8 วัน ท่านก็ประหารเจ้าเชียงเงิน (เจ้ามืองเล็กๆ ในเขตเมืองตาก) ที่เดินทางติดตามมา อันแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจในรูปแบบของกษัตริย์ ไม่ใช่เพียงผู้นำทัพเล็กๆ ของอยุธยาเท่านั้น

ร่องรอยต่างๆ เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงอะไรที่ถูกซ่อนเก็บไว้ในใจของพระยาตากในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

 

ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2270 เป็นต้นมา ราชสำนักต้าชิงของจักรวรรดิจีนได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามพ่อค้าเอกชนทำการค้า และห้ามเดินทางออกนอกจักรวรรดิ ที่มีคำสั่งมาตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หมิงเข้าสู่ราชวงศ์ชิง (แมนจู) แล้ว

ในช่วงเวลาดังกล่าว พวกจีนฮกเกี้ยนได้เริ่มอพยพออกมาตั้งถิ่นฐานและครอบครองเครือข่ายการค้าตามเมืองท่าในคาบสมุทรมลายู ในขณะที่พวกกวางตุ้งมักจะอยู่ที่หัวเมืองทางตอนใต้ของเวียดนาม ส่วนชาวแต้จิ๋วมักจะอยู่ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของสยาม โดยมีบางส่วนขึ้นไปตั้งถิ่นฐานแถบหัวเมืองทางตอนเหนือของอยุธยา

บิดาของพระยาตาก (ที่มักเชื่อกันว่าชื่อไหยฮอง แต่ที่จริงน่าจะเป็นชื่อของอำเภอไฮ้ฮงในจังหวัดซัวเถามากกว่า ชื่อจริงๆ ของท่านถ้าเชื่อตามเอกสารจีนน่าจะชื่อต๋า และมาเป็นชื่อไทยว่ายุ้ง เมื่อเข้ามาตั้งรกรากอยู่แถบคลองสวนพลูในอยุธยาแล้ว) เอง ก็คงจะออกมาแสวงโชคในกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาที่ว่านี้ (อันที่จริงแล้วชาวจีนได้เริ่มอพยพเพื่อทำการค้าขายนอกดินแดนของตนเองระลอกใหญ่ตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ.2240 เป็นต้นมา เพียงแต่เป็นการออกมาอย่างผิดกฎหมาย) และย่อมอยู่ในเครือข่ายทางการค้าระหว่างภูมิภาคนี้ด้วย

พระยาตากเองก็เติบโตมาท่ามกลางเครือข่ายการค้าของจีนแต้จิ๋วของบิดาท่าน อย่างที่ว่านี่เอง ซึ่งนี่จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เมื่อสมัยก่อนเข้ารับราชการในกรุงศรีอยุธยานั้น ท่านได้ประกอบกิจการเป็นพ่อค้าเกวียน และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าเมืองตาก ที่ก็เป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของอยุธยา ที่อยู่ในเครือข่ายการค้าของชาวแต้จิ๋วด้วย

 

เมืองจันทบุรีเองก็เติบโตขึ้นด้วยผลกระทบของเครือข่ายการค้าชาวจีนแต้จิ๋วที่ว่านี่ จนกระทั่งได้ขยายเมืองออกมาที่อีกฟากข้างของแม่น้ำจันทบุรี จนเกิดเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่คือชุมชนริมน้ำจันทบุรีเก่าทุกวันนี้ แทนที่ศูนย์กลางแห่งเดิมที่อยู่อีกฟากข้างของแม่น้ำ

ดังนั้น เมืองจันทบุรีและรวมถึงเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกของสยามทั้งหมด จึงเป็นเครือข่ายทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมของพระยาตากเองอยู่แล้ว

และเมื่อขึ้นชื่อว่า “การค้า” แล้ว ย่อมมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในเครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาคเช่นนี้ หมายความว่า ไม่ได้มีเฉพาะพวกจีนแต้จิ๋ว

ในกรณีนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในจำนวนบุคคลสำคัญของกลุ่มพระยาตากยังมีรายชื่อของ “นักองค์โนน” ซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์กัมพูชา ที่ลี้ภัยการเมืองเข้ามาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ.2275-2301)

ซึ่งก็แสดงให้เห็นได้ทั้งว่า พระยาตากอาจจะมีสายสัมพันธ์อยู่กับเจ้านายเขมรพระองค์อื่นๆ หรืออาจจะมีหัวเมืองทางภาคตะวันออกที่กลุ่มเชื้อสายเขมรมีอำนาจอยู่

อย่างไรก็ตาม การที่นักองค์โนนเลือกที่จะหนีออกจากกรุงพร้อมพระยาตาก ก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทรงเห็นว่าพระยาตากเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพระองค์เหนือกว่าขุนศึกคนอื่นๆ ที่หนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

