ทราย เจริญปุระ : ฝัน

หนังสือบางๆ เล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว เล่าถึงเรื่องแม่บ้านรับจ้างชาวลอนดอน “เอด้า แฮรีส” ผู้อยากเป็นเจ้าของชุดราตรีแสนวิจิตรมูลค่าหลายร้อยปอนด์ของสำนักตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง, คริสเตียง ดิออร์

เธอมุมานะเก็บหอมรอมริบอยู่สามปี จนมีวันที่ได้หอบเงินสดเป็นฟ่อนใส่กระเป๋าหนังเทียม และจับเครื่องบินมุ่งหน้าสู่มหานครปารีสเพื่อความฝันอันสวยงาม

บางคนอาจจะมองว่าความอยากได้ชุดสวยๆ นั้นฟุ้งเฟ้อและหาสาระอะไรไม่ได้

แต่ทำไมเล่า

ทำไมเราต้องเห็นความปรารถนาที่ไม่เดือดร้อนใครเป็นเรื่องผิดด้วย

“วัตถุนิยมถูกมองว่าเป็นสิ่งเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชนชั้นแรงงานมีความโหยหาวัตถุจะถูกตราหน้าว่ามีความต้องการเกินตัว ไม่รู้จักประมาณตน หากมองในอีกแง่หนึ่ง คำสั่งสอนดังกล่าวอาจเป็นความพยายามกดขี่ ให้ชนชั้นแรงงานพึงพอใจกับสถานะทางสังคมของตนโดยไม่ต้องเผยอหน้าอ้าปาก

-ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส-นำเสนอประเด็นเรื่องนี้ในมุมมองที่น่าสนใจ ความปรารถนาทางวัตถุของชนชั้นกลางและความทะเยอทะยานอยาก ไม่ได้ขัดกับความดีงามทางศีลธรรมและจริยธรรมเสมอไป…”

 

มันมักจะมีคนที่คอยตามค่อนแคะวิถีชีวิตของคนบางคนบางกลุ่มอยู่เรื่อยๆ ว่าของที่เขาซื้อนั้น “มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องโง่ด้วย” “ถ้ารวยขนาดนี้เอาเงินไปทำบุญดีกว่า” “ซื้อมาก็ใช้ได้ครั้งเดียว เก็บเงินไว้กินข้าวเถอะ”

แล้วยังไง

ต่อให้ได้ใช้ครั้งเดียวมันก็เป็นครั้งที่น่าจดจำ

มันทำให้เรามีความปรารถนาในการใช้ชีวิต

รู้ว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร

ไม่ใช่มีชีวิตไปเพียงวันๆ

ความปรารถนาของคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่มีค่าเท่ากัน ตราบที่เขาไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร

และไม่ต้องไปสั่งสอนใคร

เพราะคุณค่าของชีวิตแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

ทำไมคนจนต้องมีหน้าที่จนเพื่อให้คนรวยได้รู้สึกรวย

ความสุขนั้นมีหลายราคา บางคนเขาอาจจะเบื่อหน่ายกับโลกรอบตัวที่รุมเร้า การได้นั่งกินเหล้ากับเพื่อนก่อนเข้านอนซัก 2-3 แก้ว ซื้อหวย ทำไมถึงต้องตัดสินว่าเขาแสนจะโง่เง่าขาดศีลธรรม

บางทีค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต่อให้คุณประหยัดแสนประหยัดยังไง มันก็ยากจะงอกเงย ถ้าจะขอซื้อความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยาม มอมเมาสร้างฝันให้ตนเองเพียงเพื่อจะไปทำงานหนักในวันรุ่งขึ้นฉันก็ไม่เห็นว่าจะเลวร้ายตรงไหน

บางคนเก็บเงินเพื่อหวังผลในอนาคต

แต่บางคนจ่ายเงินเพื่อซื้อปัจจุบัน

มันต่างกันแค่วิธีเท่านั้นเอง

แล้วทำไมความอยากของคนอื่นถึงดูไม่เจียมตน

“…ไม่เพียงเรื่องราคาค่างวดเท่านั้นที่แกไม่พร้อมจะสู้ แต่ยังมีเรื่องของ “ชนชั้น” อีก ที่แกไม่ปรารถนาจะเผยอขึ้นไปเทียบ

แต่จำนวนเงินมากมายมหาศาลนั้นทำให้เรื่องมันกลับตาลปัตร ก็อะไรเล่าที่ทำให้ผู้หญิงปรารถนาเสื้อคลุมขนชินชิลล่าหรือขนเซเบิ้ลจากรัสเซีย ปรารถนารถโรลสรอยซ์ หรือเครื่องเพชรของการ์ตีเยร์…ก็เจ้าราคาอันแพงแสนแพงหูฉี่นี่เองที่เป็นเครื่องประกันความเป็นผู้หญิง และความเป็นคนของแก”*

ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีสออกจะ “ติดหวาน” และเป็นเรื่องชวนฝันด้วยซ้ำถ้าวัดเอาจากรสนิยมของฉัน

แกเก็บเงินได้ครบ และประสบพบเจอแต่คนดีๆ ที่คอยช่วยเหลือ ทั้งที่เราต่างก็รู้ดี ว่าโลกใบนี้พลิกชะตาผู้คนให้กลายเป็นเหยื่อได้มากมายหลายวิธี

มันเลยเป็นเหมือนภาพฝัน ในวันที่เราได้ตื่นสายๆ ในเช้าวันจันทร์ เพราะวันนี้เป็นวันหยุด เรารู้ว่ามันมีเวลาเพียง 24 ชั่วโมงให้เราได้นอนเล่นอย่างสบาย และพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปสู้โลกเหมือนเดิม

เรารู้ดีว่าความฝันคือความฝัน

แต่ถึงยังไงมันก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่านี่คือโอกาสพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ที่ไม่ว่าคุณคือใครก็สมควรได้รับกันทั้งนั้น

“ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮรีส” (Flowers for Mrs. Harris) เขียนโดย Paul Gallico แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ พิมพ์ครั้งที่ 8 ฉบับปรับปรุง โดยสำนักพิมพ์ไลบราลี่ เฮ้าส์, กันยายน 2559

 


*ข้อความจากในหนังสือ