จากมารดา “ธงทอง จันทรางศุ” กับงานเขียน “แม่คุยกับลูก” : ลูกมีพื้นฐานจิตใจที่ดี

แม่คุยกับลูก (4)

คลิกย้อนอ่าน (ตอน 3)

วันนี้อยากจะขอพูดถึงยุ้ยกับหน่าต่ออีกหน่อย เพราะยังมีเรื่องอยากจะคุยด้วย

ถ้ายังไม่ได้พูดจนจบก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่แล้วใจตามประสาคนแก่

พูดถึงยุ้ยกับหน่า แม่ก็ยังรู้สึกว่ามีบุญอยู่อย่างหนึ่งที่มีลูกที่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี

นี่พูดอย่างไม่ได้ยอลูกตัวเอง

บางครั้งลูกทำดี แม่ก็พลอยยินดีเข้าข้างตัวเองว่าเป็นผลจากการที่ลูกได้รับการอบรมมาดีจากพ่อแม่และครูบาอาจารย์

แต่บางครั้งลูกก็ดีของลูกเอง

แล้วความดีของลูกก็ไม่ได้เสียเปล่าเพราะแม่ได้นำมันมาอบรมจิตใจตัวเองอีกต่อหนึ่ง

จิตใจของคนเราทุกคน สมควรได้รับการอบรมไปโดยตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม่คิดเช่นนี้

เมื่อสมัยแม่ยังเป็นเด็ก แม่ชอบทำบาปอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือการตกปลา

ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้นแม่ก็ไม่ทราบได้ ทั้งๆ ที่ครอบครัวเราก็ไม่ได้อดอยากปากแห้งจนถึงกับต้องมานั่งตกปลากินหรือก็เปล่า

เวลาตกปลาแม่รู้สึกมีความสุขอยู่กับการรอคอย

แม่จะนั่งเฝ้ามองดูทุ่นอยู่อย่างใจจดใจจ่อ ทั้งๆ ที่โดยปกติแม่เป็นคนใจร้อนมาก ทำอะไรต้องให้เร็ว อ่านเร็ว เขียนเร็ว คอยใครไม่เป็น

จนพ่อถึงกับเอ่ยปากแสดงความแปลกใจที่เห็นแม่มีความอดทนมากกับการตกปลา

เวลาปลาตอดเหยื่อทำให้ทุ่นไหวตัว แม่จะตื่นเต้นมาก

ยิ่งเวลาที่ปลากินเหยื่อดึงเอาทุ่นจมวูบลงไปใต้น้ำ แม่จะดีใจมากรีบตวัดเบ็ดขึ้นมา

แล้วก็เป็นที่น่าเศร้าใจยิ่งนักเพราะแม่เป็นคนชนิดที่เขาเรียกกันว่าทำบาปขึ้น

ใครตกปลาไม่ได้ แม่มักจะได้เสมอทั้งๆ ที่วานคนอื่นหาเหยื่อ เสียบเบ็ดให้ เพราะแม่ทำไม่ได้

แม่ใจไม่แข็งพอที่จะตัดไส้เดือนออกเป็นส่วนๆ หรือหยิบเอาตัวแมลงขึ้นมาเสียบเบ็ด นานๆ หาคนช่วยไม่ได้จริงๆ จึงจะหลับหูหลับตาทำเองสักครั้งหนึ่ง

แต่แม่ก็มักจะตกปลาได้มากกว่าคนอื่น

เวลาที่พ่อไปสัตหีบ แม่ตามไปเที่ยว แม่มักมีความรู้สึกอยากออกไปในทะเล ออกไปหาปลาเหมือนชาวประมง

แต่แม่ไม่กล้าบอกกับใครนอกจากพ่อ ทั้งๆ ที่แม่ไม่ได้เป็นคนชอบกินปลาเลย

ยังนับว่าโชคดีที่แม่ไม่ชอบยิงนกอีกอย่างหนึ่ง

ตอนนั้นแม่จำได้ว่ามีเขยแม่อยู่คนหนึ่งละที่ชอบยิงนก

เวลาที่เขายิงตกลงมาต่อหน้าแม่ มันยังไม่ตาย เขาก็เลยจับขาของมันรวบเข้าแล้วฟาดหัวของมันเข้ากับตุ่มน้ำแถวๆ นั้น ทำให้แม่มองดูด้วยความรู้สึกสยดสยองเป็นกำลัง แม่ยังจำยิ้มของพี่เขยแม่ได้

เวลานี้เขาตายไปนานแล้ว ตายด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่งที่คนเรากลัวกันเป็นนักหนา นั่นก็คือโรคมะเร็ง

