ศัลยา ประชาชาติ : กสทช. หย่าศึก ทรู-เอไอเอส ปมถ่ายทอดสดบอลโลกผ่าน AIS PLAY

เป็น 2 ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร ซึ่งถือเป็น “ขาประจำ” ที่เปิดหน้าซดกันอยู่บ่อยๆ

รายแรกคือ “เอไอเอส” หมายเลข 1 ตลาดผู้ให้บริการมือถือบ้านเรา อีกรายคือ “ทรู” ที่พรวดๆ แซงหน้า “ดีแทค” ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 และเคยประกาศก้องว่าอนาคตข้างหน้าทรูจะแซงหน้าเอไอเอสให้จงได้

นอกจากมือถือที่เดินหน้าชนกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเอไอเอส-ทรูยังมีธุรกิจและบริการอื่นๆ ที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่เห็นชัดๆ ก็คือทรูบรอดแบนด์ และเอไอเอส ไฟเบอร์ ในตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต

แม้ว่าที่ผ่านมาทรูบรอดแบนด์จะมีผู้ใช้บริการนำโด่งร่วมๆ 4 ล้านราย แต่รู้ดีว่าเอไอเอส ไฟเบอร์ มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้จะ 5 แสนรายเต็มแก่

 

ที่เรียกเสียงฮือฮาสดๆ ร้อนๆ เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อกลุ่มทรู โดย “ทรูวิชั่นส์” แกนนำผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ที่กำลังฟาดแข้งกันอยู่ ยื่นโนติสถึงบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN ในเครือเอไอเอส ผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านกล่องรับสัญญาณทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต “AIS PLAY BOX” และแอพพลิเคชั่น “AIS Play” ให้หยุดการนำสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ออกอากาศผ่านฟรีทีวี ทั้งจากช่อง 5 HD, ช่อง TRUE4U และช่อง Amarin TV HD ไปเผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่น “AIS PLAY”

เนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่บริษัทได้รับจาก FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ)

แต่ก็ไร้เสียงตอบรับ จน “ทรูวิชั่นส์” ต้องยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อ 26 มิถุนายน 2561 และศาลมีคำสั่งให้เอไอเอสยุติแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ผู้ชมที่ใช้แอพพลิเคชั่น AIS PLAY ภายใน 48 ชั่วโมง

สุดท้าย SBN แจ้งกับลูกค้าในวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ว่า ถูก “ทรูวิชั่นส์” ฟ้อง ส่งผลให้ผู้ติดตามฟุตบอลโลกผ่าน “AIS PLAY BOX” รวม 4.5 แสนราย และแอพพลิเคชั่น “AIS Play” อีก 5 ล้านราย ต้องหาช่องทางอื่นๆ เพื่อดูการถ่ายทอดสด

SBN ยืนยันจะใช้สิทธิ์ทางศาลต่อสู้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากบริษัทต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศ Must Carry) โดยเฉพาะ “ฟุตบอลโลก” รอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 7 รายการถ่ายทอดสดที่ต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวี ตามประกาศ กสทช.

 

แทบจะทันทีทันใดหลัง SBN แจ้งระงับการถ่ายทอด “ทรูวิชั่นส์” ก็ออกแถลงว่า ตัวเองต้องยื่นฟ้องต่อศาล เฉพาะการเผยแพร่ผ่าน “AIS PLAY” บนมือถือเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการรับชมผ่านกล่อง “AIS PLAY BOX” แต่อย่างใด เพราะการออกอากาศผ่านแอพพลิเคชั่น จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจาก FIFA และทรูวิชั่นส์ที่เป็นผู้ถือสิทธิ์

ร้อนจน “กสทช.” ต้องเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา และได้ข้อยุติว่า SBN จะเริ่มกลับมาออกอากาศฟุตบอลโลกผ่าน “AIS PLAY BOX” ตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2561 อีกครั้ง

ปัญหานี้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอีกครั้งว่า ขอบเขตของประกาศ Must Carry – Must Have ของ กสทช. กับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ขัดแย้งกัน รวมถึงเป็นต้นเหตุของปัญหาหรือไม่

เรื่องนี้แหล่งข่าวภายใน กสทช.เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัย (บมจ.อาร์เอส ยื่นฟ้อง กสทช. เรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลโลก) แล้วว่า ประกาศของ กสทช. ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ดังนั้น ในการเจรจาเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่เข้าข่ายตามประกาศทั้ง 2 ฉบับ ก็ต้องเจรจาซื้อสิทธิ์มาให้ครอบคลุม

กรณีความครอบคลุมของลิขสิทธิ์ที่ได้จาก FIFA “ทรูวิชั่นส์” ได้ชี้แจงต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ว่า ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอล 2018 แบบ All Rights คือครอบคลุมการออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม ทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี และทีวีออนไลน์

อีกทั้ง “ทรูวิชั่นส์” ยืนยันด้วยว่า การออกอากาศผ่านแอพพลิเคชั่นไม่เข้าข่ายตามประกาศ Must Carry ทำให้ผู้มีสิทธิ์นำสัญญาณภาพไปเผยแพร่ผ่านมือถือหรือแท็บเล็ตต่างๆ จึงมีแค่ “TrueID” แอพพลิเคชั่นของบริษัทในเครือเท่านั้น

“ปัญหาคือ ที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่มีการออกใบอนุญาตเพื่อให้บริการบนแอพพลิเคชั่นที่เป็น OTT (ดูได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก) ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามกฎ Must Carry ซึ่งกรณีบริษัท SBN ของเอไอเอส เป็นการให้บริการบนแพลตฟอร์ม IPTV (ทีวีบนอินเตอร์เน็ต) ซึ่งประกาศ Must Carry ของ กสทช.ครอบคลุมถึง”

เป็นข้อถกเถียงที่ชวนปวดหัวพิลึก

 

แหล่งข่าวในวงการ IPTV เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ IPTV ที่ถูกกฎหมายในประเทศหลายราย อาทิ TOT-IPTV ของ บมจ.ทีโอที LOOX TV ของบริษัทในเครือ บมจ.ไทยคม ซึ่งในทุกการถ่ายทอดสดที่มีบริษัทใหญ่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ก็จะมีหนังสือแจ้งห้ามแพลตฟอร์มอื่นๆ ไปออกอากาศต่อ จึงต้องมีการทำหนังสือสอบถามไปยัง กสทช. ทุกครั้งว่าสามารถนำมาออกอากาศได้หรือไม่ แต่ในกรณีของฟุตบอลโลก 2018 แม้ว่าจะมีหนังสือตอบกลับมา แต่ก็ไม่กล้าเสี่ยง

อย่างกรณีของ SBN ที่เคยทำหนังสือสอบถาม เลขาธิการ กสทช.ตอบกลับมาว่า การนำคอนเทนต์ฟุตบอลโลกไปเผยแพร่จะต้องไม่กระทบสิทธิ์ของ “ทรูวิชั่นส์” ที่ได้รับจากฟีฟ่า หากครั้งนี้ “ทรูวิชั่นส์” ไม่ได้รับสิทธิ์ครอบคลุมถึงการเผยแพร่ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ SBN ก็ไม่สามารถนำช่องรายการฟรีทีวีที่มีการถ่ายทอดสดไปออกอากาศได้ผ่านแอพพลิเคชั่น

เพราะฉะนั้น SBN ต้องประสานกับ “ทรูวิชั่นส์” เพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

“หลายครั้งที่สำนักงาน กสทช. ตอบกลับมา ก็เป็นคนละแนวทางกับมติบอร์ดที่ยืนยันเรื่องสิทธิ์ Must Carry ผู้ประกอบการรายที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่มากก็ไม่อยากเสียเวลาไปต่อสู้ จอดำไปเลยปลอดภัยกว่า”

 

ฟากฝั่งของบอร์ด กสทช. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดกรอบ Must Carry ตั้งแต่เริ่มแรก อธิบายว่า…ขอบเขตใบอนุญาตที่ SBN ได้รับจาก กสทช. ครอบคลุมการให้บริการคอนเทนต์บนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและมือถือ คือทั้งกล่องรับสัญญาณและแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน จึงถือว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ Must Carry ของ กสทช.

บริการลักษณะของ AIS PLAY เป็นแอพพลิเคชั่นที่ต้องดูบนโครงข่ายมือถือที่มาขออนุญาตเท่านั้น กรณีนี้ลูกค้า AIS PLAY จึงได้สิทธิ์คุ้มครองตามประกาศ Must Carry

“ผู้ประกอบการทุกรายมองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น พอตัวเองถือลิขสิทธิ์ก็ไปห้ามคนอื่น พอคนอื่นได้ลิขสิทธิ์ ก็ต้องการนำ (การถ่ายทอดสด) ไปออกอากาศบนเครือข่ายตัวเอง ปัญหาคือ การถ่ายทอดลักษณะนี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ กว่ากระบวนการยืนยันสิทธิ์จะเรียบร้อย การแข่งขันก็จบพอดี”

ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำวินิจฉัยแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ต้องรอให้มีบรรทัดฐานออกมา เพราะต่อไปก็จะมีปัญหาแบบนี้มาเรื่อยๆ

 

แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะกฎ Must Carry เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และข้อเทคนิคที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ยากจะเข้าใจ

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่บรรดายักษ์ใหญ่ชนกัน

มักนำผู้ใช้บริการไปเป็นตัวประกันทุกทีไป