อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ

ไม่ว่าจะมีการประชุมครั้งสำคัญของโลกระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กับประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน (Kim Jong Un) ในวันที่ 12 มิถุนายน 2018

เราก็ยังคงต้องติดตามและเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้อยู่ดี

บทความนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นของผมเท่านั้น

 

แนวโน้มทั่วไป

ในอีกเพียง 4 ปีข้างหน้า เกาหลีเหนือหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเหนือ (Democratic People”s Republic of Korea) จะเป็นพิษภัยในที่สุด

เกาหลีเหนือกำลังพัฒนาขีดความสามารถที่จะโจมตีไปยังทวีปสหรัฐอเมริกาด้วยอาวุธนิวเคลียร์

อีกทั้งสามารถสร้างอันตรายโดยรวมต่อ “ร่ม” นิวเคลียร์ในทวีปเอเชีย คือ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea)

เป็นที่น่าสงสัยมากว่า เป็นความเสี่ยงต่อเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาหรือจะดำเนินการป้องกันกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นหรือกรุงโซลของสาธารณรัฐเกาหลีดี

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ว่า “สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น” นี่เป็นแนวโน้มตามแนวคิดของ John Delury1

แนวโน้มที่ว่านี้เป็นตรรกะของกลุ่มนักคิดบางกลุ่มที่เห็นว่าการใช้มาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจใหม่หรือการดำเนินการป้องปรามทางทหารนั้น พวกเขาเห็นว่าทั้ง 2 มาตรการนี้ไม่ได้ก่อผลสะเทือนอะไร

ยิ่งใช้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิม ไม่เพียงส่งเสริมให้เกาหลีเหนือเร่งโครงการจรวดทำลายล้างข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile) และการดำเนินการทางทหารสามารถนำไปสู่การทำลายล้างกรุงโซลของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งตั้งอยู่ภายในวิถีอาวุธของเกาหลีเหนือ

อีกทั้งยังเผยกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในเกาะกวม (Guam) ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีออกมา ซึ่งนำไปสู่การทำลายล้างการตอบโต้และมีแนวโน้มไปกระตุ้นสงครามทำลายล้างภูมิภาคเอเชียตะวันออกภูมิภาคหนึ่งที่มีประชากรและมั่งคั่งที่สุดของโลก

 

ถ้าสหรัฐอเมริกามีความปรารถนาที่แท้จริงให้เกิดสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี (Korean Peninsula) ควรยุติการหาหนทางต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือหายใจไม่ออกและทำให้ระบอบคิม (Kim Regime) สั่นคลอนลง

อีกทั้งหาหนทางต่างๆ ให้เกาหลีเหนือรู้สึกมั่นคงมากขึ้น

ดูเหมือนว่า แนวคิดของคนกลุ่มนี้เป็นการค้านสัญชาตญาณและให้โอกาสความทะเยอทะยานด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและการก่อปัญหาสิทธิมนุษยชนต่อไป

ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนเกาหลีเหนือมองว่าเป็นการยอมแพ้พลังอำนาจที่ขัดขวาง

ครั้นเมื่อเกาหลีเหนือรู้สึกว่าตนเองมั่นคง อุดมสมบูรณ์และมีระบบเศรษฐกิจที่บูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Asia)

แนวคิดดังกล่าวช่วยทำให้เกิดสิ่งที่มากกว่าเดิมคือ โลกสามารถช่วยคนเกาหลีเหนือโดยผ่อนคลายความคิดการปลดเกาหลีเหนือออกจากตำแหน่งและสลายกำแพงต่างๆ ที่แยกเกาหลีเหนือออกจากโลกภายนอก

ดังนั้น ในทันทีทันใด เป้าหมายของสหรัฐอเมริกาจะเป็นการเจรจาเพื่อ “ระงับ” โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเพื่อเป็นการยืนยันความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา และเมื่อนั้นจะทำให้ประธานาธิบดีคิม จอง อึน เริ่มมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและเปลี่ยนแปลงเกาหลีเหนือที่ช้ามากแล้ว

 

หากมองจากพัฒนาการที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์เปิดแนวทางนี้ แม้ว่าตัวทรัมป์มีการดำเนินการในแนวทาง “สายเหยี่ยว” มาก่อนเมื่อเขาแสดงความเป็นศัตรูในการโจมตีเกาหลีเหนือช่วงที่เขาประสบความล้มเหลวในการชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2000 ช่วงนั้นทรัมป์ยืนยันว่า “เขาไม่ใช่พ่อค้าเร่สงคราม”2 และตอบโต้ว่า การเจรจาเป็นวิถีทางที่จะนำมาใช้เป็นข้อสรุป ช่วงหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขากล่าวว่า เขาไม่มีปัญหาในการพูดคุยกับคิม จอง อึน น่าสนใจคือ ในฐานะที่มีหัวใจของนักธุรกิจ ทรัมป์จะไม่ปฏิเสธดีลที่ดีนี้

ประธานาธิบดีคิม จอง อึน ก็พร้อมที่จะทำดีลนี้ จะเห็นได้ว่า หลังจากคิม จอง อึน ก้าวสู่อำนาจในปี ค.ศ.2012 ประธานาธิบดีคิม จอง อึน เปิดเผยความลับเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติอันใหม่ ที่จะมียุทธศาสตร์ที่เท่าๆ กันระหว่าง “ความมั่นคง” และ “ความมั่งคั่ง” อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ให้ดีๆ จะเห็นได้ว่า ประธานาธิบดีคิม จอง อึน เมื่อก้าวสู่อำนาจได้มุ่งเป็นอันดับแรกในการรวมเป็นหนึ่งของอำนาจภายในประเทศและการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ

ประธานาธิบดีทรัมป์สามารถช่วยประธานาธิบดีคิมมุ่งไปที่เศรษฐกิจได้ และดูเหมือนว่าประธานาธิบดีคิมต้องการทั้ง 2 อย่างคือ เศรษฐกิจและอำนาจทางทหาร ถึงกระนั้นก็ดี ทั้งประธานาธิบดีคิมและทรัมป์อยู่ในสถานะที่ดีจะทำดีลนี้เพื่อทำให้ความเสี่ยงของทั้ง 2 ประเทศลดต่ำลง รวมทั้งความเสี่ยงของทั้งภูมิภาคด้วย

การเจรจาครั้งนี้ หากมองจากมุมของประธานาธิบดีทรัมป์ การเจรจากับเกาหลีเหนืออนุญาตให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันอีกครั้งหนึ่งในความเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคซึ่งเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา

อีกทั้ง สุดท้ายนี้เท่ากับเริ่มการแก้ปัญหาซึ่งส่งต่อกันมายังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนนับตั้งแต่ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน (Harry Truman) เป็นต้นมา

จะเกิดการเจรจาของผู้นำทั้งสองประเทศในช่วงกลางเดือนมิถุนายนหรือไม่ ตรรกะที่กล่าวมาข้างต้นอาจช่วยให้เข้าใจพัฒนาการและผลที่จะติดตามมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและของโลกด้วย

เราควรติดตามต่อไป

————————————————————————————————————————
(1) John Delury, “Trump and North Korea” Foreign Affairs (March/April 2017) : 46.
(2) Ibid., 47.