วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (24)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

การเคลื่อนไหวของคณะอภิชนได้เกิดขึ้นในช่วงปีท้ายๆ ของฮั่นหวนตี้ โดยมีต้นเรื่องมาจากหมอดูคนหนึ่งที่สนิทสนมกับกลุ่มขันทีล่วงรู้มาว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการอภัยโทษให้แก่นักโทษทั่วประเทศ หมอดูคนนี้จึงให้บุตรของตนไปฆ่าศัตรูคนหนึ่ง

จากนั้นบุตรคนนี้ก็ถูกจับกุมโดยขุนนางชื่อหลี่อิง (มรณะ ค.ศ.169) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอภิชนที่รับใช้ราชสำนักอยู่ในเมืองหลวง

โดยหลังจากนั้นไม่นานก็มีราชโองการประกาศอภัยโทษแก่นักโทษเกิดขึ้นจริง และบุตรหมอดูผู้นี้จึงได้รับการอภัยโทษด้วย

การอภัยโทษครั้งนี้สุดที่หลี่อิงจะยอมรับได้ ด้วยว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ผลคือ หลี่อิงได้ฝืนราชโองการอภัยโทษด้วยการสั่งให้ประหารชีวิตบุตรหมอดู

จากเหตุนี้ หมอดูผู้เป็นบิดาจึงอาศัยขันทีที่สนิทกับตนให้จัดการหลี่อิง ฝ่ายขันทีที่ได้รับการร้องขอจากหมอดูก็เห็นเป็นโอกาสที่กลุ่มตนจะได้กำจัดคณะอภิชนเช่นกันนั้น ก็ได้เพ็ดทูลฮั่นหวนตี้ให้ทรงลงโทษหลี่อิงในฐานที่ขัดราชโองการ

ที่สำคัญ เพื่อเป็นการขจัดเสี้ยนหนามให้ได้มากที่สุด กลุ่มขันทียังกล่าวโทษไปถึงคณะอภิชนอีกกว่า 200 คนในฐานที่สมรู้ร่วมคิดกับหลี่อิงอีกด้วย แต่ข้อเพ็ดทูลของกลุ่มขันทีไม่เป็นที่ยอมรับของคณะอภิชน และได้คัดค้านด้วยการไม่ยอมร่วมสอบสวนหลี่อิง

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของคณะอภิชนทำให้ฮั่นหวนตี้พิโรธเป็นที่ยิ่ง พระองค์จึงปลดขุนนางที่สอบสวนหลี่อิงออกจากตำแหน่ง แล้วให้คุมขังคณะอภิชนทั้งหมด แต่หลังจากนั้นไม่นานด้วยแรงบีบคั้นจากสังคม ฮั่นหวนตี้จึงทรงอภัยโทษหลี่อิงกับคณะอภิชนกว่า 200 คน

แต่ก็ให้ลงโทษต่อด้วยการไม่ให้บุคคลในคณะอภิชนรับราชการไปตลอดชีวิต

 

ภายหลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวดังกล่าวผ่านไปแล้ว ผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ กระแสสังคมได้ฝากความหวังไว้กับคณะอภิชนมากขึ้น ว่าจะสามารถแก้ปัญหาฟอนเฟะที่หมักหมมอยู่ในราชสำนักมาช้านานได้สำเร็จ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ขณะนั้นกระแสสังคมได้เป็นเสมือนปลายหอกที่พุ่งไปยังกลุ่มขันที

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์อื้อฉาวครั้งนั้นผ่านไปไม่นาน ฮั่นหวนตี้ก็สิ้นพระชนม์ ผู้ที่เป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือ ฮั่นหลิงตี้ (ค.ศ.167-189) ซึ่งขณะก้าวขึ้นมาครองราชย์นั้นทรงมีชันษาเพียง 12 พรรษาเท่านั้น

จากเหตุนี้ ราชชนนีจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยในคราวนี้ผู้เป็นราชชนนีเป็นผู้มาจากตระกูลโต้วอีกครั้งหนึ่ง สิ่งแรกที่ราชชนนีทรงทำเป็นเรื่องแรกก็คือการวางแผนกำจัดกลุ่มขันที แต่แผนของราชชนนีรั่วไหลและรู้ไปถึงกลุ่มขันที

