สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ดาว์พงษ์ โมเดล การศึกษาไทยหลัง รธน.มีชัย (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานยกร่างผ่านการลงประชามติว่าการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มี 3 เรื่องที่จะต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดคือ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาภายใน 30 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

และทำกฎหมายปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จภายใน 2 ปี รวมถึงการจัดทำกฎหมายกองทุนการศึกษาให้เสร็จภายใน 1 ปีเพื่อรองรับการเรียนฟรี 12 ปี (อนุบาลถึงมัธยมต้น) และอุดหนุนนักเรียนยากจนที่ต้องการเรียนต่อเนื่องไปจนถึงมัธยมปลายและระดับประโยควิชาชีพ (ปวช.) ตามบัญชีรายชื่อที่มีการขึ้นทะเบียนคนจนกับรัฐบาลไว้แล้ว

ครับ นั่นเป็นทิศทางการบริหารการศึกษาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอีกไม่นานนี้ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ราวเดือนพฤศจิกายน 2559 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2560

ถามว่า ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา กฎเกณฑ์ กติกา กลไกที่บัญญัติไว้สามารถตอบโจทก์ปัญหาการศึกษาถูกต้องเพียงไร ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นกับเด็กจริงๆ หรือไม่

คำตอบ ต้องติดตามจากผลผลิตของกลไกและกระบวนการบริหารการศึกษาที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่ปัจจุบันที่ผ่านมา 2 ปี จนถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ผมหมายถึงสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการมาและกำลังดำเนินต่อไป ในด้านการศึกษาซึ่งมีมากมายหลายเรื่อง กับสิ่งที่กลไกใหม่คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญจะเสนอผลักดันต่อไป จะไปด้วยกันอย่างราบรื่นกลมกลืนเพียงไร

ช่องว่าระหว่างเก่ากับใหม่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

วิธีหาคำตอบที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นจากย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการบริหารการศึกษาในห้วงเวลา 2 ปี นับแต่รัฐบาล คสช. เข้ามา

ครม.ประยุทธฺ์ 1 เข้ารับหน้าที่ 30 สิงหาคม 2557 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาปรับ ครม.ประยุทธ์ 2 20 สิงหาคม 2558 เปลี่ยนเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์

2 ปี ใช้รัฐมนตรี 2 คน

ระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฝ่ายประจำทั้ง 5 แท่ง มาตามลำดับเช่นเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวการบริหารการศึกษาในช่วงก่อนหน้า พล.อ.ดาว์พงษ์ เกิดกลไกเพื่อเชื่อมโยงการจัดการศึกษากับความต้องการกำลังคนของประเทศ ทีเรียกกันว่าซูเปอร์บอร์ดทางการศึกษา คือคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 18 มีนาคม 2558 มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

ต่อมา เกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

ในระดับกระทรวงศึกษาฯ มีคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ดึงกรรมาธิการด้านการศึกษาทั้งของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้ามาร่วม

ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หลังสิ้นสุดลงเกิดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาขึ้นมาแทน ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาชุดเดิม

ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ไปตามทิศทางที่เห็นว่าถูกต้อง การจัดความสัมพันธ์กันเป็นไปในลักษณะพบปะแลกเปลี่ยนกันเป็นครั้งคราวและนำเสนอผลการศึกษาแต่ละเรื่องให้รัฐบาลในฐานะผู้บริหารนำไปพิจารณา จะดำเนินการ หรือไม่ เมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร เป็นอำนาจตัดสินใจของรัฐบาลเป็นหลัก

มาถึงช่วง พล.อ.ดาว์พงษ์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามคำแถลงผลการดำเนินงานครบ 1 ปี วันที่ 24 ธันวาคม 2558 กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 10 เรื่อง มียุทธศาสตร์ซึ่งเป็นจุดเน้นที่ต้องเร่งดำเนินการปี 2559 จำนวน 6 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูปหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ 2.ครู 3.การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4.การผลิตกำลังคน และงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของประเทศ 5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา และ 6.การบริหารจัดการ

ครับ ที่ลำดับมานี้เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้สนใจติดตามความเป็นไปของการศึกษาไทย โดยเฉพาะสังคม พ่อ แม่ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งผู้บริหารการศึกษาในส่วนกลางคงเห็นกันจนชินตาแล้ว

ผมเลยเอาแผนภาพหรือชาร์ตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและทีมงานจัดทำเพื่อเป็นเข็มทิศนำทางปฏิรูปการศึกษา มากางซ้ำทีละด้านเพื่อประกอบการติดตามความเป็นไปกันต่อไป

ปฏิรูปการศึกษาไทยยุคดาว์พงษ์เขียนลายแทงบริหารการศึกษาไว้ 6 ยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ แต่ละด้านมีโครงการ แผนงานรองรับ แยกตามลำดับ ดังนี้ (ดูตาราง)

jhhl