จิตต์สุภา ฉิน : “โทรศัพท์มือถือ” ลูกอีกคนในครอบครัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

หากซู่ชิงมีคำสามคำให้คุณผู้อ่านลองเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องออกมาเป็นเรื่องราวหนึ่งเรื่อง โดยสามคำที่ว่าคือ “พ่อแม่ สมาร์ตโฟน ลูก” เรื่องแรกที่แว้บเข้ามาในหัวคืออะไรคะ

ถ้าให้เดา เชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเชื่อมโยงเรื่องออกมาทำนองว่า “พ่อแม่เป็นห่วงลูกติดสมาร์ตโฟน” หรือ “พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยสมาร์ตโฟน” ใช่หรือเปล่าคะ

เพราะอันที่จริงแล้วนี่ก็เป็นปัญหาที่ชวนปวดหัวมากจริงๆ

เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซู่ชิงมักจะเห็นเพื่อนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ยื่นแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนให้ลูกเปิดดูยูทูบหรือเล่นเกมทันทีที่หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ในร้านอาหาร

หลายครั้งเด็กอยู่กับสมาร์ตโฟนตั้งแต่พ่อแม่เริ่มต้นสั่งอาหารไปจนถึงเช็กบิล โดยที่ปากก็อ้าให้แม่ป้อนข้าวแล้วเคี้ยวหยับๆ เป็นระยะๆ แต่สายตานั้นจ้องเขม็งไม่ละไปจากจอตรงหน้าแม้แต่วินาทีเดียว

พูดกันตรงๆ ซู่ชิงก็พอจะเข้าใจนะคะ ว่านี่คือวิธีที่ได้ผลที่สุดที่จะทำให้เด็กสงบนิ่ง ไม่ส่งเสียงดังรบกวนโต๊ะข้างๆ

และทำให้ประสบการณ์การกินอาหารนอกบ้านของคุณพ่อคุณแม่รื่นรมย์ขึ้นเยอะ

อันนี้แยกเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นวางกองไว้ข้างๆ ก่อน แค่อยากจะบอกว่าเข้าใจจริงๆ ค่ะ

 

ส่วนสิ่งที่ซู่ชิงตั้งใจจะสื่อสารในบทความชิ้นนี้จากคำสามคำที่ให้ไว้ข้างต้นก็ไม่ได้แตกต่างจากเรื่องที่ปูพื้นมาสักเท่าไหร่ค่ะ แค่สลับตัวละครกันเท่านั้นเอง

เพราะตอนนี้เด็กๆ ต่างหากที่เป็นฝ่ายเริ่มกังวลแล้วว่าพ่อแม่ของพวกเขากำลังติดโทรศัพท์มือถือมากเกินไป!

เราจะไม่พูดถึงการติดสมาร์ตโฟนจนละเลยเรื่องความปลอดภัยของลูก ปล่อยให้ลูกคลาดสายตาจนเกิดอุบัติเหตุที่น่าเศร้านะคะ เพราะเรื่องนี้มันแน่นอนอยู่แล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น

แต่มีผลวิจัยจำนวนไม่น้อยด้วยเหมือนกันที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่พ่อแม่ติดโทรศัพท์มือถือว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ลบ

มีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ช้า

เวลาพ่อแม่จ้องแต่โทรศัพท์มือถือทั้งที่นั่งอยู่ข้างๆ กัน ก็จะทำให้ลูกคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ และเกิดความรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแย่งความสนใจของพ่อแม่คืนมาจากมือถือให้ได้

ผลการวิจัยโดยเอวีจี เทคโนโลยีส์ ที่ทำการสำรวจเด็ก 6,000 คน อายุตั้งแต่ 8-13 ปี ในประเทศบราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กถึง 32 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าตัวเองไร้ความสำคัญเวลาที่เห็นพ่อแม่จ้องแต่โทรศัพท์ในมือ

จนตัวเองต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ และเด็กมากกว่าครึ่งบอกว่าพ่อแม่ของตัวเองใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป

 

ในสถานการณ์เดียวกันของการไปกินข้าวนอกบ้าน หากกลับบทบาทกัน โดยที่พ่อแม่เป็นคนหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาเล่นในระหว่างมื้ออาหารบ้าง ผลวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะงอแงและส่งเสียงดัง ซึ่งก็คงเป็นเพราะต้องการให้พ่อแม่หันมาสนใจตัวเองบ้างนั่นแหละ และหากพ่อแม่ที่กำลังติดมือถืองอมแงมนั้นแสดงอาการหงุดหงิดอารมณ์ร้อนให้เห็น ก็จะยิ่งนำไปสู่การที่ลูกจะมีพฤติกรรมที่แย่ลงเรื่อยๆ อีกด้วย

เมื่อสัมภาษณ์เด็กอายุตั้งแต่ 4-18 ปีกว่า 1,000 คน ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างเวลาที่เห็นพ่อแม่ใช้โทรศัพท์มือถือ เด็กหลายคนตอบว่าพวกเขารู้สึก “เศร้า โกรธ โมโห และเหงา”

แถมมีเด็กบางคนยอมรับด้วยนะคะว่าเคยทำลายหรือเอาโทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ไปซ่อน