เช่นนี้แล้วกลุ่มขันทีจึงไม่รอช้าด้วยการรีบเป็นฝ่ายชิงลงมือก่อน

 

กลุ่มขันทีลงมือด้วยการสังหารขุนนางที่อยู่ฝ่ายเดียวกับราชชนนี จนเมื่อแน่ใจแล้วว่าทั้งราชสำนักตกอยู่ในมือของตน กลุ่มขันทีจึงเข้ารุกไล่คณะอภิชนด้วยการป้ายสีว่าคณะอภิชนเป็นกบฏ

ผลคือ หลี่อิงกับสหายในคณะอภิชนถูกจับกุม และถูกสังหารระหว่างการสอบสวนอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตกว่าร้อยชีวิต ที่เหลืออีกประมาณ 600-700 คนถูกจำคุกโดยไม่มีกำหนดปล่อยตัว ส่วนบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับคณะอภิชนก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ครั้นถึง ค.ศ.176 ฮั่นหลิงตี้ยังมีราชโองการอีกด้วยว่า ศิษยานุศิษย์หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของขุนนางเดิมก็ดี พี่น้องกับเครือญาติในสายเลือดเดียวกันห้าชั่วคนคือ ปู่ พ่อ ลูก หลาน และเจ้าตัวของคณะอภิชนก็ดี ให้ปลดออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์มิให้เป็นขุนนางอีกต่อไปทั้งหมด

เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับบทบาทของคณะอภิชนนี้ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปีจึงจบลง แล้วอำนาจก็ตกอยู่ในมือกลุ่มขันทีต่อไป

 

ประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า หายนะแห่งคณะอภิชน (ตั่งกู้จือฮว่อ, Disaster of The Partisan Prohibitions) อันหมายถึงการลุกขึ้นสู้ของคณะอภิชนที่แม้จะประสบความสำเร็จอยู่บ้างในระยะแรก แต่ก็มาพ่ายแพ้ในระยะหลัง

เหตุการณ์นี้มีสองช่วง ช่วงแรกคือ ช่วงที่หลี่อิงฝืนราชโองการอภัยโทษแล้วเกิดวิกฤตตามมา ช่วงที่สองคือ ช่วงที่แผนกำจัดขันทีของราชชนนีที่มาจากตระกูลโต้วรั่วไหล จนเป็นเหตุให้กลุ่มขันทีฉวยโอกาสเข้ากวาดล้างคณะอภิชนจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ส่วนที่ว่าเป็นหายนะก็เพราะหลังจากนี้ต่อไป จีนก็ตกอยู่ใต้เงาของกลุ่มขันทีจนจ่อมจมอยู่ในความมืดมิดไปอีกยาวนาน การแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของกลุ่มขันทีเป็นไปทั่วบ้านเมือง และมันมิอาจเกิดขึ้นได้เลยหากจักรพรรดิไม่อ่อนแอดังที่เป็นอยู่

และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ตัวจักรพรรดิเองกลับเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจบาตรใหญ่นั้นเสียเอง เมื่อเป็นเช่นนี้บ้านเมืองจึงเสื่อมทรามลงจนราษฎรเดือดร้อนไปทั่ว ได้แต่รอให้มีผู้มากอบกู้เท่านั้น

จากเหตุดังกล่าวจึงไม่แปลกที่จะมีกบฏเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเมื่อบ้านเมืองยิ่งเสื่อมทรามลงจากพฤติกรรมของกลุ่มขันทีและฮั่นหลิงตี้ การรวมตัวเพื่อก่อกบฏของราษฎรก็มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น

และขบวนการกบฏที่มีขนาดใหญ่จนส่งผลสะเทือนต่อราชวงศ์ฮั่น และนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์นี้ในที่สุดก็คือกบฏโพกผ้าเหลือง

 

ง. การปกครองที่ไร้เสถียรภาพ

การล่มสลายของฮั่นสมัยแรกด้วยการถูกยึดอำนาจโดยหวังหมั่งพร้อมกับตั้งราชวงศ์ซินขึ้นนั้น ถือเป็นความพยายามหนึ่งที่จะกอบกู้สถานการณ์อันเลวร้ายที่ฮั่นสมัยแรกทิ้งไว้ให้

