มุกดา สุวรรณชาติ : ขาขึ้นของกลุ่มอยากเลือกตั้ง ขาลงของ คสช. … แปรผันตามเวลา

มุกดา สุวรรณชาติ

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคลื่อนไหวมานานพอสมควร และทุกครั้งก็ถูกขัดขวาง ถูกจับดำเนินคดี แต่ก็ยังพยายามต่อไป

การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม กลายเป็นผลงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เปลี่ยนจากปริมาณที่ทำมาหลายครั้งไปสู่คุณภาพที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

1. ทำไมจึงต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง

เรื่องนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาล คสช. ทำตามสัญญาที่เคยเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2559…2560 และ 2561 ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ถึงแม้จะมีสัญญากับทั้งโลกก็ยังมีลูกเล่นเลื่อนการเลือกตั้งออกมาเรื่อยๆ นี่จึงเป็นสภาพที่ผิดปกติจากโรดแม็ปทั่วไป ความเชื่อถือจึงให้น้ำหนักต่อคำพูดที่ว่า…เขาอยากอยู่ยาว…

ถ้ามองย้อนกลับไปยุคของการรัฐประหารก่อนหน้านี้ของคณะ รสช. ปี 2534 เพียงปีเดียวก็มีการเลือกตั้ง คณะรัฐประหารปี 2549 ของ คมช. ก็ใช้เวลาประมาณปีกว่าเช่นกัน แสดงว่า 1-2 ปีทำได้จริง แต่จะทำหรือไม่เท่านั้น เพราะมีอำนาจสั่งได้ทุกฝ่าย จึงต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อเร่งรัดให้เกิดขึ้นจริง

2. วิธีการเคลื่อนไหวก็เป็นวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิอันชอบธรรม ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ถูกประกาศและนำมาใช้แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลใช้ในการขัดขวางและจับกุมคือคำสั่งของคณะ คสช. ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

ต้องมาคอยดูว่าการตัดสินคดีแบบนี้หลายคดีจะจบอย่างไร คำสั่ง คสช. จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ผลงานของกลุ่มอยากเลือกตั้ง
คือการต่อสู้ตามยุคสมัย

ไม่กลัวความขัดแย้ง ไม่หลงอยู่ในกับดักความกลัว

ทฤษฎีที่ทำให้เกิดความกลัว บางคนเรียกว่าทฤษฎีผีปอบ

เพราะระยะ10 ปีหลังมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการสร้างปีศาจขึ้นมาเพื่อทำให้คนกลัว

ความกลัวครั้งหลังๆ คือกลัวความวุ่นวายเพราะมีม็อบปี 2551 เกือบ 8 เดือน ม็อบปี 2553 นาน 2 เดือนกว่า ม็อบปี 2556-2557 ประมาณ 7 เดือน

ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

หลังจากนั้นก็มีข้อเสนอว่า ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการชุมนุมเรียกร้องทางเศรษฐกิจ ก็จะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง

จึงมีการห้ามทุกคนว่าต้องไม่เคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรทั้งสิ้น

แต่ถ้าลองย้อนหลังไปดูจะพบว่าสาเหตุตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น ก็เกิดมาจากคนกลุ่มเดิมๆ ที่ไม่ยอมรับกติกาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นก็ใช้กำลังคนและกำลังทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงและเข้ายึดอำนาจรัฐ

ทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า การปิดเมือง ปิดถนน ยึดกระทรวง ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความหวาดกลัว

ปีศาจของความวุ่นวายฝังอยู่ในใจคน แต่ก็มีความรู้สึกว่ายอมๆ ไปเถอะมันจะได้เงียบสงบ

แต่ภายใต้ความเงียบสงบนั้นก็มีความทุกข์ยาก มีปัญหาต่างๆ ติดตามมาอย่างมากมาย เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนทั่วไปก็รู้ว่าเงียบต่อไปไม่ได้แล้ว

การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในอดีตในยุคช่วงมีรัฐบาลจากการรัฐประหาร ก็มีคนเคยต่อสู้ เช่น คุณอุทัย พิมพ์ใจชน และพวกรวม 3 คนฟ้องจอมพลถนอมที่ทำการรัฐประหาร แต่ก็ถูกจับไปคุมขัง ชนวนของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็มาจากการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

การเสนอยกเลิก หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ ไม่ใช่เพิ่งมีจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากอนาคตใหม่ แต่มีมาก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมาก แต่จะสร้างกระแสหนุนอย่างไร ที่ผ่านมาคนฉีกรัฐธรรมนูญไม่เคยมีความผิด คนเสนอแก้กลับถูกขอให้ลงโทษ ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า

