​​​ศึกษา บทเรียน จากการดูด ​​​”ผลดี” อาจกลายเป็น”ผลเสีย”

จากกรณีที่มีการมอบตำแหน่งทางการเมืองให้ นายสกลธี ภัททิยกุล แห่งพรรคประชาธิปัตย์ นายสนธยา คุณปลื้ม แห่งพรรคพลังชล
​มาถึงกรณี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุขและพวกจากพรรคเพื่อไทย
​เด่นชัดในทิศทางของ “พรรคพลังประชารัฐ”
​ขณะเดียวกัน เมื่อการมอบหมายตำแหน่งเกิดขึ้นจากภายในทำเนียบรัฐบาล และการดูดดึงนักการเมืองสอดคล้องกับการก่อรูปของพรรคพลังประชารัฐ
​สัมพันธ์กับแนวทาง “ประชารัฐ ไทยนิยม”
ก็เด่นชัดอย่างยิ่งในกระบวนการต่อท่อแห่งอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่าดำเนินไปอย่างไร

เมื่อประมวลจากกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล เข้ากับกรณีของ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข
​ก็จะมองเห็น “ทิศทาง” การสร้างอำนาจของ “คสช.”
​นั่นก็คือ ในการสะสมกำลังทางการเมืองมิได้ผูกอยู่กับนักการเมืองที่เคยมีส่วนร่วมในการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่รัฐประหารเท่านั้น
​หากแต่ยังพร้อมที่จะอ้าแขนรับกระทั่งนักการเมืองที่เคยสังกัดอยู่กับพรรคอันเป็นเป้าหมายในการโค่นล้มและทำลายล้างอย่างเช่นพรรคเพื่อไทย
​นั่นก็คือ “คสช.”พร้อมที่จะสามัคคีและร่วมมือกับพลังใดก็ได้ขอแต่ให้เป็นประโยชน์
​และประโยชน์นั้น คือ หลักประกันแห่ง “อำนาจ”
​คำขวัญที่ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันเคยกระหึ่มก่อนและภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเสมอเป็นเพียงกลยุทธ์ 1 ซึ่งมิได้มีความจริงอะไร

หากดูจากกระบวนการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่าง “พรรคคสช.” ในการสร้าง”พันธมิตร”ขณะนี้
​เด่นชัดยิ่งว่า “พรรคคสช.”อยู่ในจุดได้เปรียบ
​กระนั้น พลันที่เข้าสู่กระบวนการของ”การเลือกตั้ง” ความได้เปรียบในขณะนี้อาจกลายเป็น “ปัญหา”อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
​”พรรคคสช.”จะตอบความสงสัยของ”ประชาชน”ในเรื่อง”ธรรมาภิบาล”ทางการเมืองอย่างไร