การปกครองที่หวังหมั่งเพียรพยายามสร้างขึ้นในยุคสมัยของเขาก็คือ การนำเอาหลักการปกครองในสมัยราชวงศ์โจวกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง หลักการที่ว่าเป็นไปด้วยการให้รัฐบาลกลางเป็นผู้ผูกขาดอำนาจในแทบทุกด้าน เช่น ผูกขาดอำนาจการปกครองโดยสายเลือด หรือผูกขาดการค้าและการกู้ยืม เป็นต้น

แต่ด้วยเหตุที่ฮั่นสมัยแรกได้ทิ้งความเลวร้ายเอาไว้อย่างลึกซึ้ง ความพยายามของหวังหมั่งจึงล้มเหลว จนนำมาซึ่งการล่มสลายด้วยเวลาเพียงสิบปีเศษของราชวงศ์ซิน โดยมีฮั่นสมัยหลังเข้ามาแทนที่ภายใต้การนำของหลิวซิ่ว

ผู้ซึ่งต่อมาก็คือ ฮั่นกวางอู่ตี้

 

การที่หลิวซิ่วสามารถตั้งตนเป็นจักรพรรดิฮั่นกวางอู่ตี้ได้สำเร็จนั้น ในเบื้องต้นย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะเขาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพื้นฐาน และเมื่อเป็นจักรพรรดิเต็มตัวแล้วก็ยังประสบความสำเร็จในการปกครองอีกด้วย จากเหตุนี้ พื้นฐานความรู้ความสามารถของเขาย่อมมีภูมิหลังที่น่าสนใจ

กล่าวกันว่า ฮั่นกวางอู่ตี้มีภูมิหลังที่ไม่ต่างกับหวังหมั่งมากนัก คือกำพร้าบิดามาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ต้องอยู่ในการอุปการะของผู้เป็นอา และได้รับการศึกษาที่เมืองหลวงผ่านสำนักหญูที่เป็นกระแสหลักในเวลานั้น

แต่ที่ตรงกันข้ามกับหวังหมั่งก็คือ หลิวซิ่วประสบความสำเร็จทางการเมือง ส่วนหวังหมั่งประสบความล้มเหลว

ความแตกต่างตรงนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากชีวิตในวัยเด็กของหลิวซิ่วเอง ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเขาก็กลับมายังบ้านเกิดเพื่อดูแลครอบครัวและไร่นา ชีวิตในช่วงนี้ทำให้เขาได้สัมผัสทุกข์สุขของราษฎร

และด้วยเหตุที่มีการศึกษามาดีเขาจึงเป็นคนที่เอื้ออาทรต่อผู้ที่เป็นทุกข์ จนมีความรู้ความเข้าใจภาคการเกษตรเป็นอย่างดี

 

ครั้นก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ ภูมิหลังดังกล่าวทำให้ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงตื่นแต่เช้ามาว่าราชการ และทรงงานอยู่จนดึกดื่น

ที่สำคัญ พระองค์ทรงครองตนอย่างสมถะ ใส่ชุดที่เรียบง่ายไร้สีสัน ไม่เสพสังคีตศิลป์ ไม่ลุ่มหลงในอัญมณี ไม่ใหลหลงลำเอียงนางสนม มีความเสมอภาคยุติธรรมแก่ทุกผู้คน ไม่นิยมพิธีกรรมเหตุเพราะสิ้นเปลือง ทั้งยังรับสั่งล่วงหน้าให้จัดการพิธีศพของพระองค์อย่างเรียบง่าย เพื่อมิให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ใด

จากเหตุนี้ ชีวิตในราชสำนักในยุคของฮั่นกวางอู่ตี้จึงไม่ปรากฏภาพความหรูหราฟุ่มเฟือย เมื่อคัดบุคคลมารับราชการก็คัดแต่ผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และโปร่งใสเป็นที่ตั้ง เช่นนี้แล้วฮั่นกวางอู่ตี้จึงประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูราชวงศ์

และทำให้ราชวงศ์มีความรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง