ในประเทศ : เปิดบันทึก “หน่วยซีล” 24 ช.ม. ก่อนพบ 13 ชีวิต ถ้ำหลวง ตั้ง “บก.ใต้ดิน”

ถือเป็นข่าวดีที่รอมานานกว่า 9 วัน หลัง “ทีมหมูป่าแม่สายอะคาเดมี” 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ทั้งในและต่างประเทศทันที โดยเฉพาะ “Thai Navy SEAL” หรือหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม หลักสูตรฝึกโหดของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ถือเป็นหน่วยแรกที่เข้าทำการค้นหาทั้ง 13 ชีวิต ตั้งแต่ช่วงวันที่ 24-25 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตรนี้มีทั้งผู้ที่มาจากเหล่าทัพอื่นๆ และผู้ที่สมัครใจเข้าฝึก จึงมีทั้งที่ประจำการในกองทัพเรือเองและเหล่าทัพอื่นๆ

การจะเป็น “หน่วยซีล” ได้จะต้องผ่านการฝึกหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือนในการฝึก แบ่งออกเป็น 5 ช่วงคร่าวๆ ได้แก่

1. การแนะนำการฝึกเบื้องต้น ฝึกการออกกำลังกายและการฝ่าอุปสรรคต่างๆ ประมาณ 3 สัปดาห์

2. การฝึกจริง ประมาณ 6 สัปดาห์

3. การฝึกแบบเข้มข้น หรือที่เรียกว่า “สัปดาห์นรก” ใช้เวลา 120 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดพัก

4. การฝึกสอนยุทธวิธีต่างๆ

5. การฝึกยุทธวิธีในสภาพจริง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

ตลอดระยะเวลา 9-10 วันที่ผ่านมาของ “หน่วยซีล” ก่อนพบทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมนั้น กองทัพเรือได้ส่ง “หน่วยซีล” ลงพื้นที่ทั้งหมด 4 ทีม รวม 84 นาย

โดยมี พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ “ผบ.หน่วยซีล” ทำการควบคุมทั้งหมด

 

ย้อนไทม์ไลน์ 24 ชั่วโมง ก่อนพบทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวง “หน่วยซีล” ได้รายงานผลการปฏิบัติงาน วันที่ 1 กรกฎาคม ช่วงเวลา 21.12 น. “หน่วยซีล” ทีมที่ 3, 4, 5 และ 6 ร่วมกับนักดำน้ำชาวอังกฤษ ดำน้ำจากโถง 3 (บริเวณจุดเริ่มดำน้ำ) ไปยัง 3 แยก ในถ้ำหลวง

ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 2 กรกฎาคม กองทัพเรือได้รายงานว่าหน่วยซีลและนักดำน้ำจากหน่วยต่างๆ ได้วางเป้าหมายในการปฏิบัติงานช่วง 09.30-15.00 น. ในการลำเลียงขวดอากาศ 100 ขวด รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุน เช่น Surface Supply, เข็มขัดตะกั่ว, แท่งเรืองแสง (chemical light stick) เป็นต้น ไปไว้ที่โถง 3 โดยใช้นักดำน้ำจากประเทศต่างๆ ในการลำเลียง และจะใช้ขวดอากาศ 100 ขวด ที่นำมาไว้ที่โถง 3 เพื่อดำน้ำต่อระยะไปที่ 3 แยก ซึ่งการลำเลียงขวดอากาศจากปากถ้ำไปยังสู่โถง 3 ระยะทางประมาณ 3 ก.ม. ใช้การลำเลียง 1 คน ต่อ 1 ขวด ใช้เวลาในการลำเลียงประมาณ 1 ช.ม.