เมื่อตอนเด็กๆ แม่มีพี่น้องผู้ชายหลายคนที่มีอายุไล่เลี่ยกับแม่พอที่จะเล่นกันได้ ส่วนน้องผู้หญิงก็ยังเด็กเกินไป

เพราะฉะนั้น พอพวกพี่น้องผู้ชายเหล่านี้มีกิจกรรมอะไร แม่ก็มักจะไปขอร่วมกับเขาด้วย

ตอนเรายังเด็ก มีแต่ความสนุกสนาน ยังไม่รู้ถึงความทุกข์ของพ่อแม่ว่ากว่าจะหาเงินมาเลี้ยงลูกซึ่งมีเป็นโหลนั้นยากลำบากสักเพียงใด

เมื่อพี่ๆ แม่เล่นเลี้ยงแมลงกวางซึ่งเป็นตัวแมลงสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หน้าตาคล้ายๆ ตัวด้วง แต่มันจะมีหน่อแข็งๆ ยื่นอยู่บนหัว แม่ก็ต้องมีกับเขาด้วย

แมลงชนิดนี้ชอบกินอ้อยเป็นอาหาร เขาเอาไปเกาะไว้กับท่อนอ้อยที่แขวนไว้โดยใช้เชือกด้ายหลอดผูกหน่อหรือเขาบนหัวของมันไว้ ล่ามไว้กับท่อนอ้อย ตัวแมลงชนิดนี้ก็จะก้มหน้าก้มตากัดกินอ้อยลงไปจนท่อนอ้อยคอด เนื้ออ้อยที่ถูกกัดกินแล้วนี่ก็จะเป็นฝอยร่วงลงไปกับพื้น

แม่ไม่รู้ว่าเขาไปหากันมาจากไหน เราเป็นเจ้าของกันคนละตัวสองตัวโดยมีพี่เลี้ยงไปหามาให้

แล้วก็ไม่รู้จุดจบด้วยว่าเมื่อเราเบื่อแล้ว เขาเอามันไปทำอะไร

แล้วต่อมาก็เลี้ยงปลากัด คนเลี้ยงก็จับมันมาใส่ขวดเอากระดาษคั่นไว้ระหว่างขวดไม่ให้มันมองเห็นกัน ถ้าเราไปเปิดออกมันก็จะพองครีบรี่เข้าใส่กันเหมือนเป็นศัตรูกันมาแต่ปางก่อน

เลี้ยงปลากัด แม่ไม่สนุกกี่มากน้อยเพราะแม่ไม่ชอบดูเวลามันกัดกัน

เวลาสู้กันมันจะกัดกันจนเนื้อแหว่งครีบหลุด

พอปลาเจ็บมาก เขาจะแยกกันเอาไปใส่ขวดหมกน้ำดินสอพอง นัยว่าเพื่อจะได้รักษาแผลเวลาปลากัดกัน พี่ๆ สนุกสนานกันอยู่ แม่มักจะแสดงปริเทวนาการจนกระทั่งถูกอัปเปหิออกจากวง ตอนนั้นแม่ยังไม่รู้จักตกปลา

เวลาปลากินเบ็ด แม่ไม่ยักรู้สึกสงสารมันเหมือนเวลาที่ดูปลากัดกัดกัน

แม่เล่นตกปลาของแม่มาจนยุ้ยอายุได้สักสามขวบ แม่จึงได้เลิก

ก็ไม่ได้เลิกเพราะรู้ผิดชอบชั่วดีอะไร ที่เลิกก็เพราะว่ามันไม่มีที่จะให้ตกมากกว่า

แต่หลังจากที่ได้มาปฏิบัติธรรมแล้วแม่จึงมารู้สึกดีใจที่เลิกเสียได้ แม่พยายามซื้อปลามาปล่อย ทุกครั้งที่ทำบุญต้องขออโหสิต่อพวกเขา

แม่ยังคงกินเนื้อสัตว์ประเภทที่ตายมาแล้ว แต่เลิกรังแกฆ่าเพื่อที่จะได้นำมาเป็นอาหารของเรา เพราะหลวงปู่สอนแม่ไว้ว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์เมื่อเกิดมาแล้วย่อมต้องรักชีวิตของตนเป็นที่สุด

แม่ยังจะต้องอบรมจิตตัวเองให้มาก มีอะไรที่แม่จะต้องเรียนรู้อีกมาก

หลวงปู่หลวงพ่อเคยสอนไว้ว่า อันการทำความชั่วนั้นง่ายเหมือนปล่อยกระแสน้ำไหลจากที่สูงมายังที่ต่ำ

ตรงข้ามกับการทำความดี เพราะมันเป็นการทวนกระแส

การทำความดีนั้นใหม่ๆ ออกจะเป็นของยากมากในความรู้สึกของเรา มันจะง่ายขึ้นถ้าเราหมั่นอบรมจิตของเราไปด้วย