การเลือกตั้งหลังการรัฐประหารทุกยุคสมัย ล้วนเกิดจากแรงกดดันทั้งสิ้น เพราะผู้ครองอำนาจก็คิดอยู่แบบเผด็จการนานที่สุด ถ้าลากไม่ไหวก็หาทางสืบทอดอำนาจต่อ จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญที่เอาเปรียบทุกครั้ง สิทธิประชาธิปไตย ไม่ต่อสู้เรียกร้องมีหรือจะได้มา

 

เกมการเคลื่อนไหว 21-22 พฤษภาคม
กลายเป็นการประกาศต่อทั้งโลก

พฤษภาคมกลุ่มเด็กที่เคลื่อนไหวรู้อยู่แล้วว่าคนร่วมคงไม่มาก ไม่ใช่การชุมนุมที่จะมีคนร่วมเป็นหมื่นเป็นแสนคน

ดังนั้น การเดินออกจากธรรมศาสตร์เพื่อไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาล คสช. จึงเป็นจุดหมายที่จะเป็นข่าวเชิงสัญลักษณ์ให้ผู้คนได้รับรู้ว่า คสช. อยู่แบบรัฐประหารมา 4 ปีแล้วมีผลงานอะไรบ้าง และควรจะต้องรีบเลือกตั้งใหม่ได้แล้ว

แต่การปิดล้อมอย่างหนักเพื่อไม่ให้เคลื่อนขบวน กลายเป็นข่าวใหญ่ และสุดท้ายไปจบที่การอ่านแถลงการณ์ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ

การยื่นหนังสือถึงรัฐบาลภายในประเทศมันก็เลยเปลี่ยนขยายออกไปสู่ระดับโลก

ยังไม่เท่านั้น รัฐบาลก็รีบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยการสั่งจับกุมเด็กที่เคลื่อนไหวเหล่านั้น เมื่อพวกเขามอบตัว ก็สั่งดำเนินคดีหลายข้อหา ในชั้นต้นดูเหมือนว่าฝ่ายเด็กๆ จะเสียเปรียบ

แต่หลังจากมีคนเข้าเยี่ยมมากขึ้น เหตุการณ์อาจจะขยายต่อไปได้ รัฐบาลจึงต้องรีบยุติเกมเพราะเมื่อครั้งยุค 14 ตุลาคม 2516 ก็มีคนเดินแจกใบปลิวและถูกจับไม่กี่คนเช่นกัน สถานการณ์ในช่วงแรกดูเหมือนไม่มีอะไร

แต่เรื่องการเมืองแบบนี้ในสถานการณ์ที่คนไม่พอใจมากขึ้น เหตุการณ์อาจจะขยายใหญ่ได้

ที่ดูแล้วขัดตาขัดใจชาวบ้านมาก ก็คือเกมบุกบ้านผู้ไม่ยอมสยบ ถือเป็นการคุกคามที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลหลังรัฐประหารยุคใด อันนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนอนุญาต

เรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งก็คือข้าราชการระดับกลางที่เข้ามาทำหน้าที่จับกุมฟ้องร้องกล่าวหา บางคนทำหลายครั้งหลายหนมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตคนเหล่านี้จะถูกเพ่งเล็งว่าใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลต่อการรับราชการในอนาคต เพราะมีโจทย์ที่ในอนาคตอาจมีตำแหน่งใหญ่โตก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นผู้ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันนี้คงไม่เหลืออำนาจอะไรแล้ว ไม่มีใครปกป้องพวกเขา

แนวร่วมที่อยากเลือกตั้ง นับวันก็ยิ่งมาก และปรากฏตัวชัดเจน คือกลุ่มที่ขอตั้งพรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองเก่า ดังนั้น คนอยากเลือกตั้งจะปรากฏตัวเป็นล้านใน 30 วันข้างหน้า และจะบีบให้วันเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นอย่างแน่นอน

นับแต่นี้ไปจะเป็นขาขึ้นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และแนวร่วมจากเกือบทุกพรรคการเมือง

ใช้มาตรา 116
หวังตัดไฟแต่ต้นลม
หรือโหมไฟกันแน่

ความผิดตามมาตรานี้คือ “ยุยงปลุกปั่น” กลายเป็นกฎหมายมาตราล่าสุดที่ถูกใช้เพื่อสยบการต่อต้านรัฐบาล คสช. ไม่ให้ขยายตัวตั้งแต่บนท้องถนนจนถึงบนโลกโซเชียล

มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า… “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต”

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ไอลอว์ให้รายละเอียดกับกฎหมายมาตรานี้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น”

หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือกฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116 และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด “ความมั่นคง” การกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย

ภายใต้รัฐบาล คสช. มาตรา 116 ได้ถูกใช้ในการเอาผิดกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. พบว่ามีมากมายจากหลายอาชีพ

– นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคเพื่อไทย ถูกตั้งข้อหาหลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างชาติที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ล่าสุดแถลงข่าวที่พรรค ก็โดนตั้งข้อหาอีก

– นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรมสังคม ถูกจับเมื่อ 5 มิถุนายน 2557 หลังฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และมีการโพสต์รวมถึงทวีตข้อความชวนทำกิจกรรมต่อต้าน คสช.

– นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ถูกตั้งข้อหาจากกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ที่เดินเท้าจากบางบัวทองไปให้ปากคำยัง สน.ปทุมวัน

– 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมต่อต้าน คสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

– 8 แอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ถูกจับพร้อมกันในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ฐานทำเพจเฟซบุ๊กโจมตี พล.อ.ประยุทธ์

– คดีจดหมายเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญ ของบุญเลิศ-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ และพวกรวม 15 คน จากกรณีส่งจดหมายจำนวนมากไปยังประชาชนในจังหวัดลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่ ก่อนลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

ในช่วงหลัง ยิ่งเห็นเด่นชัด การแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย แกนนำ 8 คนก็โดน ม.116 การเดินของกลุ่มอยากเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม ก็โดน ม.116

2561 เป็นปีแห่งสิทธิมนุษยชนของไทยจริงหรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหายไปไหน

4 ปี คสช. คนรักเท่าผืนหนัง
คนชังเท่าผืนเสื่อ

การเคลื่อนไหว 21-22 พฤษภาคม ทำให้คนรำลึกว่า คสช. ปกครองมา 4 ปีแล้วนะ

23 พฤษภาคม 2561 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชื่อ “ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก” ซึ่งเป็นเพจที่มีคนกดถูกใจ 3 แสน มักโพสต์สนับสนุน คสช. และโจมตีกลุ่มที่ต่อต้าน คสช. ตั้งโหวตภายใต้โจทย์ว่า “คุณยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่”

เริ่มโหวตเมื่อ 23 พฤษภาคม เวลา 16:25 น. แค่ 26 ชั่วโมง มีผู้ร่วมโหวต 2.2 แสน โดย 88% หรือประมาณ 1.9 แสนโหวตว่า ไม่สนับสนุน ขณะที่มีเพียง 12% ที่ตอบว่าสนับสนุน

แม้การทำสำรวจใหม่ครั้งที่ 2 ผลคะแนนกลับแย่กว่าเก่า มีคนไม่ยอมรับเกิน 90 เปอร์เซ็นต์

ถ้าวิเคราะห์ว่าคนที่โหวตเสียงกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่าพวกเขารับรู้เหตุผลต่างๆ นานา ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ และปัญหาทั่วไป เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การตกงาน ข่าวการคอร์รัปชั่น แต่โดยรวมมองว่า 4 ปีมากพอแล้ว ถ้าขืนอยู่ต่อไป ประเทศไทยมีปัญหาแน่

สิ่งที่น่าคิดก็คือจากนี้ไปอีก 6-8 เดือน รัฐบาล คสช. จะมีอะไรพลิกฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความเชื่อถือของประชาชน ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คะแนนจะยิ่งตกต่ำไปเรื่อยๆ ยิ่งการเลือกตั้งช้าเท่าใด โอกาสพ่ายแพ้ก็มากขึ้นเท่านั้น โอกาสทางการเมืองจากนี้แปรผันตามเวลา

ตอนนี้ปีศาจความวุ่นวายทั้งหลายก็หันมาตั้งพรรคการเมือง เตรียมหาเสียงกันแล้ว ดูแล้วคงไม่มีใครมาทำความวุ่นวายปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งแน่ มีแต่แก่งแย่งกัน หวังไปร่วมรัฐบาลผสม

ในเชิงยุทธศาสตร์เกมการเลือกตั้งของ คสช. มีแต่ต้องเร่งให้เร็วขึ้น ยิ่งยืดยิ่งสั้น ถ้ายังชักช้าจะไม่เหลือพร้าสักเล่ม