สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เยือน ILOILO ฟิลิปปินส์ เยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ตอนที่ 3

สมหมาย ปาริจฉัตต์

โรงเรียนพื้นที่แห่งความปลอดภัย

อรุณรุ่งวันใหม่ ยามเช้าที่ ILOILO อากาศสดชื่นแจ่มใส ท้องฟ้าโปร่ง ลมโชยพัดเย็นสบาย ฟิลิปปินโนหนุ่มสาววัยทำงาน สาวเท้าออกจากบ้านทยอยกันสู่ท้องถนน จุดหมายท่าจอดรถจิ๊ปนี่ย์ริมถนนใหญ่ รอรับผู้โดยสารเต็มคันก่อนทะยานตัวออกไปส่งตามเส้นทางชีวิตของใครของมัน

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รอผู้นำทางพาไปโรงเรียนมัธยมคานิงกัน ของครู ดร.เฮซุส อินสิลาดา ผู้สร้างการเรียนรู้แบบองค์รวมบนวิถีทางวัฒนธรรม และนักประพันธ์ผู้ปลูกความภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น ตั้งอยู่ไกลในเขตชนบทนอกเมืองอิโลอิโล ต้องใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษ

ตรวจสอบสภาพอากาศ สภาพการจราจร ความเป็นไปของบ้านเมือง ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งที่ข่าวเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จากอาชญากรรมพื้นฐานจนถึงภัยคุกคามยุคใหม่การโจมตีทางไซเบอร์ ผลพวงจากเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อเร็วๆ นี้คณะผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประกันและการบริการทางการเงินออกคำเตือนสถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้ระวังป้องกันการโจมตีระบบการเงิน

 

แหล่งเช็กข้อมูล มนุษย์ยุคสังคมก้มหน้า นอกจากกดมือถือแล้ว ที่สะดวกสุดหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ เป็นกระจกส่องความเป็นไปในทุกด้านของสังคมได้ดี ฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษยังพิมพ์จำหน่ายเป็นที่นิยมหลายต่อหลายฉบับ ทั้งระดับชาติ Manila Bulletin จนถึงระดับจังหวัด และเมืองต่างๆ อย่าง Panay News และ CEBU DAILY NEWS ที่ชูคำขวัญชวนคนอ่านด้วยวลีว่า Read more Know more

รายงานเหตุการณ์ข่าวสารประจำวัน จนถึงประกาศขายสินค้าหลากหลาย โฆษณาด้านการศึกษากระจายอยู่ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าใน ธุรกิจการศึกษาเอกชนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามขยายการศึกษาให้กว้างขวางขึ้นก็ตาม

Manila Bulletin ฉบับวันจันทร์ 2 เมษายน ลงประกาศรณรงค์ต่อต้านการหย่าร้างขององค์กรคัดค้านการหย่าร้างเกือบ 100 องค์กร เต็มหน้า

สะท้อนภาพความเคร่งครัดทางศาสนาของพี่น้องชาวฟิลิปปินส์ เรียกร้องการส่งเสริมสถาบันครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญของสังคม ต้องได้รับการส่งเสริม ปกป้องคุ้มครองโดยรัฐอย่างเข้มแข็ง

พลิกไปที่ THE DAILY GUARDIAN นอกจากโฆษณาการศึกษาขึ้นหน้าหนึ่ง สถานศึกษาระดับไฮสคูลจนถึงมหาวิทยาลัย มีหลักสูตรให้เลือกทั้ง Education, Criminology, Information Technology, Marine Engineering, Hotel Restaurant Management แล้ว

หน้าโฆษณาย่อยลงล้อมกรอบโฆษณา 3 ชิ้นติดๆ กัน เตะตา ชวนติดตามน่าไปดูการบริหารลูกค้า NUAT THAI Thai Royale Spa นวดแผนโบราณไทยเป็นสินค้าส่งออกระดับอินเตอร์ไปแล้วในทุกทวีปทั่วโลก

ขณะที่การส่งออกแรงงานโดยเฉพาะแม่บ้าน ฟิลิปปินส์ยังครองส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่า เหตุสำคัญเพราะความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดี

ถึงเวลาเดินทาง รถพาคณะออกนอกเมืองมุ่งสู่โรงเรียน Caningan National High School สองข้างทาง บ้าน ท้องทุ่งนาข้าวเขียวขจี สวนต้นไม้นานาชนิด มะพร้าว กล้วย ไผ่ มะละกอ ฯลฯ ครึ้ม ที่อยู่อาศัยจากบ้านอิฐฉาบปูน สลับด้วยเรือนไม้แบบชุมชนเดิมปรากฏเป็นระยะ ทำให้นึกถึงช่องว่างระหว่างคนเมืองกับชนบท ความสะดวกสบายกับการใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ด กับการใช้แรงงานคนขุดถนนแทนเครื่องจักร เพื่อให้คนมีงานทำ มีรายได้ มีให้เห็นเป็นวิถีปกติตามสภาพสังคมเกษตรเช่นเดียวกับบ้านเรา

ผ่านเมือง Lambunoa มีโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ นักเรียน 5,000 คนเดินกันขวักไขว่ จนมาถึงหน้าโรงเรียนมัธยมคานิงกัน ตำรวจหลายนายยืนสะพายปืนเอ็ม 16 รักษาความปลอดภัยนอกประตูโรงเรียน ส่งยิ้มให้กับคณะผู้มาเยือนทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนที่จบการศึกษาหลายร้อยคนยืนเรียงแถวยาวเหยียดรอเวลาเข้าสู่หอประชุมเพื่อร่วมพิธีสำคัญวันนั้น

โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่คนชาติพันธุ์ Panay bugidnon คนพื้นเมืองเดิมของเกาะ พูดภาษา Kinaray-a ตั้งได้ไม่ถึงสิบปี สอนชั้นมัธยมตอนต้น (Junior high school) ถึงเกรด 10 และมัธยมปลาย (senior high school) ถึงเกรด 12 มีนักเรียนกว่า 1,000 คน ชาย 604 คน หญิง 525 คน ครูหญิง 28 คน ชาย 9 คน ฟิลิปปินส์เพิ่งขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 10 เป็น 12 ปีเมื่อปี 2556 ปีนี้เพิ่งมีนักเรียนจบเกรด 12 เป็นครั้งแรก

วันนั้นไม่มีการเรียนการสอนเพราะเป็นวันแจกประกาศนียบัตรนักเรียนที่เรียนจบทั้งเกรด 10 และเกรด 12 โรงเรียนให้เกียรติคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมแจกประกาศนีบัตรให้นักเรียนทุกคนทั้งสองระดับ

 

ด้านในรั้วโรงเรียนเขียนข้อความ โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ติดไว้ให้อ่านชัดเจน เหมือนจะเตือนผู้ที่คิดเข้ามาก่อความวุ่นวาย รุนแรง หรือเตือนคนที่อยู่ในโรงเรียนโดยเฉพาะครู ผู้บริหารด้วยหรือไม่ ให้คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องทำโรงเรียน ห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน

โดยการเปลี่ยนพื้นที่แห่งความหวาดกลัว ไม่อยากมาโรงเรียน ไม่อยากเข้าห้องเรียนเพราะกลัวครูดุ ครูว่า มาเป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย ความรัก ความเอื้ออาทร เหมือนนักเรียนคือลูกหลาน

ทุกคนทั้งฝ่ายเจ้าภาพ ผู้บริหารเทศบาล ผู้แทนชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการที่เดินทางมากับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ รวมหลายร้อยคนเต็มห้องประชุม พิธีการเริ่มต้นด้วยเพลงชาติฟิลิปปินส์

จบลง พิธีกรเชิญ ดร.เฮซุสกล่าวแนะนำคณะแขกผู้มาเยือนและผู้แสดงปัจฉิมกถากับนักเรียนที่กำลังรอรับประกาศนียบัตร

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประวัติการศึกษา การทำงานในแวดวงการศึกษาและราชการไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจฉิมกถาว่าอย่างไร พิธีการแจกประกาศนียบัตรโดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคนขึ้นรับใบประกาศนียบัตรเดียวกันด้วย สะท้อนอะไร

และผู้แทนนักเรียนหญิงตัวน้อยกล่าวตอบขอบคุณครูของเขาทุกคน ด้วยสำนวนลีลาน่าฟัง กินใจแค่ไหน ต้องติดตาม