ไซเบอร์ วอทช์แมน : 4 ปี คสช. ผ่าน “สวนดุสิตโพล” ถึง “คนส.โพล” ผู้คนกำลังบอกอะไร?

ผ่านไปอีกครั้งสำหรับ 4 ปีของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดย คสช. ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้ ระบบทหารยังคงควบคุมประเทศอยู่ แต่บรรดาผู้มีอำนาจกำลังเผชิญความท้าทายที่กำลังเติบโต ไม่ใช่แค่การเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและ คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจบลงด้วยการไปถึงได้แค่หน้าองค์การสหประชาชาติ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และการ “เข้ามอบตัว” ของแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมจำนวน 15 คน (แต่พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ไม่ยอมและเปลี่ยนคำว่าเป็นการ “จับกุม”) ตามด้วยการถูกคุมตัวนานถึง 2 วันก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมืองที่ละเมิดต่อกฎหมาย 

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวในวันนั้น ได้ส่งผลต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างที่ไม่เคย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ตลอด 4 ปีที่อยู่กับ คสช. สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้นั้นคือ  “ความอดทนของคน”

และสิ่งที่ว่านี้ ได้สะท้อนผ่านโพลสำรวจ ซึ่งก่อนเหตุการณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้จัดทำขึ้นและเผยแพร่สู่สาธารณชนในวาระ 4 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แน่นอนว่า กำลังพูดถึง “สวนดุสิตโพล” และอีกผลสำรวจคือ “คนส.โพล” หลายคนได้ยินชื่อนี้คงไม่รู้จักแน่ว่า เป็นโพลของที่ไหนกัน? ซึ่งจะอธิบายในส่วนต่อไป

แต่สิ่งสำคัญที่โพล 2 แห่งนี้ ทำให้เราได้เห็นระดับความอดทนของคน และถือเป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนของการดำรงมาถึง 4 ปี ของ คสช. ได้อย่างดี

 

เริ่มจากของสวนดุสิตโพลก่อน โพลที่ขึ้นชื่ออันดับต้นของประเทศและถูกอ้างอิงนำไปใช้จากหลายกลุ่มหลายฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล คสช. ที่ดูจะให้ความสนใจกับโพลเป็นพิเศษ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สวนดุสิตโพลสำรวจประชาชนจำนวน 1,346 คน ในเรื่อง “ประชาชนได้อะไร? จาก 4 ปีรัฐบาล คสช.” ก่อนครบรอบ 4 ปี ซึ่งจะวัดผลสำรวจ 4 ข้อ

โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้น ประชาชน “สมหวัง” ในเรื่องบ้านเมืองสงบ ไม่มีชุมนุมประท้วงรุนแรง (56.45%) (ข้อนี้ต้องถกเถียงกันว่าสงบจริงหรือถูกกดทับให้เงียบสนิทกันแน่?) ตามด้วย ใช้กฎหมายเด็ดขาดในการปราบคอร์รัปชั่น ผู้มีอิทธิพล (30.88%), จัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ป่าไม้ (24.65%) รถไฟความเร็วสูง (18.20%) และช่วยผู้มีรายได้น้อย (17.05%)

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีทัศนะ “ผิดหวัง” กับ คสช. ด้วย นำโด่งคือ เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเดือดร้อน (41.78%), การทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ (34.22%) ซึ่งค่อนข้างลักลั่นกับ “สมหวัง” อยู่เหมือนกันว่า ปราบโกงแต่ทำไมยังมีการทุจริตอยู่? ตามด้วย แก้ไขปัญหาล่าช้า (19.66%), ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม (15.31%) และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (13.23%)

สิ่งน่าสังเกตคือ มีความย้อนแย้งอยู่หลายอย่าง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ปกติ ภายใต้ความสงบนั้นกลับมีแต่ความตกต่ำซบเซา ที่ผ่านมา มีข่าวคราวของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐในหลายพื้นที่ ไม่ว่าชาวบ้านวังสะพุง วานรนิวาส จนมาถึงการประท้วงของพีมูฟ และสมัชชาคนจน มีข่าวความเดือดร้อนเกิดขึ้นไม่ขาดสาย ความสมหวังที่ว่าบ้านเมืองสงบนั้น จึงดูย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ต่อกันที่ ว่าเรื่องสิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาล คสช. ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีหน้า โดยสิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว หาแนวทางป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง (32.02%) ตามด้วย ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ยึดพวกพ้อง, แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน เป็นต้น

และสุดท้ายคือ จากคะแนนเต็ม 10 ประชาชนให้รัฐบาล คสช. แค่ 5.42 ถ้าเทียบกับเกรดเรียนจัดว่าได้เกรด D คือ ไม่สอบตก (ติด F) แต่ถือว่าอยู่ในฐานะน่าเป็นห่วงอย่างมาก

 

มากันที่โพลน้องใหม่ที่เป็นโพลเฉพาะกิจอย่าง คนส.โพล ซึ่งเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้จัดแถลงในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน” ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นการสำรวจนิสิตนักศึกษาจาก 19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน 2,175 คน ซึ่งนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกับกล่าวว่า เป็นการสำรวจที่ไม่มีครั้งไหนครอบคลุมทุกมหาวิทยาลัยได้เท่านี้อีกแล้ว

