บทวิเคราะห์ : รัฐบาลแห่งชาติ ไอเดีย “เอนก” แห่ง รปช. “อิมพอสซิเบิล” พรรคการเมือง?

ข้อเสนอการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ถูกโยนหินขึ้นมาถามทางให้ฝ่ายการเมืองได้แสดงจุดยืนกันอีกครั้ง กับสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในห้วงนับถอยหลังเข้าสู่โรดแม็ปการเลือก ส.ส. ตามโรดแม็ปของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำหนดไว้ในห้วงเดือน “กุมภาพันธ์ 2562”

ไอเดียการตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ถูกเสนอออกมาในครั้งนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน

มาจาก “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ที่เปลี่ยนจากการสวมหมวกนักวิชาการ รวมทั้งประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง

มาสวมหมวกเป็นหนึ่งในแกนนำที่ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

แน่นอน เมื่อข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มาในห้วงเวลาที่ “เอนก” ร่วมเป็นหนึ่งในการก่อตั้งพรรค รปช. ร่วมกับ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ที่ยอมหลั่งน้ำตาอีกครั้ง ขอตระบัดสัตย์ต่อพี่น้องกลุ่ม กปปส. หวนคืนสู่สนามการเมืองนั่งเป็นกุนซือให้พรรค รปช.

เสียงตอบรับจากบรรดาพรรคการเมือง รวมทั้งผู้มีอำนาจอย่างรัฐบาลและ คสช. จึงออกไปในทิศทางเดียวกันว่า “อิมพอสซิเบิล”

หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ในห้วงเวลานี้

แม้จะมาจากการวิเคราะห์ทางการเมืองของ “เอนก” ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงเข้าไปในสภาหลายพรรค กระจัดกระจายไม่ต่ำกว่า 10 พรรค

จึงเป็นโอกาสของทุกพรรคที่จะมีโอกาสได้เข้าไปทำงาน

เชื่อว่ารัฐบาลในสมัยหน้าจะต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และไม่มีทางที่พรรคการเมืองเดียวจะตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะการเลือกตั้งแบบนี้ไม่มีพรรคใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จึงต้องพยายามประนีประนอมรอมชอมรวบรวมเก้าอี้ให้ได้มากที่สุด

ส่วนความเห็นแย้งของอดีตแกนนำ กปปส. ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะไม่ร่วมงานกับคนในเครือข่ายระบบทักษิณ ซึ่งหมายรวมถึง “พรรคเพื่อไทย” ด้วยนั้น

นายเอนกขอยืนยันในจุดยืนการทำงานของรัฐบาลแห่งชาติในมุมมองของเขาว่า ระบบทักษิณหมายถึงอะไร หากหมายถึงอะไรที่ผิดกฎหมายไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถทำงานด้วยได้ แต่หากกับพรรคเพื่อไทยที่ตั้งต้น ณ เวลานี้ ยังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดพลาดเลย ก็ไม่ถือว่าเป็นศัตรูโดยกำเนิด และจะต้องดูท่าทีกันต่อไป เพราะไม่ควรผูกใจเจ็บเป็นศัตรูกันเหมือนกรณีเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เพราะสุดท้าย ณ วันหนึ่งจำเป็นที่จะต้องลืมและให้อภัยกัน แต่ย้ำว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย

พร้อมกันนี้เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ยังกล้าที่จะเสนอให้มีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขเพื่อปลดล็อกความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมากว่า 12 ปี ให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริงเสียที

เพราะเจ้าตัวมีความเชื่อว่า ทุกคนล้วนแต่ต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกที่ในประเทศจะมีการแบ่งกันเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย

แม้เจตนาและเป้าหมายของ “เอนก” ทั้งเรื่องรัฐบาลแห่งชาติและการนิรโทษกรรม เพื่อนำบ้านเมืองไปสู่ความปรองดอง ในทางทฤษฎีถือว่าดี แทบจะไม่มีเสียงค้าน

แต่ในทางปฏิบัติต้องไม่ลืมว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังเป็นบันไดให้คู่ขัดแย้งก้าวลงมาจากความขัดแย้ง จะเป็นหนึ่งชนวนเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำมาซึ่ง “คสช.” ต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ของประเทศมากว่า 4 ปีแล้ว

ยิ่งจุดยืนของคู่ขัดแย้งหลักๆ ทางการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นแนวร่วม กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีกลุ่ม กปปส. เป็นพันธมิตร ในเรื่องรัฐบาลแห่งชาติและการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังหาจุดร่วมกันไม่ได้

โอกาสที่จะสำเร็จคงจะเกิดขึ้นยาก

โดย “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โยนข้อเสนอดังกล่าวกลับไปยัง “เอนก” ในแนวทางว่าไปหาข้อสรุปให้ตกผลึกกันในพรรค รปช. ให้ได้ก่อนว่า “กลุ่มคนที่ไปทำพรรค รปช. ส่วนใหญ่บอกว่าผลักดันการปฏิรูป และสู้กับระบบทักษิณ แต่นายเอนกพูดเสมอว่าจะทำพรรคแบบลืมอดีต แต่ตอนนี้ท่าทีของนายเอนกบอกว่าพร้อมจะจับมือกับทุกพรรค พร้อมลืมอดีต และพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าในการทำงานของนายเอนกที่ผ่านมาหลายสถานะ ได้เสนอความคิดทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว ฉะนั้นก็อยู่ที่สมาชิก รปช. เองว่าเห็นด้วยหรือไม่ และการที่จะทำเรื่องนิรโทษกรรมหรือปรองดอง มันสลายขั้วหรือกลุ่มการเมืองจริงหรือไม่ ผมสนับสนุนให้นิรโทษกรรมคดีของประชาชนเล็กน้อย แต่ในเรื่องของบางคดีถ้าเรานิรโทษกรรมเหมือนกับเรากำลังส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรง”

ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ขอเข้าร่วมนั่งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ เพราะรับไม่ได้กับกติกาทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและองค์กรอิสระที่จะต้องใช้ช่องทางการทำประชามติถามความคิดเห็นของประชาชนว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง หากพรรค พท. ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา

อีกทั้งพรรค พท. ยังไม่เห็นด้วยกับการที่จะมาร่วมเป็นรัฐบาลแห่งชาติ โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบเหมือนกับรัฐบาลปกติ ที่มีพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ หากเป็นตามข้อเสนอของ “เอนก” รัฐบาลแห่งชาติคงจะมีสถานะไม่ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกวิจารณ์ว่าอยู่เหนือการตรวจสอบ

เพราะกลไกการตรวจสอบที่มีอยู่ทำหน้าที่เหมือนตาม “ใบสั่ง” จับต้องอะไรไม่ได้

เพราะแม้แต่คนใน คสช. เอง อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมองข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติในครั้งนี้เหมือนกับว่า “มาผิดที่ ผิดเวลา”

โดย “บิ๊กป้อม” มองว่าเรื่องรัฐบาลแห่งชาติและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมควรเป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการจะเหมาะสมกว่า

นอกเสียจากมีปัจจัยและสัญญาณที่พรรคการเมืองทุกพรรคยากที่จะปฏิเสธข้อเสนอของ “เอนก” รัฐบาลแห่งชาติจึงจะไปสู่คำว่า “มิชชั่น คอมพลีต” ได้