อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นักหยิบฉวย และสวมรอยตัวตนเป็นคนอื่น ในโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมาเราเคยกล่าวถึงศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวอเมริกันอย่างซินดี้ เชอร์แมน ที่ทำงานศิลปะด้วยการหยิบฉวยเอาผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังในประวัติศาสตร์มาทำซ้ำ ดัดแปลงและสวมรอยในเชิงยั่วล้อ จนโด่งดังและกลายเป็นศิลปินคนสำคัญผู้ทรงอิทธิพลในโลกศิลปะฝั่งตะวันตกไปแล้ว

ในคราวนี้เราขอกล่าวถึงศิลปินคนสำคัญอีกคนในแนวทางเดียวกันจากโลกศิลปะฝั่งตะวันออกกันบ้าง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ยาซูมาซะ โมริมูระ (Yasumasa Morimura)

ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวญี่ปุ่น ที่ทำงานในสื่อภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว และศิลปะการแสดงสด ผู้หยิบฉวย (appropriation) เอาภาพผลงานศิลปะระดับตำนานในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก หรือภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมป๊อป หรือบุคคลในข่าวต่างๆ มาผลิตซ้ำ หยอกเย้า และล้อเลียน

เพื่อท้าทายค่านิยมและความคุ้นชินของผู้ชมที่มีต่องานศิลปะเหล่านั้น เช่นเดียวกับซินดี้ เชอร์แมน

(ซึ่งโมริมูระเองก็ได้รับอิทธิพลและเคยล้อเลียนผลงานของซินดี้ เชอร์แมน ด้วย)

เกิดในปี 1951 ที่เมืองโอซาก้า จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต (Kyoto City University of Arts) ในปี 1978

โมริมูระสร้างชื่อจากการทำงานศิลปะที่ลอกเลียนภาพวาดชื่อดังในประวัติศาสตร์ศิลปะ ด้วยการสอดแทรกใบหน้าหรือร่างกายของตัวเองเข้าไปในภาพเหล่านั้น โดยการแต่งหน้า, ทำผม, แต่งตัว และโพสท่า รวมถึงใช้โปรแกรมดิจิตอลตกแต่งรูปเพื่อสร้างภาพเลียนแบบและสวมรอยตัวเองให้กลายเป็นตัวละครในภาพวาดอันโด่งดังเหล่านั้นอย่างไม่ผิดเพี้ยน

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แต่งจนเหมือนเป๊ะ เพื่อให้คนดูรู้ว่าเขากำลังล้อเลียนและหยอกเย้าภาพเหล่านั้นอย่างอย่างจงใจ

ผลงานของเขาทั้งยั่วเย้า, ยกย่อง และสำรวจตรวจสอบอิทธิพลและเนื้อหาเรื่องราวของงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ส่งผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานไปพร้อมๆ กัน

ผลงานในลักษณะนี้ที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขามีชื่อว่า Daughter of Art History ที่เริ่มทำในช่วงปี 1985 ซึ่งเขาแปลงกายเลียนแบบภาพวาดของศิลปินระดับตำนานในอดีตอย่าง ภาพ Mona Lisa (1503) ของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ภาพวาด Las Meninas (1656) ของดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Vel?zquez), ภาพวาด Girl with a Pearl Earring (1665) ของโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) ภาพเหมือนตัวเองของศิลปินชื่อดังอย่างวินเซนต์ ฟาน โก๊ะห์ (Vincent Van Gogh), ฟรีด้า คาห์โล (Frida Kahlo) และมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ขึ้นมาใหม่

Doublennage/ Mona Lisa (2010)

เขากล่าวว่า การที่เขานำภาพในประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาผลิตซ้ำ ก็คือการปลุกภาพเหล่านั้นให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งในปัจจุบัน

ไม่ต่างอะไรกับการเอาเต้าหู้แช่แข็งในตู้เย็นมาอุ่นให้ร้อน แล้วเสิร์ฟให้คนกินอีกครั้งนั่นแหละนะ

นอกจากล้อเลียนภาพวาดแล้ว เขายังถ่ายภาพตัวเองเลียนแบบภาพถ่ายของบุคคลที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมป๊อป ไม่ว่าจะเป็น เช กูวารา, เหมาเจ๋อตุง, ฮิตเลอร์, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, มหาตมะคานธี