โพลสำรวจแบ่งออกเป็น 3 หมวด

หมวดแรกคือ รัฐประหารและ คสช. เริ่มจากการชมรายการคืนความสุขในช่วงไพรม์ไทม์ทุกวันศุกร์พบว่า 72.7% ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย และ 27.3 % ติดตาม ส่วนคำถาม คิดว่าการรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ 72.6% ตอบว่าไม่ได้ และ 27.4% เห็นว่าได้

ผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี 70.6% เห็นว่าแย่/แย่มาก และ 29.4% เห็นว่าดี/ดีเยี่ยม

เปรียบเทียบถึงทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 86.2% บอกไม่เห็นด้วย 13.8% เห็นด้วย

แค่หมวดแรกก็ได้คะแนนท่วมท้นแล้ว

 

มาหมวดที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ คำถามที่ว่าความเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ พบว่าเกินครึ่งไม่เชื่อมั่นว่าจะแก้ไขได้ หรือความเชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์ชาติ ก็พบว่าไม่เชื่อมั่นถึง 70.8%

ต่อด้วยหมวดที่ 3 ความหวังและการเลือกตั้ง เริ่มจากความหวังสำหรับอนาคตประชาธิปไตย พบว่า หมดความหวังถึง 75.4% มีความหวังเพียง 24.6%

ส่วนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกฯ คนนอก 75.2% บอกไม่เห็นด้วย มีเห็นด้วยเพียง 24.8%

ในขณะที่ถามว่า ในอนาคตมีการเลือกตั้งจะไปหรือไม่ 72.9% ระบุไป 4.2% ระบุไม่ไป และ 21.6% ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งมีความน่าสนใจ

ถ้าหากจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด พบว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 22.7% (โดยผู้แถลงระบุว่า ในส่วนผลสำรวจเฉพาะภาคเหนือพบว่านักศึกษาเลือกประชาธิปัตย์มากที่สุด อาจเพราะด้วยกระแสไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ) พรรคทางเลือกใหม่ 21.6% พรรคเพื่อไทย 20.3% พรรคอนาคตใหม่ 10% พรรคอื่นๆ 8.6% พรรคทหาร 2.5% และไม่เลือกพรรคใด 14.4% ซึ่งอันหลังสุดพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อดึงคนกลุ่มนี้เข้ามา

และสำหรับ คนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก พบว่า 70.6% ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ในส่วนนี้มีถึง 35% ระบุใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ (อย่างเจ็บ!) ถัดมาคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 6.8% นายทักษิณ ชินวัตร 5.7% นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 4.1% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคนปัจจุบัน 1.9% และที่ฮือฮามากที่สุด เห็นจะเป็น นายอุดม แต้พานิช เดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังที่แซวทุกรัฐบาลและโลกโซเชียลเชียร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีถึง 1.6% ต่อด้วย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ 1.1% นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม ได้ 1.1%

และชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 0.9%

 

ทั้งสองโพลมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ประชากรตัวอย่างทั้งประชาชนทั่วไปและนิสิตนักศึกษาต่างต้องการให้มีการเลือกตั้ง นั้นจึงเป็นโจทย์บังคับให้กับใครก็ตามที่คิดจะเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก คงต้องคิดหนัก ว่ายังจะสร้างเงื่อนไขสวนทางกับความต้องการของประชาชนได้อีกนานแค่ไหน

ส่วนสิ่งที่ต่างกันคือ มีผลสำรวจก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ นำโด่งแบบทิ้งห่างคนอื่นไปมาก แต่พอมาเจอโพลของ คนส. ที่สำรวจนักศึกษา ก็พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคนเลือกน้อย

และที่เจ็บสุดคือ ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสะท้อนได้อีกอย่างหนึ่งคือ สภาพสังคมและบ้านเมืองภายใต้การปกครองของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์นั้นถือได้ว่าเป็นผลงานที่วัดได้ในตัวของมันเอง

รวมถึงเมื่อไม่กี่วันมานี้ 1 ในเพจที่อยู่ฝั่งสนับสนุน คสช.อย่าง “ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก” ก็ได้ทำโพลบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชวนชาวโซเชียลร่วมโหวตกันว่า ครบรอบ 4 ปี คสช คุณยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่ ซึ่งรอบแรกที่เพจนี้ทำไว้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ สนับสนุนให้อยู่ต่อมีเพียง 10% และไม่สนับสนุนให้อยู่ต่อมีถึง 90% แต่แล้วเว็บไซต์ประชาไทก็ได้รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าโพสต์ที่ทำไปนั้น เกิดหายไปเฉยๆ แล้วต่อมาก็มีการรีโพสต๋แบบเดิมอีกครั้ง คราวนี้ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่ดีขึ้น หนำซ้ำยังเลวร้ายหนักกว่าเดิมอีก ไม่รู้จะเรียกว่าสงสารหรืออะไรดีแล้ว

แต่ถ้าโพลหลายสำนักยังคงแสดงผลที่ต่างกันเช่นนี้ เห็นทีคงต้องไปตัดสินที่โพลสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุด นั้นคือ

การเลือกตั้ง เท่านั้น!