ฐากูร บุนปาน : ข่าว”กองทัพ” สะกิดใจ!

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวไม่เล็กไม่ใหญ่มาสะกิดใจอยู่สองข่าว

จดสั้นๆ เอาไว้ ตั้งใจว่าจะมาขยายขี้เท่อ เพื่อรับฟังความเห็นของท่านอื่นบ้าง

ดังนี้

เรื่องแรก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน พ.ศ. … ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ-หนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย (ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร) เสนอขึ้นมา

ประเด็นหลักอยู่ที่เทียบ พล.ต. ให้เท่ากับตำแหน่งอธิบดีของพลเรือน

ถามว่ากฎหมายนี้ส่งผลอย่างไร

ประการแรกที่ชัดเจนที่สุดและมีผู้ชี้ประเด็นเอาไว้แล้วหลายท่าน ก็คือโอกาสที่ท่านนายพลทั้งหลายจะได้เข้าไปนั่งในองค์กรอิสระจะเพิ่มขึ้น

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับมหาเทพมีชัยนั้นไปเขียนเอาไว้ว่า ข้าราชการที่จะมานั่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระจะต้องดำรงตำแหน่งบริหารระดับอธิบดีหรือเทียบเท่ามาอย่างน้อย 5 ปี

ซึ่งขุนทหารน้อยใหญ่ท่านร้องโวยวายมาแต่แรกว่า อย่างนั้นโอกาสที่ทหาร (เกษียณแล้ว) จะไปนั่งเป็นองค์กรอิสระแทบไม่มีเลย

เพราะตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีคือ ผบ.เหล่าทัพทั้งหลาย

ซึ่ง (แทบ) ไม่มีใครเลยที่ดำรงตำแหน่งยาวนาน 5 ปี

ประการต่อมาก็คือผลประโยชน์ (อันติดมากับตำแหน่ง) และศักดิ์ศรีอื่นๆ เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์

และสุดท้ายเลยก็คือโอกาสที่จะ “เลื่อนไหล” ออกไปดำรงตำแหน่งทางพลเรือน (ถ้ารัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำยังอยู่ในอำนาจ)

เอาสามข้อเบาะๆ ไปก่อน

ข่าวต่อมาเกิดในวันเวลาไล่เลี่ยกัน

คือการแถลงของ พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ หัวหน้าคณะทำงานไซเบอร์กลาโหม ที่ระบุว่า

กองทัพมีแผนสร้างกำลังสำรองที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ ไปพร้อมกันกับการสร้างกำลังพลสำรอง

จะรับสมัครบุคคลพลเรือนไม่จำกัดเพศ-อายุเพื่อเป็น “กำลังพลสำรองที่มีคุณวุฒิและความสามารถด้านไซเบอร์ทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว”

ตามนโยบายการรับสมัคร “พนักงานราชการที่มีศักยภาพสูง” ของรัฐบาล

เหมือนจะไม่แปลกอะไร เพราะใครๆ ก็รู้ว่าปัญหาจุกจิกจนกระทั่งถึงภัยคุกคามในโลกไซเบอร์นั้นถาโถมเข้ามาทุกรูปแบบ

ทั้งที่ตั้งใจและที่ไม่ได้เจตนา

ซึ่งที่ผ่านมา เอกชนหรือประชาชนมักจะเดินนำหน้ารัฐหรือราชการไปไกล

เพราะฉะนั้น เอาคนเก่งมาทำงานให้จะแปลกอะไร

แต่แปลกตรงนี้ละครับ

เพราะวิทยาการสมัยใหม่ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอินเตอร์เน็ตหรืออื่นๆ มีต้นกำเนิดมาจากการพัฒนาของกองทัพ (โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐ) แทบทั้งสิ้น

กองทัพที่พัฒนาเองไม่ได้ ต้องไปตัดตอนเอาคนจากที่อื่นมา

ต้องตั้งคำถามตัวเองว่า การจัดโครงสร้าง ภาระหน้าที่ และบุคลากรของตัว

ยังเหมาะกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันหรือไม่

ทั้งสองเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาร่วมข้อหนึ่ง

นั่นคือการแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจหรือกำลัง และทำอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ นั้น

มีแนวโน้มจะผิดฝาผิดตัวเสมอ

ปัญหาองค์กรอิสระเริ่มจากรัฐธรรมนูญโหลยโท่ย

ไม่แก้รัฐธรรมนูญแล้วยังผ่าจะไปออกกฎหมายเพิ่มให้มันยุ่งหนักขึ้น

เหมือนกับโครงสร้างตัวเองไม่ทันสมัย (ทั้งที่นายทหารทุกท่านได้รับปริญญาบัตร วท.บ.-วิทยาศาสตรบัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่า)

ไม่แก้โครงสร้างแล้วยังจะใช้วิชา “ผักชีโรยหน้า” ให้ดูเหมือนว่าแก้ปัญหาไปแล้ว

มันจะไม่ยิ่งเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่หรือ

การออกกฎหมายหรือแสดงตัว (โดยคนบางกลุ่มในกองทัพ) ว่ากองทัพ “เอาแต่ได้”

ในยามที่กองทัพมีอำนาจมากกว่าคนอื่นในสังคมนั้น

ถามว่าได้หรือเสียกับกองทัพโดยส่วนรวมมากกว่ากัน

ยิ่งถ้าพิจารณาว่า นักเลงในคติไทยนั้นตามความเชื่อแล้วต้องมี “ธรรม” กำกับ

ธรรมที่ว่านั้น เช่น ความไม่เห็นแก่ได้ ไม่เบียดเบียนคนตัวเล็กตัวน้อยกว่า (ที่เป็นพวกเดียวกัน)

มีกำลังมีอำนาจแต่ไม่มีธรรมกำกับ ก็เป็นได้แค่จิ๊กโก๋หรืออันธพาล

ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ใครต้องการจะถูกตราหน้า

แม้แต่ตัวจิ๊กโก๋หรืออันธพาลเอง