บทวิเคราะห์ : เปิดโผ 54 อดีต ส.ส.-ส.ว. ซบอก “พลังประชารัฐ” ชัวร์ มั่วนิ่ม แทงกั๊ก? คำเตือน พากันไปตาย??

ท่ามกลางการเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “กองหนุน” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ทั้งก่อนและภายหลังการเลือกตั้ง

รวมถึงพรรคการเมืองตั้งใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังธรรมใหม่ ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หรือแม้แต่พรรคพลังชาติไทย ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์

ที่ได้รับการประเมินให้เป็น “ทัพใหญ่” ของจริง ยังเป็นพรรคพลังประชารัฐ

ถึงจะมีชื่อนายชวน ชูจันทร์ และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เป็นผู้จดแจ้งจัดตั้งพรรค แต่ก็เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้างว่า ผู้อยู่เบื้องหลังและมีบทบาทสูงในการก่อรูปพรรค

แท้จริงก็คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ประสานผ่าน 2 รัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ โดยคนแรกมีข่าวถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรค คนหลังเป็นเลขาธิการพรรค

ช่วงต้นปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็น “นักการเมือง” เต็มตัว ต่อมาเมื่อเปิดให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้นเดือนมีนาคม

ก็ปรากฏชื่อพรรคพลังประชารัฐ

พร้อมกับกระแสเตรียมเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานที่ปรึกษา เพื่อรอเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค

ประเด็นสร้างชื่อให้พรรคพลังประชารัฐโด่งดังก็คือ “พลังดูด”

เริ่มจากนายสกลธี ภัททิยกุล และนายณัฐพล ทีปสุวรรณ ของพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และนายอิทธิพล คุณปลื้ม

ทั้งยังมีข่าวพบปะเจรจานักการเมืองกลุ่มต่างๆ ออกมาเป็นระลอก ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย

ไม่ว่ากลุ่มนครปฐมของ 4 พี่น้อง “สะสมทรัพย์” กลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ กลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มโคราช กลุ่มสระบุรี ฯลฯ

และที่อึกทึกครึกโครมมากที่สุดคือการประชุม ครม.สัญจรบุรีรัมย์ ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ “สนามช้าง อารีน่า” นายเนวิน ชิดชอบ เปิดรังปราสาทสายฟ้าต้อนรับการมาเยือนของ “ลุงตู่”

ผลลงเอยด้วยรัฐบาลไฟเขียวอนุมัติงบฯ หลายหมื่นล้านบาทลงพื้นที่กลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์”

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากนักการเมืองพรรคต่างๆ ว่า เป็นการจัดสรรงบฯ ตามเสียงเชียร์ ทั้งยังต้องเสียท่าให้นักการเมือง “เจ้าถิ่น” ที่ไม่ยอมตกปากรับคำใดๆ ทางการเมือง

นำมาสู่ข้อสรุป “ลุงตู่” จับไก่ไม่ได้ ยังขาดทุนข้าวสารอีกกำมือ

นับแต่นั้นมากระแส “พลังดูด” ก็ดูเหมือนจะเบาลง ก่อนกลับมาเป็นข่าวเคลื่อนไหวอีกครั้ง

เมื่อนายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา สังกัดกลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เปิดเผยว่า

จากข้อมูลวันที่ 2 มิถุนายน มีอดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. จากหลายพรรคการเมือง แจ้งความประสงค์ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว 54 คน

รายงานข่าวระบุเป็นการรวบรวมรายชื่อจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำยมที่กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง

โดยรายชื่อทั้งหมดได้เสนอไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อดึงมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ที่นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

กำลังเดินสายรวบรวมอยู่ขณะนี้

สําหรับโผรายชื่อ 54 คน ได้แก่

1.นายภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา 2.นายบัวสอน ประชามอญ อดีต ส.ส.เชียงราย 3.นายปัญญา จีนาคำ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน 4.นายยรรยง ร่วมพัฒนา อดีต ส.ส.สุรินทร์ 5.นายปัญญา ศรีปัญญา อดีต ส.ส.ขอนแก่น

6.นายวิเชียร อุดมศักดิ์ อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ 7.นายชัยศรี กีฬา อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ 8.พ.ต.สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู 9.นายสุชาติ ศรีสังข์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม 10.นายอมรเทพ สมหมาย อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ

11.นายกล่ำคาน ปาทาน อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ 12.นายเกษม มาลัยศรี อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด 13.นายสมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย 14.นายอรรถสิทธิ์ (คันคาย) ทรัพย์สิทธิ์ อดีต ส.ส.นครพนม 15.นายวิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์