พร้อมทั้งดำเนินการ “วางเบสไลน์” จากจุดเริ่มดำน้ำโถง 3 ไปยัง 3 แยกให้เสร็จสิ้น โดยจัด “หน่วยซีล” เป็น 6 ชุด จากนั้นจะทำการส่งนักดำน้ำเข้าสำรวจเส้นทางไป และวางแผนในการเคลื่อนตัวไปยังหาดพัทยาต่อไป

โดยในเวลา 07.00 น. เครื่องอัดอากาศ 7 เครื่อง เครื่องไฟฟ้า 3 เครื่อง เครื่องยนต์ 4 เครื่อง สามารถอัดอากาศได้ 16 ขวดต่อชั่วโมง หลังได้เริ่มอัดอากาศตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม สามารถอัดอากาศแล้ว 175 ขวด

และลำเลียงเข้าไปในถ้ำแล้ว 100 ขวด

 

ต่อมาเวลา 13.30 น. พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสธ.ทร. นำกำลังพล “หน่วยซีล” 20 นาย (ซีลชุดที่ 4) พร้อมขวดอากาศ 200 ขวด, สายปรับกำลังดัน (Regulator) 200 เส้น อุปกรณ์สื่อสาร จากกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ และแท่งเรืองแสง (chemical light stick) จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ 3,500 แท่ง ออกเดินทางจากกองบิน 6 ดอนเมือง โดยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศ มายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ต่อเนื่องมาถึงเวลา 17.30 น. นักดำน้ำ 2 นาย ดำน้ำจากโถง 3 โดยมีขวดอากาศติดตัว 3 ขวด เวลาทำการได้มากกว่า 3 ช.ม. เพื่อสำรวจและวางเบสไลน์ต่อไปจากจุดเดิมที่เลยจาก 3 แยกไปอีก 200 ม. โดยมีเชือกยาว 300 ม. ติดตัวไปด้วย ซึ่งในเวลานั้นคาดการณ์ว่าน่าจะถึง “พัทยาบีช” ถ้าไม่มีอุปสรรคใด

นักดำน้ำอีก 2 นาย ออกเดินทางจากโถง 3 เคลื่อนที่ไปตามเบสไลน์ ต่อจากนักดำน้ำ 2 คนแรก เพื่อวัดระยะวางแท่งเรืองแสงทุกๆ 100 ม. ไปเรื่อยๆ ตามเส้นเบสไลน์ โดยเวลาดำเนินการ 3 ช.ม.

นักดำน้ำอีก 2 นาย ออกเดินทางจากโถง 3 เพื่อวางข่ายโทรศัพท์ลากสาย ห่างจากโถง 3 ระยะ 400 ม. ซึ่งเป็นเนินทราย โดยสามารถตั้งข่ายสื่อสารได้สำเร็จ

จนถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เวลา 21.38 น. นักดำน้ำชาวอังกฤษและหน่วยซีลพบทีมหมูป่าทั้ง 13 คนปลอดภัยดี ที่หาดทราย ห่างจากพัทยาบีช 400 ม. หรือที่เรียกว่า “เนินนมสาว” นั่นเอง

 

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทราบเบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบเด็ก 13 คน เวลา 21.45 น. ซึ่งห่างจากเวลาที่ “นักดำน้ำ” พบเด็กเมื่อเวลา 21.38 น. เพียง 7 นาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการพบเด็กทั้ง 13 คน ด้านนาวาเอกอนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับกรมรบพิเศษ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ที่อยู่ภายในโถง 3 ได้วางแผน แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 ส่งนักดำน้ำ 4 นาย พร้อมอุปกรณ์ดำรงชีพ เพาเวอร์เจล เข้าทำการช่วยเหลือ และพักอาศัยเป็นเพื่อน พร้อมกับสำรวจโครงสร้างภายในให้อยู่ได้โดยปลอดภัย

เฟสที่ 2 ส่งนักดำน้ำพร้อมแพทย์เข้าทำการช่วยเหลือ และปรับสภาพอากาศเข้าไปภายใน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสะดวกสบาย

และเฟสที่ 3 เตรียมส่งอาหารเพิ่มเติม ให้อยู่ได้ 4 เดือนเป็นอย่างน้อย (โดยเป็นการประเมินเบื้องต้นในเวลานั้น) ควบคู่กับการสอนดำน้ำ-ว่ายน้ำให้ทั้ง 13 คน พร้อมกับยังคงดำรงการระบายน้ำในถ้ำตลอดเวลา

วันต่อมา (3 กรกฎาคม) พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. กล่าวถึงแนวทางที่จะนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำหลวงว่า นักดำน้ำกำลังลำเลียงอาหารและส่ง “หมอภาคย์” พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ที่จบหลักสูตรหน่วยซีลมา (อีกทั้งยังจบหลักสูตรจู่โจมแรงเยอร์ เสือคาบดาบ, หลักสูตรรีคอน นักรบเลือดเหล็ก, หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ, หลักสูตรทหารเสือราชินี) พร้อมแพทย์จากกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ เข้าไปหาทั้ง 13 คนแล้ว

โดยการเดินทางจากโถง 3 ไปเนินนมสาว ใช้เวลา 3 ชั่วโมง และกลับออกมาอีก 3 ชั่วโมง

 

อย่างไรก็ตาม “หน่วยซีล” ร่วมกับนักดำน้ำจากต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา-ออสเตรเลีย-จีน นักดำน้ำของตำรวจน้ำ นักดำน้ำอาสาสมัครกู้ภัย และเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเข้าสู่บริเวณที่พบผู้ประสบภัย และใช้โถง 3 ในการตั้งเป็น “กองบัญชาการส่วนหน้า” หรือ “กองบัญชาการใต้ดิน” ในการเข้าให้การช่วยเหลือทั้ง 13 คน เพื่อเป็นพื้นที่เก็บขวดอากาศ อุปกรณ์ดำน้ำ อาหาร (อาหารเหลวประเภทให้พลังงาน หรือเพาเวอร์เจล) เกลือแร่ น้ำดื่ม ยา ผ้าห่มกันหนาวแบบฟอยล์ เพื่อรองรับการเข้าไปนำตัวทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง

ทั้งนี้ “หน่วยซีล” พร้อมนักดำน้ำกู้ภัย-นักดำน้ำต่างประเทศ จะพยายามลำเลียงขวดอากาศไปยังบริเวณโถง 3 ให้ได้มากที่สุด และนำสายโทรศัพท์ไปให้ถึงหาดพัทยาในถ้ำหลวง

อย่างไรก็ตาม จะมี “หน่วยซีล” ดูแลเด็กทั้ง 13 คนที่เนินนมสาว และมี พ.ท.นพ.ภาคย์ร่วมดูแลด้วย โดยในขั้นตอนแรกจะต้องทำการปรับสภาพร่างกาย ตรวจร่างกาย ฟื้นฟูร่างกาย-จิตใจของทั้ง 13 คน พร้อมทั้งให้อาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเป็นอาหารย่อยง่าย พลังงานสูง มีเกลือแร่ ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากร ผบ.หน่วยซีล ได้วางแผนร่วมกันกับ “หน่วยซีล” และฝ่ายต่างๆ เพื่อนำทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวงเมื่อร่างกายของทุกคนแข็งแรงเพียงพอ อีกทั้งวางแผนระบายน้ำในถ้ำให้ลดลงต่ำที่สุด แล้วจึงนำตัวออกมาทาง “ปากถ้ำ”

ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากรระบุว่า หากไม่สามารถนำออกมาได้ ก็จะมีแผนหลักและแผนสำรองต่อไป

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่

โดยมีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจนและกระชับ โดยให้พื้นที่บริหารจัดการเองได้ทั้งหมด

เป็นผลมาจากการ “กระจายอำนาจ” ให้กับผู้ว่าฯ เชียงราย เป็นผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ จึงทำให้การสั่งการไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องมาถึงนายกฯ หรือ รมว.มหาดไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน

จึงเป็นอีกมิติในการบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบใหม่ในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้เต็มที่และรวดเร็ว

ถือเป็นโมเดลที่สำคัญของไทย ที่ต้องนำไป “ถอดบทเรียน” ต่อไป