เรื่องนี้ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาที่แก้ยากเย็นอะไร

เราก็เป็นผู้ใหญ่โตๆ กันแล้ว ถ้าเราไม่อยากให้เด็กมีปัญหาทางด้านอารมณ์ที่เกิดมาจากการที่พ่อแม่ใช้มือถือมากเกินไป

เราก็แค่ลด ละ เลิก ก็น่าจะพอจริงไหมคะ แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

เพราะพ่อแม่จำนวนมากไม่ยอมรับว่าตัวเองติดมือถือเสียด้วยซ้ำ

 

ผลการสำรวจจากคอมมอนเซนส์มีเดีย และเซอร์เวย์มังกี้ พบว่าในบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหมด 4,000 คนนั้น มี 47 เปอร์เซ็นต์บอกว่าตัวเองเป็นห่วงว่าลูกจะติดสมาร์ตโฟน

แต่มีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยอมรับว่าตัวเองก็ติดสมาร์ตโฟนด้วยเหมือนกัน

ซึ่งอันที่จริงแล้วจะแปลว่าพ่อแม่ 68% ไม่ติดสมาร์ตโฟนก็ได้ หรืออาจจะแปลว่ามัวแต่ห่วงลูกว่าใช้โทรศัพท์มากเกินไปจนลืมสังเกตว่าตัวเองก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบ่อยไม่แพ้กันก็ได้ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผลการสำรวจครั้งนี้ไม่ได้ระบุเอาไว้ด้วยค่ะ

ไม่ยอมรับว่าตัวเองติดก็เป็นปัญหาหนึ่ง ยอมรับว่าติดแล้วและพร้อมจะแก้แต่แก้ไม่ได้ก็อีกปัญหาหนึ่งนะคะ

คนติดมือถือจะรู้ดีว่าความรู้สึกมันช่างว่างเปล่าเสียเหลือเกินเวลาที่ไม่มีโทรศัพท์อยู่ในมือ จะไปไหน ทำอะไร เจอใคร ก็ดูเคอะเขินไปเสียหมด

จนล่าสุดแอปเปิ้ลต้องออกฟีเจอร์ใหม่มาช่วยจำกัดการใช้มือถือให้อีกแรง คือฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า “สกรีนไทม์” ในระบบปฏิบัติการไอโอเอส 12

โดยฟีเจอร์นี้จะรายงานให้เราได้รู้อย่างละเอียด ว่าเราใช้มือถือเป็นระยะเวลานานแค่ไหนในแต่ละวัน เวลาหมดไปกับแอพพ์ไหนบ้าง จัดอันดับตั้งแต่สูงสุดไปหาต่ำสุด

และผู้ใช้งานก็ยังตั้งค่าได้ว่าจะจำกัดเวลาการใช้แต่ละแอพพ์ให้เหลือแค่ไหน ถ้าใช้จนครบโควต้าที่ตั้งไว้แล้ว แอพพ์ก็จะขึ้นรูปนาฬิกาทรายมาเตือน พร้อมเปลี่ยนหน้าแอพพ์ให้เป็นสีเทา

จะดื้อกดเล่นต่อก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ สีเทาที่เห็นก็จะทำให้รู้ตัวว่าใช้มือถือมานานเกินไปแล้ว และถ้าไม่อยากผิดสัญญากับตัวเองก็จงเก็บมันกลับเข้ากระเป๋าเสียแต่โดยดี

 

กลับมาที่ปัญหาพ่อแม่ติดสมาร์ตโฟน เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อแม่สนใจแต่โทรศัพท์ตัวเองทั้งที่ลูกนั่งอยู่ด้วยกันข้างๆ มันคือการส่งสัญญาณให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาไม่มีความสำคัญ ไม่มีความน่าสนใจ เท่ากับสิ่งที่พ่อแม่ถืออยู่ในมือ

อันที่จริงไม่ต้องพูดถึงเด็กๆ อย่างเดียวก็ได้ค่ะ

เราออกไปข้างนอกกับเพื่อน กับแฟน เรายังหงุดหงิดเลยเวลาที่อีกฝ่ายหยิบมือถือขึ้นมากดๆ ไถๆ ปาดๆ อะไรก็ไม่รู้ที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องด่วนแน่ๆ

และเราเองก็ยังเกิดความรู้สึกเลยว่า เอ๊ะ หรือว่าเราน่าเบื่อจนเขาไม่อยากจะคุยด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะแตะโทรศัพท์มือถือต่อหน้าลูกไม่ได้เลยนะคะ ถ้าเป็นเรื่องด่วน เรื่องสำคัญ เรื่องที่มีความจำเป็นต้องการการตอบกลับก็ไม่มีปัญหาอะไรเลยค่ะ แต่ทำให้รวดเร็ว แล้วก็กลับมาใช้เวลากับลูก เพราะเด็กๆ จะเติบโตได้อย่างเต็มคุณภาพถ้าหากได้รับความสนใจและความรักจากพ่อแม่อย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ ส่วนการดูหน้าจอก็อาจจะเก็บไว้เป็นความบันเทิงที่ทำในเวลาส่วนตัวที่อยู่คนเดียวน่าจะดีกว่า

เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานะเฟซบุ๊กของเพื่อน คลิปไวรัลสุดฉาว หรือข่าวกอสซิปดารา คงไม่มีอันไหนเลยที่สำคัญไปกว่าลูก จริงไหมคะ