จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 ต.ค. 59

หนึ่งคำ

เรียน บรรณาธิการ “มติชนสุดสัปดาห์”

กวีกระวาด เรื่อง “…แห่งปวงชนแท้จริง” ของผมในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1885 ประจำวันที่ 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 2559

ตีพิมพ์ตกหล่นไปหนึ่งคำ

หากแต่จำเป็นต้องชี้แจง

คำที่ตกหล่นคือคำว่า “พันธกาล*”

อันจะไปสัมพันธ์กับหมายเหตุท้ายบทที่ว่า “*ชื่อหนังสือรวมบทกวีของ รชา พรมภวังค์”

เนื้อความที่ครบถ้วน ดังนี้ครับ :

“วัตถุหยาบปราบปรามนามธรรม

ยุคตกต่ำกักกันพันธกาล*”

จึงเรียนบรรณาธิการ เพื่อสื่อสารไปยังผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ครับ

ด้วยความนับถือ

ประกาย ปรัชญา

คําเพียงหนึ่งคำ อาจทำลายความหมายอันสำคัญได้

ยิ่งเป็นกวีนิพนธ์ ยิ่งสำคัญ

“มติชนสุดสัปดาห์” ไม่มีอะไรแก้ตัว

นอกจากขออภัย ประกาย ปรัชญา

ขออภัยผู้อ่าน

และแหะ-แหะ ขออภัยเพิ่มเติม (ฮา)

ฉบับเดียวกัน หน้า 43 คอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ ของ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร”

ชื่อบทความ “ใครชอบเคาะโต๊ะบ้าง”

กลายเป็น “ใครชอบเคาะโต้ะบ้าง”

เอ้า บ.ก.เคาะ โต้ะ เอ้ย โต๊ะ 10 ที เป็นการลงโทษ


สองคำ

คําบางคำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่เห็นแล้ว รู้สึกขัดหู ขัดตา น่าจะมีอยู่ไม่น้อย

อย่างคำว่า “หมาใน” ที่ถกเถียงกันนี่ก็คำหนึ่ง

ทุกครั้งที่ผมอ่านเจอคำว่า “หมาใน” (ไม้ม้วน) เป็นต้องรู้สึกว่าเขียนผิดทุกที

เพราะคุ้นเคยและใช้คำว่า “หมาไน” (ไม้มลาย) มาตลอด

แต่คิดว่าควรได้ทั้ง 2 คำ

โดยไม่ต้อง ขุดลึกลงถึงรากหญ้า รากแก้ว รากฝอย ให้รากงอกอีกต่อไป

เหตุผลเป็นอย่างนี้ครับ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับแก้ไข พ.ศ.2525 ฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ ใช้คำเรียกนกในวงศ์ Pittidae ว่า “แต้วแร้ว” (ร-เรือ)

ชาวบ้านและนักดูนก เห็นแล้วหงุดหงิดและงงงวยมาก

เพราะทุกคนออกเสียงเรียกนกชนิดนี้ว่า “แต้วแล้ว” (ล-ลิง)

ไม่มีใครรัวลิ้น ออกเสียงเป็น “แต้วแร้ว” เพราะขัดความรู้สึกการออกเสียงตามธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง

สมาคมอนุรักษ์นก จึงทำหนังสือ ความเห็นชาวบ้านพื้นถิ่น นักดูนก นักวิชาการ เรื่องการเรียกชื่อนก ตามสภาพความเป็นจริงเสนอไปยังราชบัณฑิตยสถาน ขอให้พิจารณา

ผลเป็นอย่างไร?

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2538 ได้เพิ่มเติมข้อความท้ายคำ “แต้วแร้ว” ว่า

“เขียนเป็นแต้วแล้ว ก็มี” และเพิ่มคำว่า “แต้วแล้ว” ขึ้นมาอีก 1 คำ ต่อจาก “แต้วแร้ว”!

ส่วนคำ “หมาไน” ถ้ามีใครยื่นเรื่องไปให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณา ต่อไปอาจมีสร้อยคำว่า “เขียนเป็นหมาไนก็มี” ต่อท้าย “หมาใน” ก็ได้

รัก และนับถือ

กรินทร์

กรินทร์ มิใช่ กรินทร์ ไหน

หากแต่คือ “กรินทร์ จิรัจฉริยากูล” เจ้าของคอลัมน์ แกลเลอรี “นก” ในมติชนสุดสัปดาห์ นี่เอง

ในฐานะ ประชากรชาวดง

และในฐานะ ผู้มีประสบการณ์ กับ ราชบัณฑิตยสถาน มาโดยตรงกับกรณีนี้

“แต้วแร้ว” (ร-เรือ) กับ “แต้วแล้ว” (ล-ลิง)

เสนอทางออก แบบ มุ่งกระแทกกลาง

หมา-ใน ก็ดี

หมา-ไน ก็ได้

แต่อย่าไปไกลถึง

หมา เอ้ย สุนัข-นอก เลย หวาดเจี๋ยวว (ไม่ฮา)

หมายเหตุ พิสูจน์อักษร ไม้จัตวา เน้อ ไม่ใช่ ไม้ตรี (hi-hi)