คุยกับทูตรัสเซีย ‘คีริลล์ บาร์สกี้’ ว่าด้วยสถานการณ์เกาหลีเหนือ-ใต้

คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน (3)

การพบกันของนายคิม จอง อึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นาย มุน แจ อิน (Moon Jae-in) เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นการโหมโรงก่อนที่จะมีการประชุมระหว่างนายคิมและนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายนนี้

นับว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลก เนื่องจากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบกว่าทศวรรษ หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศพัฒนาขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

นายคิม จอง อึน ได้กลายเป็นผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือที่เดินข้ามพรมแดนประเทศสู่เขตปลอดทหารในหมู่บ้านพักรบปันมุนจอม โดยผ่านเส้นพรมแดนที่แบ่งแยกคาบสมุทรเกาหลีออกจากกันนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดในปี ค.ศ.1953

ในขณะที่รัสเซียรุกไปข้างหน้าในฐานะเป็นสะพานเชื่อมสันติภาพเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หลังจากได้มีการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศว่าจะยุติสงครามระหว่างกัน

รัสเซียมีพรมแดนสั้นๆ ที่ติดกับเกาหลีเหนือ ได้มีการพูดถึงความขัดแย้งของเกาหลีที่ควรได้รับการแก้ไขมากขึ้น ขณะที่กรุงมอสโกสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อสันติภาพของจีนอย่างเป็นทางการ โดยพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเป็นฝ่ายเดียวกับเปียงยาง

วันนี้ นายคีริลล์ บาร์สกี้ (H.E.Mr.Kirill Barsky) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย พูดเรื่องบทบาทของรัสเซียในกระบวนการสันติภาพของเกาหลี

“ก่อนอื่น รัสเซียขอต้อนรับการพบหารือกันระหว่าง ผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เมื่อไม่นานมานี้ อันมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ และข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างนั้น”

“นั่นคือ การลงนามปฏิญญาปันมุนจอม (Panmunjom Declaration) โดยนายคิม จอง อึน และนายมุน แจ อิน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นหลักฐานในการเปิดฉากแห่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หรือดังที่กล่าวว่าเป็นยุคใหม่แห่งสันติภาพของสองเกาหลี”

วันที่ 27 เมษายน ค.ศ.2018 จึงเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ลงนามใน “ปฏิญญาปันมุนจอม” หรือมีชื่อเต็มว่า “ปฏิญญาปันมุนจอม เพื่อสันติภาพ ความรุ่งเรือง และการรวมชาติบนคาบสมุทรเกาหลี” (Panmunjom Declaration for Peace, Prosperity and Unification on the Korean Peninsula)

ซึ่งทั้งสองผู้นำได้ออกแถลงการณ์ร่วม โดยมีใจความสำคัญระบุถึง การประกาศสิ้นสุดสงครามเกาหลีที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 65 ปี ได้มาถึงคราวสิ้นสุด

ข้อความสำคัญตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ “ต่อไปนี้จะไม่มีสงครามในคาบสมุทรเกาหลีอีกต่อไป ด้วยเหตุดังนั้น ยุคใหม่แห่งสันติภาพได้เริ่มขึ้นแล้ว”

และของนายคิม จอง อึน คือ

“เกาหลีเหนือและใต้ ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เราทั้งสองล้วนเหมือนเป็นประเทศเดียวกัน เราเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเราหวังความร่วมมือในอนาคตร่วมกัน เพื่อสันติภาพในอนาคต เราหวังในอนาคตประชาชนชาวเกาหลีทั้งสองจะให้ความร่วมมือด้วยกัน เพื่อความรุ่งเรืองของคาบสมุทรเกาหลี โดยเรา (สองเกาหลี) จะรับผิดชอบอนาคตของเราด้วยตัวเอง”

AFP PHOTO / Korea Summit Press Pool / Korea Summit Press Pool

แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาฉบับนี้ยังไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญาเพื่อยุติสงคราม แต่เป็นเพียงสัญญาใจของทั้งสองฝ่าย ที่มีร่วมกันว่า นับตั้งแต่นี้ ทั้งสองประเทศเกาหลีจะต้องดำเนินตามมาตรการต่างๆ ตามที่ตกลงในปฏิญญานี้ เพื่อนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาสันติภาพภายในสิ้นปี ค.ศ.2018 นี้ เพื่อยุติสงครามเกาหลีที่เสร็จสิ้นไปเมื่อ 65 ปีก่อนอย่างสมบูรณ์

“สำหรับบทบาทหรือการมีส่วนร่วมที่เป็นไปได้ของรัสเซีย ในกระบวนการสันติภาพของเกาหลี ผมควรจะเริ่มด้วยการกล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัสเซียต่อการหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างต่อเนื่องในลักษณะเชิงรุกมากที่สุด” ท่านทูตรัสเซียกล่าว

“เราพอใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า กระบวนการบรรลุข้อตกลงในวันนี้เป็นไปตามโรดแม็ปที่รัสเซียและจีนได้เสนอไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2017”

สํานักข่าวซินหัว (China Xinhua News) รายงานว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้กล่าวกับมุน แจ อิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ว่า รัสเซียยินดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองเกาหลี หากโซลและเปียงยางมุ่งหน้าแสวงหาการประนีประนอมร่วมกัน

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายมุน แจ-อึม กับ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

“โดยย้ำถึงความสำคัญของการสานต่อในความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ และทำให้ข้อตกลงทางการเมืองและการทูตในปัญหาคาบสมุทรเกาหลี เป็นไปตามแผนงานที่เสนอโดยรัสเซียและจีนซึ่งสนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ครบถ้วนและครบวงจร”

“เราเชื่อว่า จะมีการปฏิบัติตามโรดแม็ปที่เราวางไว้ การเจรจาหกฝ่ายจะต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อทบทวนปัญหาทั้งหมดในภูมิภาค รวมถึงการดำเนินการด้านนิวเคลียร์และเพื่อสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง”

“เราคิดว่ากระบวนการหกฝ่ายยังคงเป็นขั้นตอนที่ดีที่สุด ที่เป็นกรอบนโยบายเฉพาะสำหรับการเจรจาดังกล่าว ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือของรัสเซียจะมีความเป็นไปได้ และสามารถบรรลุข้อตกลง เมื่อทุกส่วนใช้ความพยายามร่วมกัน”

ท่านทูตคีริลล์ บาร์สกี้ ชี้แจง

เป้าหมายของการเจรจาหกฝ่าย (Six-Party Talks) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ เกาหลีเหนือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย คือการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสันติวิธี และสามารถตรวจสอบได้

กระทรวงต่างประเทศของรัสเซียได้ประกาศแถลงการณ์ว่า มอสโกยินดีที่จะมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในความร่วมมือระหว่างเปียงยางกับโซลว่า พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือแบบไตรภาคี ทั้งในด้านรถไฟ ไฟฟ้า ก๊าซ และด้านอื่นๆ

ท่านทูตสรุปว่า

“เราตั้งใจที่จะรื้อฟื้นการจัดตั้งความร่วมมือเชิงปฏิบัติแบบไตรภาคีระหว่างรัสเซีย เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ โครงการด้านพลังงานที่สำคัญ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามที่กล่าวถึงในปฏิญญาปันมุนจอมด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศเกาหลีต่างมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อโอกาสในความร่วมมือดังกล่าว”