16.นายยุทธพงษ์ แสงศรี อดีต ส.ส.บึงกาฬ 17.นายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว.อำนาจเจริญ 18.นายวีระศักดิ์ จีนาภักดิ์ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี 19.นายวิสันต์ เดชเสน อดีต ส.ส.ยโสธร 20.นายพิทยา บุญเฉลียว อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ

21.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา 22.นายประสงค์ สีลวัฒน์ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 23.นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล อดีต ส.ส.อุดรธานี 24.ร.ต.วัฒนา แก้วศิริ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ 25.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต ส.ส.ขอนแก่น

26.นายณรงค์เลิศ สุรพล อดีต ส.ส.ขอนแก่น 27.นายประณต เสริฐวิชา อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด 28.นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีต ส.ส.ขอนแก่น 29.นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ อดีต ส.ส.นครพนม 30.นายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว อดีต ส.ส.นครปฐม

31.นายสฤษดิ์ ประดับศรี อดีต ส.ส.ยโสธร 32.นายสาคร พรหมภักดี อดีต ส.ส.สกลนคร 33.นายวัชรินทร์ ศรีสถาพร อดีต ส.ส.สกลนคร 34.นายบวร ภูจริต อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ 35.นายมานะ คูสกุล อดีต ส.ส.นครพนม

36.นายเกรียงไกร ชัยมงคล อดีต ส.ส.พะเยา 37.นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส.นครราชสีมา 38.นายประทีป กรีฑาเวช อดีต ส.ส.นครราชสีมา 39.นายสมศักดิ์ โสมกลาง อดีต ส.ส.นครราชสีมา 40.นายตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา

41.นายกรุง ศรีวิไล อดีต ส.ส.สมุทรปราการ 42.นายเรวัต สิรินุกูล อดีต ส.ส.กาญจนบุรี 43.ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี 44.นายเฉลิมชัย อุฬารกุล อดีต ส.ส.สกลนคร 45.นายกฤษฎางค์ แถวโสภา อดีต ส.ส.นครราชสีมา

46.นายสันติ ตันสุหัช อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 47.นายจิรพันธ์ ลิ้มสกุลศิริรัตน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ 48.นายโสภณ โกชุม อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 49.นายศรีเรศ โกฎคำลือ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 50.พ.ท.อรุณ ชาลีรินทร์ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ

51.นายสันทัด จีนาภักดิ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี 52.นายศักดิ์ชัย จินตะเวช อดีต ส.ส.อุบลราชธานี 53.นายสมศักดิ์ เจริญพันธ์ อดีต ส.ส.สุรินทร์ และ 54.นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์

“ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐกับอดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. ขอยืนยันว่าพรรคเราไม่ได้ดูด ไม่ได้จ่ายตังค์ ทุกคนมาด้วยใจ และยึดมั่นในหลักการที่ว่าพรรคใดจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง” นายภิรมย์ พลวิเศษ ระบุ

ใน 54 รายชื่อ ถูกมองว่ามีทั้ง “ชัวร์” “มั่วนิ่ม” และ “แทงกั๊ก”

นายศรีเรศ โกฎคำลือ ปฏิเสธข่าวย้ายพรรคว่า ไม่เป็นความจริง

“ไม่เข้าใจคนปล่อยข่าวต้องการอะไร หรือแค่มือบอนเขียนชื่อเพิ่มเข้าไป ยืนยันยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยแน่” อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าว

นายชัยศรี กีฬา อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ กลุ่ม พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เผยว่า ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว

ส่วนที่มีชื่อเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ อาจเพราะก่อนหน้านี้ได้รับการติดต่อจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ตนเองและสมาชิกอีก 5-6 คน ยังไม่ตัดสินใจ

นายอมรเทพ สมหมาย อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ยืนยันยังเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา แต่อนาคตยังไม่ชัดเจน แต่พรรคพลังประชารัฐกำลังมาแรง น่าสนใจมาก

นายยรรยง ร่วมพัฒนา อดีต ส.ส.สุรินทร์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่าผู้ใหญ่พรรคพลังประชารัฐติดต่อทาบทามมาจริง แต่ยังไม่ได้รับปากหรือปฏิเสธ

“แต่กระแสการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่าทุกพรรคจะพากันไปตายโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะภาคอีสาน 20 จังหวัด ยากจะผ่านด่านพรรคเพื่อไทยได้”

ทั้งหมดคือบรรยากาศความคึกคักภายในพรรคพลังประชารัฐ รายชื่อถูกปล่อยออกมา นอกจากการตีขลุม ส่วนหนึ่งยังต้องการตัดกระแสพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้ร้อนแรงเกินไป

เป็นความคึกคักอันสวนกับกระแส “ปฏิรูปการเมือง” ที่ค่อยๆ จางหายไป

พร้อมกับสายลมแห่งการเลือกตั้ง