เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ : “ยังบลัด” รวมพลังประชาชาติไทย “รปช.” ไม่ทิ้ง “คนรุ่นเก่า” ไว้ข้างหลัง

ข้อความ “ฝนตกน้ำตาไหล” พาดภาพหลั่งน้ำตา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ บนปกมติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 8-14 มิถุนายน 2561 โฟกัสไปยัง “ลุงกำนัน” ของมวลมหาประชาชน กปปส. ผู้ชัตดาวน์ กทม. ปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 คืนคำ “ร่ำไห้-ตระบัดสัตย์” หวนคืนถนนการเมือง ควงคู่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” กลายเป็นสองแกนนำหลักตั้งพรรค “รวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช.” ที่ศาลาดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา

พร้อมด้วยหนุ่ม-สาวหน้าใส พลังขับเคลื่อน รปช. ทีมงานคนรุ่นใหม่ สปอตไลต์ฉายจับ คงหนีไม่พ้นนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ หรือ “เขต” ที่นอกจากจะเป็น “ทายาทหัวแก้วหัวแหวน” ของนายเอนกแล้ว บทบาทใน รปช. ที่ได้รับมอบหมายทั้งโฆษกพรรค – คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสโมสรผู้นำเยาวชนพรรค – ฝ่ายอำนวยการพรรค ก็จัดอยู่ในระดับ “คีย์แมน” คนสำคัญ

ในฐานะ “เลือดใหม่” ที่ควรได้รับการจับตามอง

แม้เขตรัฐ วัย 29 ปี อาจดู “ละอ่อน” ทางการเมือง แต่หากลองพิจารณา “ดีกรี” ก็จะพบว่าไม่ธรรมดา จบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากสาธิตจุฬาฯ รุ่น 42 ก่อนลัดฟ้าไปต่อ public school ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา พ่วงด้วยปริญาตรีด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมมอนเวลต์ และปริญญาโทด้านการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหนานไค เมืองเทียนสิน ประเทศจีน

“ระหว่างเรียนเศรษฐศาสตร์ที่จีน ก็พบอะไรบางอย่างที่มันแปลกกว่าคนอื่นเขา จีนไปเอาระบบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมของสหภาพโซเวียตรัสเซียมา แต่ทีนี้จีนไม่ได้เอามาทั้งดุ้น เอามาแล้วปรับใช้จนเป็นลักษณะของจีนแล้วใช้ได้ผล ไม่ต้องลบล้างอะไร สร้างขึ้นใหม่จากพื้นฐานสิ่งเดิมที่เขามี แล้วเหมาะกับคนของเขา” เขตเล่าถึงมุมมองที่พบจากประสบการณ์ในต่างแดน

เขาเล่าว่า นี่เป็นจุดเปิดแรกที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นเรื่องดี ถ้าเราจะดึงมาใช้ ทำไมดึงในสิ่งที่มันใช้ได้ ทำไมจะต้องดึงมาหมดทั้งดุ้น ของเดิมเรายังมีอยู่ เราจะสร้างจากศูนย์ได้ยังไง

จนราวต้นปี 2561 เขตรัฐมีโอกาสได้พบ “คนกลุ่มหนึ่ง” ที่มีอุดมการณ์และเจตนารมณ์ต้องการปฏิรูปแบบนี้ แม้ตะขิดตะขวงใจ แต่เมื่อได้รับคำอธิบายก็ทำให้มั่นใจถึงขนาดตัดสินใจลาออกจากการเป็น “นักการศึกษา” คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมุ่งมั่นทำพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว

เขตเล่าถึงนาททีพบปะ “ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง” โดยเลียนเสียงเข้มให้เห็นภาพว่า “เขต เขตคิดแบบนี้ไม่ถูกนะ เกิดเขตพูดแบบนี้ออกไป จะกลายเป็นว่าเขตทิ้งคนรุ่นเก่า ทิ้งชาวบ้านธรรมดา ที่เขาจะไม่เข้าใจว่าเขตพูดอะไร เขตจะกลายเป็นทิ้งคนจำนวนหนึ่งเอาไว้ เขตทำแบบนี้ไม่ได้นะ”