เมื่อยุ้ยทำงานใหม่ๆ แม่ยังจำได้ว่ายุ้ยมีปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ยุ้ยกลุ้มใจ นำมาบ่นกับแม่บ่อยๆ ว่าทำไมเขาจึงเกลียดยุ้ย เขาแกล้งยุ้ยอย่างนั้นอย่างนี้ชัดๆ

แม่ต้องปลอบยุ้ยว่า ไหนๆ ยุ้ยเองก็ปฏิบัติธรรมมา ทำไมไม่เอาธรรมมาแก้ไขตัวเอง ยุ้ยจะไปแก้คนอื่นนั้นมันยาก ต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน

เราคิดว่าเราทำถูกหมดอย่างนั้นอย่างนี้ คนอื่นผิดตรงนั้นตรงนี้นั่นมันไม่ได้หรอก เพราะเราดูจากทางด้านของเราด้านเดียว

เพื่อนของเราอาจจะมองดูเราจากอีกทางด้านหนึ่ง โดยความคิดเดียวกับยุ้ยก็ได้ เพราะฉะนั้น ทางที่ดียุ้ยต้องเลิกมองดูเขา แต่ต้องมาสำรวจดูที่ตัวเองดีกว่า

แม่พูดเพียงแค่นี้ ยุ้ยก็เข้าใจ

หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ยุ้ยก็หน้าชื่นขึ้น…ดีขึ้นเรื่อยๆ จนผลที่สุดอีกหลายเดือนต่อมา ยุ้ยก็มารายงานกับแม่ว่า เพื่อนคนนั้นในปัจจุบันนี้แสนจะดีขึ้นกับยุ้ย

แม่ลองถามดูว่าก็ยุ้ยใช้วิธีไหนเล่า

ยุ้ยบอกว่ายุ้ยใช้วิธีทำความดีกับเขาให้มากที่สุด เขาจะคิดจะพูดอย่างใดยุ้ยไม่สนใจ ยุ้ยทำดีกับเขาไปเรื่อยๆ

ตอนแรกก็ฝืนใจหน่อย ต่อๆ ไปสบายมาก ยุ้ยทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจแม้แต่น้อย แล้วเขาเองก็กลับค่อยๆ ดีขึ้น…ดีจนในที่สุดเวลานี้ก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนรักคนหนึ่งของยุ้ยไป

ตอนนี้แม่จะขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องของหน่าใหม่

แม่จะเล่าให้ฟังว่า พื้นฐานจิตใจที่ดีของหน่าได้เป็นประโยชน์แก่ตัวของหน่า และได้ให้บทเรียนแก่แม่เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นแม่ต้องขอสารภาพว่า แม่ไม่ใช่คนที่ดีพร้อม ทำกรรมฐานก็ยังไม่ได้มรรคได้ผลอะไร สติตามทันบ้าง ยังตามไม่สู้จะทันบ้าง วนเวียนอยู่เช่นนี้

ตามธรรมดา ตอนปีใหม่พ่อแม่และลูกๆ มักจะนำของขวัญปีใหม่เล็กๆ น้อยๆ ไปกราบเยี่ยมญาติมิตรผู้ที่มีพระคุณบ้าง ผู้ที่เคารพบ้าง (ซึ่งบัดนี้ก็ได้ร่อยหรอลงไปตามลำดับแล้ว) ตามบ้านของท่านต่างๆ เหล่านั้น เราปฏิบัติดังนี้มานาน จนกระทั่งลูกโตขึ้น

มาบัดนี้ เวลาเราจะไปเคารพท่านผู้ใหญ่ (ที่เป็นผู้ใหญ่มากๆ) ลูกก็คงไปกับเรา แล้วหลังจากนั้นลูกก็จะนำของส่วนตัวไปเยี่ยมเยียนแสดงความเคารพพ่อและแม่ของเพื่อนๆ อยู่ในกลุ่มหนึ่ง

ส่วนเพื่อนของลูกเองในกลุ่มนั้น (ซึ่งได้กลายมาเป็นลูกของเราไปหมดแล้ว) ก็ได้พากันมาหาเราเช่นกัน

ต่อมามีเพื่อนคนหนึ่งของลูกในกลุ่มนี้ ประพฤติปฏิบัติตัวเปลี่ยนแปลงไปจะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบได้ แต่เขาก็คงมีเหตุผลของเขานั่นแหละ

เราได้แต่เฝ้าดูลูกของเรา เห็นเขายังคงปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปกติจนกระทั่งแม่เอ่ยปากถาม แม่ได้รับคำตอบว่า