และก็แน่นอนว่า พระองค์อาจจะทรงเล็งเป้าหมายไปถึงการกลับไปยังราชสำนักกัมพูชาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายของพระยาตาก ที่เมืองท่าทางฟากตะวันออกของอยุธยาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แต่กับพวกจีนแต้จิ๋ว โดยเฉพาะเมื่อในพระราชพงศาวดารยังระบุเอาไว้ว่าพระยาตากสามารถพูดภาษาเวียดนามและภาษาลาวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมต้องเป็นเมืองจันทบุรี? เพราะเมื่อพระยาตากได้ฉวยโอกาสที่ทัพของฝ่ายอังวะต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมทัพ จากทัพเรือมาเป็นทัพบก ในช่วงรอยต่อระหว่างที่ฤดูน้ำหลากกำลังจะหมดลง ก็ดูเหมือนว่าท่านได้กำหนดเป้าหมายที่อยู่อย่างแน่วแน่ในใจเรียบร้อยแล้ว

 

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า เคยมีร่องรอยของอุตสาหกรรมการต่อเรือที่สองฟากข้างของแม่น้ำจันทบุรี เป็นระยะทางยาวติดต่อกันถึง 6 กิโลเมตร คือตั้งแต่บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ อันเป็นจุดที่แม่น้ำจันทบุรีไหลลงอ่าวไทย มาจนถึงตัวเมืองจันทบุรีเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้อาจจะเกิดขึ้นจากการที่จันทบุรีมีศักยภาพในการ “ต่อเรือ” ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการมีแหล่งไม้เนื้อแข็ง มีเวิ้งอ่าวหลบพายุ มีน้ำจืด และมีเส้นทางการค้าทางบกลึกเข้าไปในแผ่นดิน

โดยเฉพาะการมีเวิ้งอ่าวหลบพายุนี่แหละครับที่เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะปากแม่น้ำจันทบุรีก่อนไหลลงทะเลนั้น มีลักษณะที่แผ่กว้างเป็นอ่าว คล้ายกับเป็น “ทะเลสาบในแผ่นดิน”

ซึ่งเหมาะสมกับการใช้เป็นสถานที่หลบลมมรสุมเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น จันทบุรีจึงมีทั้งอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมเรือ เช่นในกรณีของอู่เรือเสม็ดงาม หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันในชื่อ “อู่ต่อเรือพระเจ้าตาก” นั้น ก็เป็นอู่ประเภทที่ใช้ซ่อมเรือเสียมากกว่า

เพราะโดยปกติอู่ที่ใช้ในการต่อหรือสร้างเรือขึ้นมานั้นก็มักจะทำกันบนบก ในสถานที่ใกล้แม่น้ำ ในขณะที่อู่เรือเสม็ดงามนั้นอยู่ในอ่าว ที่หลบเข้ามาในแผ่นดิน ซึ่งสามารถนำเรือเข้ามาได้ในช่วงน้ำขึ้นเสียมากกว่า

 

ก่อนเสียกรุงราว 3 เดือน คือในช่วงราวเดือนมกราคมของปี พ.ศ.2309 (ตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.2310 หากนับตามศักราชแบบปัจจุบัน ที่ขึ้นปีใหม่ในเดือนมกราคม ไม่ใช่เมษายน เหมือนปฏิทินแบบเก่า) พระยาตากได้นำสมัครพรรคพวกตีฝ่าวงล้อมของอังวะ แล้วมุ่งสู่จันทบุรี

จนกระทั่งสามารถนำทัพเรือนับร้อยลำที่ได้จากจันทบุรีนั้น ล่องเลียบชายฝั่งอ่าวไทย แล้ววกเข้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอก แล้วขึ้นไปขับไล่ทัพของอังวะที่ค่ายโพธิ์สามต้น นอกเกาะเมืองอยุธยา จนสามารถยึดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งหมดได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของก๊กพระยาตาก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2310

ช่วงเวลาที่พระยาตากนำทัพฝ่าวงล้อมออกไปจากกรุงศรีอยุธยา จนกลับมาขับไล่ทัพของอังวะออกไปจนหมดสิ้นนั้นใช้เวลาเพียงราว 10 เดือนเศษเท่านั้น

เรือที่พระยาตากนำมาจึงไม่ใช่เรือที่ต่อขึ้นใหม่แน่ เพราะไม่มีเวลามากพอขนาดนั้น แต่เป็นเรือที่ถูกจอดอยู่ในอู่เพื่อหลบลมมรสุม หรือจอดซ่อมแซมอยู่เสียมากกว่า

คงจะไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า ในเวลานั้นพระยาตากมีกี่หมื่นร้อยพันเหตุผล ที่ทำให้เลือกเมืองจันทบุรี

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คงเป็นเพื่อไปนำเรือเหล่านี้มาใช้เสริมกำลังทัพ ด้วยเพราะท่านทราบดีถึงปัจจัยสำคัญทางภูมิศาสตร์ของเมืองจันทบุรี ที่พิเศษไปกว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเมืองอื่นๆ นั่นเอง