เขายอมรับว่าถ้อยคำเหล่านี้ทำให้สะอึก แล้วทำให้ทบทวนตัวเองว่า ตนมองโลกจากประสบการณ์ของเราอย่างเดียว เหมือน “ม้าลำปาง” แต่คำแนะนำและประสบการณ์ของท่านทั้งหลาย จากที่มองแคบก็ทำให้มองกว้างขึ้น

ตั้งคำถามว่า เรากำลังทิ้งใครหรือไม่ ก็ทำให้เกิดการมองโลกทัศน์ใหม่

ต่อข้อสังสัย นายสุเทพจะมาครอบงำ รปช. ใช่หรือไม่ เขตรัฐอธิบายว่า ผู้ใหญ่คนที่คิดจะมาครอบงำพรรรคที่ไหนจะเข้ามานั่งอ่านคำต่อคำในเว็บไซต์กัน 4 ชั่วโมง จะมีใครทำงานหนักขนาดนี้ แต่พยายามใช้ประสบการณ์มาทำให้การสื่อสารได้ถึงประชาชนจริงๆ

“ผมชอบอุดมการณ์ รปช. ข้อ 4 ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน ก็เพราะเรามีการต่อสู้กันมาหลายยุคหลายสมัย ไล่ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ก็เกิดการสูญเสีย 6 ตุลาฯ ก็เกิดการสูญเสีย พฤษภาทมิฬก็เกิดการสูญเสีย ชุมนุมปี 2557 ก็เกิดการสูญเสีย การต่อสู้แต่ละครั้ง องค์ความคิดก็ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ” โฆษก รปช. อภิปรายถึงสภาพการเมืองไทย

ก่อนถอดบทเรียนว่า ม็อบไม่ได้ผล ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เราหยุดเขาได้เพียงพักเดียวเดี๋ยวก็กลับมาอีก อยู่บนท้องถนนมีความเสียหายเยอะ พี่น้องประชาชนเสียชีวิตมามากพอแล้ว ฉะนั้น เราต้องกลับเข้ามาอยู่ในระบบรัฐสภา จึงหวังว่าจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ยกระดับการต่อสู้ขึ้นมาใหม่ ให้มีพรรคการเมืองโดยเป็นสถาบันของประชาชนที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า เราเอาทุกคน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าผมจะเดินไปข้างหน้า ผมก็จะจูงมือคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายไปด้วย ผมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พรรคของเราจะร่วมสมัย เราจะคิดว่าเราทันสมัย แล้วคนอื่นล้าหลังไม่ได้ เราต้องพาทุกคนไปด้วย นี่คือประเทศไทย ไม่ใช่ตะวันตกนิยมจ๋า แต่ต้องมีพื้นฐานความเป็นไทย คุณจะก้าวไปข้างหน้า แล้วทิ้งคุณพ่อ คุณแม่ไว้ข้างหลังได้อย่างไร ไม่ได้ พาพวกท่านไปด้วย”

สําหรับกลไก “โรงเรียนการเมือง” ประธานสโมสรเยาวชน รปช. เล่าว่า ประธานคือนายเอนก ที่ทำเรื่องปรองดองมาแต่ไหนแต่ไร ก็จะปลูกฝังเรื่องพวกนี้แก่เยาวชน ให้ทำ ไม่ด่า ไม่ทะเลาะกับใคร แล้วก็จะใช้ประสบการณ์จากคนอีกหลายๆ ท่านที่ช่ำชอง เก่งกฎหมาย ให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อะไรควร อะไรไม่ควร

“คนที่เก่งเรื่องการเมืองเองแบบลุงกำนัน จะมาเล่าให้ฟังว่า การเมืองจริงๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ไม่ได้เหมือนตามหน้าหนังสือพิมพ์ มันมีอะไรที่เป็นโครงสร้างเก่าแก่ หากคุณต้องการจะเปลี่ยนโดยไม่เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่ คุณจะเข้าใจมันได้อย่างไร ซึ่งสำคัญมาก”

“บทบาทของผู้ใหญ่คือ มาสอนเรา สอนเด็กคนรุ่นใหม่ เพราะถึงเวลาที่เขาจะช่วยยกคนรุ่นเราให้พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศใน 5-10 ปีข้างหน้า”

ยังบลัด รปช. ทิ้งท้าย