ช่างเขาเถอะคุณแม่ หน่าเคยทำยังไง หน่าก็จะทำยังงั้น ส่วนเขาจะทำยังไงก็เป็นเรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับหน่า

พอได้ยินคำตอบ แม้รู้ทันทีว่าแม่คิดผิด ชักจะหลงออกนอกทางอีกแล้ว ดีว่าลูกเตือนสติเราทัน แม่จะต้องแก้ไขตัวเองอีกแล้ว แม่เคยเตือนยุ้ยให้ดูตัวเอง แล้วทำไมแม่จึงจะต้องไปสำรวจคนอื่น แม่ถึงได้บอกว่าบางทีแม่ก็สอนลูก แต่บางครั้งลูกก็สอนแม่ได้บ้างเหมือนกันนะ

พระท่านสอนให้เพ่งโทษตัวเอง แม่ก็ลืมเสียบ่อยๆ

แม่มาคิดดู นึกถึงเวลาในอดีตที่ตัวเองเฝ้ามองดูทุ่นตกปลา แต่ในเวลานี้ถ้าแม่จะเปลี่ยนจากทุ่นอันนั้นมาเป็นจิตของตัวเองก็คงจะดีไม่น้อย

แล้วแม่ก็จะได้เฝ้าดู

แม่นึกถึงพี่ๆ น้องๆ ของแม่เองจัดเป็นครอบครัวใหญ่มาก เคยมีทุกข์มีสุข เคยเล่นเคยซนร่วมกันมาก็มาก

ครั้นเติบโตขึ้นต่างคนต่างก็เป็นผู้ใหญ่แยกย้ายกันไปมีครอบครัวของตัว ต้องไปรับผิดชอบกับครอบครัวของตนเองแต่เราก็ไม่เหินห่างกัน

ครั้นลูกเต้าโตขึ้น ตัวเองแก่ชราลงเราก็คงยังมาชุมนุมกันเหมือนเดิม เพื่อมาฟังหลวงปู่ หลวงพ่อเทศนาอบรมสั่งสอนเพราะพวกเราต่างก็เสียเวลามามากแล้ว

แต่ออกจะแปลกอยู่หน่อยก็ตรงที่การปฏิบัติของพวกเราผู้หญิงห้าคนนั้นอยู่ในแนวทางเดียวกัน

ส่วนพี่น้องผู้ชายอีกสามคนนั้นเป็นเอกเทศแก่กัน ใครถนัดแนวไหนก็ไปแนวนั้น

เปรียบเสมือนว่า เราทั้งหมดตกลงกันว่าจะขึ้นรถเมล์ไปสวนจตุจักรแล้วต่างก็ขึ้นรถเมล์สายที่ตนคิดว่าเป็นสายตรงกว่าเพื่อน

ตอนที่กำลังนั่งอยู่บนรถต่างก็เฝ้าดูจิตของตนเองให้ดีๆ แล้วใช้สติกำกับไว้จะได้ไม่ไปตกรถเสียกลางทาง

แม่ขอย้อนมาถึงลูกทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง เพราะไหนๆ ก็ได้ชมมามากแล้วเดี๋ยวจะพากันยิ้ม คิดว่าตนนั้นไม่มีที่ติ

ไม่มีใครในโลกนี้ดอกลูกที่มีดีเพียงอย่างเดียวหรือว่าเลวเพียงอย่างเดียวอย่างที่น้าจิ๋วชอบคิด แม้กระทั่งตัวของแม่เองก็ตาม

เวลาที่น้าจิ๋ววิจารณ์หรือพูดถึงใครว่าคนคนนั้นดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด หรือว่าใครอีกคนหนึ่งเลวที่สุด (ต้องลากเสียงให้เหมือนด้วย) นั้น หน่ามักจะหัวเราะแล้วบอกเป็นภาษาฝรั่งว่าน้าจิ๋วนั้นเป็นคนเอ็กซ์ตรีม

คนเราทุกคนย่อมต้องมีทั้งความดีและเลวอยู่ในตัว แต่ถ้าคนไหนมีความดีอยู่ในตัวมากกว่าส่วนที่เลว คนนั้นย่อมต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับมากกว่าคนที่เป็นคนตรงข้าม

แล้วก็วิธีไหนล่ะจึงจะทำให้เราเป็นคนดีมากกว่าจะเป็นคนเลว

พระท่านหมั่นให้สำรวจจิตของตัวเองดูจ้ะ ใครอยากจะส่องกระจกสองด้านก็ต้องทำภาวนามยปัญญา (คือหมั่นภาวนาจนกระทั่งเกิดปัญญา) ใครทำได้ จะได้มีตาในอีกคู่หนึ่ง เอาไว้ช่วยดูใจตัวเองยังไงเล่าจ๊ะ