เรือรบหลวงโพสามต้น อนุสรณ์ความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ ที่กำลังรอวันจมลงสู่ทะเลโดยสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2555 จังหวัดจันทบุรีได้จัดพิธีบวงสรวง “เรือรบหลวงโพสามต้น” ที่ได้อัญเชิญมาจากอู่กรมทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มาประดิษฐานอยู่ที่อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินมหาราช หรืออู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม เพื่อที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจโดยทั่วไป

โดยในวันที่มีการทำพิธีบวงสรวงเมื่อเกือบๆ 6 ปีมาแล้วที่ว่านั้น สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ได้รายงานไว้ว่า การอัญเชิญเรือรบหลวงโพสามต้นจากสมุทรปราการ มายังจันทบุรีนั้น ต้องใช้งบประมาณในการลากเรือ (เนื่องจากเป็นเรือที่ถูกปลดระวางประจำการ และใช้งานในการเดินสมุทรไม่ได้แล้ว) สูงถึง 5.6 ล้านบาทเลยทีเดียว

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://mgronline.com/local/detail/9550000122608)

น่าสนใจนะครับว่าทำไมต้องเป็น เรือรบหลวงโพสามต้น? เพราะว่าเมื่อสืบเอาจากประวัติของเรือรบหลวงลำนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันกับจังหวัดจันบุรีเอาเสียเลย

 

เรือรบหลวงลำนี้ ถูกต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือเรดเฟิร์น คอนสตรักชั่น ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยได้ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

มีเกียรติประวัติที่สำคัญคือ การที่ได้เข้าร่วมการสวนสนามทางเรือ ที่น่านน้ำสปลิตเฮด (Spithead) ประเทศสหราชอาณาจักร เนื่องในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2496

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนั้นมีเรือต่างๆ ที่เข้าร่วมจำแนกได้เป็น เรือรบอังกฤษ และเรือรบในเครือจักรภพจำนวนรวม 250 ลำ เรือสินค้า 20 ลำ และเรือรบจากต่างประเทศที่ได้รับเชิญจำนวน 16 ลำ ได้แก่ เรือจากประเทศเบลเยียม บราซิล เดนมาร์ก โดมินิกันรีพับลิก กรีซ ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน สวีเดน ตุรกี สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ซึ่งได้ส่งเรือรบหลวงโพสามต้นไปนั่นเอง

การที่เรือรบหลวงโพสามต้น ได้เดินทางเข้าไปร่วมในการสวนสนามทางเรือในครั้งนั้น ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 16 ชาติที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม จึงถูกนับว่าเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญของเรือรบหลวงลำนี้ สำหรับกองทัพเรือ ประเทศไทย

โดยยังมีเกร็ดอยู่ด้วยว่า เรือรบหลวงโพสามต้นยังเป็นเรือที่มีขนาดเล็กที่สุด และเดินทางมาไกลที่สุด ในบรรดาเรือนานาชาติที่มาเข้าร่วมการสวนสนามทางเรือในครั้งนั้น

แถมลูกเรือที่ร่วมมาในการเดินทางครั้งนั้น ยังเป็นนักเรียนนายเรือรุ่น 2496 ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วยังได้รับสมญาว่ารุ่น Coronation ซึ่งหมายถึง พิธีบรมราชาภิเษกอีกต่างหาก

 

เรียกได้ว่าเกียรติประวัติที่สำคัญของเรือรบหลวงลำนี้ ได้มาจากการเข้าร่วมในพระราชพิธีครั้งสำคัญของโลกในคราวนั้นนี่เอง

ส่วนชื่อ “โพสามต้น” นั้น เป็นการตั้งชื่อขึ้นตามธรรมเนียมการตั้งชื่อของกองทัพเรือ ซึ่งมีหลักการแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของเรือ เช่น เรือพิฆาต (Destroyer) จะตั้งชื่อตามชื่อตัว

ชื่อบรรดาศักดิ์ หรือชื่อสกุลของของบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติ ตัวอย่างเช่น เรือหลวงพระร่วง (ปลดประจำการแล้ว)

หรือเรือฟริเกต (Frigate) จะตั้งตามชื่อแม่น้ำสำคัญ อาทิ เรือหลวงเจ้าพระยา, เรือหลวงท่าจีน เป็นต้น

สำหรับเรือรบหลวงโพสามต้นเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิด (Minesweeper, ในกรณีของเรือลำนี้เป็นประเภทกวาดทุ่นระเบิดไกลฝั่ง) จะตั้งตามชื่อสมรภูมิที่สำคัญ เช่น เรือหลวงลาดหญ้า หรือเรือหลวงดอนเจดีย์ นั่นเอง

แน่นอนว่า “โพสามต้น” ในชื่อเรือหลวงลำนี้ ก็ได้มาจากสมรภูมิ “โพธิ์สามต้น” อันเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพเรือจากจันทบุรีมาเสด็จศึกทัพของอังวะ (หรือที่มักจะเรียกกันตามชื่อของรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคหลังว่า ทัพพม่า) ของสุกี้พระนายกอง ที่พวกอังวะมอบหมายให้ดูแลพื้นที่บริเวณกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ได้ตีแตกเมื่อ พ.ศ.2310

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไร ถ้าจะมีผู้ศรัทธาในพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตาก (สิน) ดังที่รายละเอียดตามรายงานของสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ จะบริจาคเงินเป็นจำนวนหลายล้านบาท สำหรับลากเรือรบหลวงลำที่ว่านี้มาจอดอยู่ที่อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม หรือที่มักจะนิยมเรียกกันว่าอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินมหาราช

 

เหตุที่มีการเรียก “อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม” ว่า “อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินมหาราช” นั้น เป็นเพราะมีการค้นพบอู่เรือโบราณอยู่นั่นเอง

โดยเมื่อประกอบเข้ากับการที่อู่เรือโบราณแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองจันทบุรี ซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อก่อนที่กรุงจะแตกลงเล็กน้อย แล้วมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออก ตั้งทัพอยู่ที่ระยอง ก่อนที่จะทรงสั่งให้ทุบหม้อข้าวทั้งหมด (ส่วนจะทรงทุบจะจริงหรือเปล่านั่นอีกเรื่อง) แล้วเข้าตีเมืองจันทบุรี

จากนั้นก็แต่งทัพเรือจำนวนนับร้อยลำ ซึ่งได้มาจากเมืองจันทบุรีนี้เอง เดินทะเลผ่านเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา จนเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้ใครต่อใครพากันเชื่อว่า พื้นที่บริเวณอู่ต่อเรือบ้านเสด็จงามนี้ คือบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงเข้ามารวบรวมเอาเรือแล้วใช้กลับไปตีค่ายของพวกอังวะ ในกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่าย

และก็เป็นเพราะพวกอังวะนั้น ได้ถูกทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่ออกไปอย่างเบ็ดเสร็จ ที่ค่ายโพธิ์สามต้น นี้เอง ที่เป็นเหตุผลให้มีการนำเรือรบหลวงที่ชื่อ “โพสามต้น” ซึ่งตั้งตามสมรภูมิสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินในครั้งนั้น มาประดิษฐานอยู่ที่อู่ต่อเรือโบราณ ที่เชื่อกันว่าเป็นอู่ต่อเรือของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้ว เรือรบหลวงลำดังกล่าว ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน และอู่ต่อเรือโบราณแห่งที่ว่านี้เลย

นอกจากชื่อที่บังเอิญถูกตั้งขึ้นมาให้พ้องกับชื่อสมรภูมิครั้งเกียรติยศของพระองค์ ตามธรรมเนียมการตั้งชื่อเรือหลวงของกองทัพเรือเท่านั้นแหละครับ

แถมเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานโดยตรงจากเรือเก่าแก่ และบริบทที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ในอู่เรือโบราณแห่งนี้ ที่พอจะใช้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนเลยว่า อู่ต่อเรือคือสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จมารวบรวมเรือ สำหรับใช้ในการศึกเมื่อคราวที่กลับเข้าไปตีทัพของพวกอังวะที่เฝ้ากรุงศรีอยุธยาเลยด้วยซ้ำ

และนี่ก็ยังไม่นับว่า อันที่จริงแล้วนักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นอู่เรือโบราณแห่งนี้ ยังได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า อู่เรือที่ว่านี่น่าจะเป็นอะไรที่เรียกกันว่า “อู่เปียก” (wet dock) ซึ่งใช้สำหรับการซ่อมแซมเรือ มากกว่าที่จะใช้ต่อเรืออย่างที่มักจะเข้าใจผิดกันอีกด้วย

(แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้อยู่มากทีเดียว ที่อู่เรือแห่งนี้จะเคยถูกสมเด็จพระตากสินทรงเข้ามาใช้บริการรวบรวมเอาบรรดาเรือ ที่ถูกซ่อมแซมอยู่ที่นี้ออกไปในในการศึกจำนวนร้อยกว่าลำ อย่างที่มีบันทึกไว้อยู่ในเอกสารต่างๆ แต่เราก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเรือที่ถูกขุดพบ และจัดแสดงอยู่ในขณะนี้เป็นเรือ ที่มีอยู่ตั้งแต่ในสมัยที่พระองค์ทรงเสด็จมาเมื่อครั้งกระโน้นอยู่ดี)

 

ถึงแม้ว่าความคิดที่จะสร้างสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจโดยทั่วไป ขึ้นบนเรือลำนี้จะเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว เมื่อคำนึงถึงข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอยู่มากก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีอยู่บ้างในความพยายามที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ให้กับสังคม

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ ภายหลังจากการบวงสรวงเรือรบหลวงโพสามต้นเมื่อเฉียดๆ 6 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรต่อไปอีกเลยสักนิด ด้วยเหตุผลอะไรหลายๆ อย่าง

ซึ่งก็รวมไปถึงงบประมาณสำหรับการบูรณะเรือสำหรับสร้างเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายสำหรับลากจูงกลับไปไว้ยังที่เดิม (ในกรณีที่หากจะล้มเลิกโครงการที่ว่านี้) ในขณะที่สภาพของเรือลำนี้ได้ทรุดโทรมลงทุกวัน จนกระทั่งในปัจจุบัน เรือลำนี้ก็ค่อยๆ จมลงในน้ำไปมากกว่า 1 เมตร จนเรียกได้ว่า เป็นการรอเวลาที่จะจมลงสู่ทะเลโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

แต่สิ่งที่ผุพังทรุดโทรม และกำลังค่อยๆ จมหายลงไปนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรือ เพราะยังเป็นอนุสรณ์ที่ยืนยันประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และสหราชอาณาจักร อันเป็นเกียรติประวัติของเรือรบหลวงโพสามต้นลำนี้ด้วยนี่เอง