A Requiem: Infinite Dream / Che (2007)

ไปจนถึงภาพถ่ายของศิลปินชื่อดังระดับตำนานอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล, ซัลบาดอร์ ดาลี, ปาโปล ปิกัสโซ่ หรือดาราสาวเซ็กซิมโบลจากยุคสมัยต่างๆ อย่างมาริลีน มอนโร, บริจิตต์ บาร์โดต์, ออเดรย์ เฮปเบิร์น, เกรต้า การ์โบ, อินกริด เบิร์กแมน ที่ถูกเลียนแบบด้วยท่าทีแบบทีเล่นทีจริง และเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันแบบตลกหน้าตายเป็นอย่างยิ่ง

การแต่งตัวเป็นภาพจิตรกรรมหรือบุคคลชื่อดังในประวัติศาสตร์ของโมริมูระ นั้นเป็นอะไรที่มากกว่าการแสดงโชว์ล้อเลียน เสียดสี หรือทำตลกเอาฮาไปวันๆ

หากแต่เป็นการเล่นกับประเด็นทางวัฒนธรรมและการสำรวจบทบาทของเส้นแบ่งทางเพศและเชื้อชาติ รวมถึงวิพากษ์แนวคิดเกี่ยวกับความลุ่มหลงในการบริโภคภาพลักษณ์และความปรารถนาทางเพศในวัฒนธรรมป๊อป

An Inner Dialogue with Frida Kahlo (2001)

ในขณะเดียวกันเขาก็วิพากษ์วิจารณ์ความหลงใหลและการโอบรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาของชาวญี่ปุ่น ด้วยการแต่งกายเป็นตัวละครหรือบุคคลชื่อดังในประวัติศาสตร์

ผลงานของเขาทำลายขนบและมาตรฐานทางวัฒนธรรมแบบเดิมๆ รวมถึงท้าทายค่านิยมเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจในการจ้องมองที่ถือครองโดยเพศชายมาช้านาน (Male Gaze) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมญี่ปุ่น

ยิ่งไปกว่านั้นมันยังลบเลือนขอบเขตและเส้นแบ่งพรมแดนของโลกศิลปะ, ท้าทายขนบดั้งเดิมของภาพวาดบุคคลซึ่งมีที่มาจากตะวันตก,

ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความแท้เทียมของผลงานศิลปะ

Doublonnage (Marcel) (1988)

และพลิกขนบของการนำเสนอภาพเหมือนตัวเองของศิลปินลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยการทำงานศิลปะที่ถึงจะหยิบฉวยและลอกเลียนมาจากศิลปะตะวันตก หากแต่ก็สอดแทรกรายละเอียดที่เชื่อมโยงไปถึงศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในผลงาน Portrait (Futago) (1988) ที่ล้อเลียนผลงาน Olympia (1856) ของเอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet) แต่โมริมูระก็เปลี่ยนผ้าคลุมลายดอกไม้ในภาพวาดต้นฉบับให้กลายเป็นผ้ากิโมโนญี่ปุ่นที่มีลวดลายนกกระเรียนแทน

Portrait (Futago) (1988)

ในปี 1996 โมริมูระได้รับการเสนอชื่อให้ชิงรางวัลทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่อย่าง Hugo Boss Prize

ในปี 1998 เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินเปิดในเทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ซึ่งผลักดันให้เขากลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักอย่างมากในระดับสากล

โมริมูระมีนิทรรศการแสดงศิลปะทั้งเดี่ยวและกลุ่มในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ Whitney ที่นิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์ Andy Warhol ในพิตส์เบิร์ก, พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย Hara ที่โตเกียว รวมถึง National Museum of Modern Art ที่โอซาก้า, The San Francisco Museum of Modern Art, Museum of Fine Arts ในบอสตัน, Museum of Contemporary Art ในชิคาโก, Museum of Contemporary Art ในลอสแองเจลิส, Guggenheim Museum ในนิวยอร์ก ฯลฯ

Las Meninas renacen de noche V (Drawn by a distant light, awaken to the darkness)
(2013)

ผลงานของเขาก็ถูกเก็บสะสมในคอลเล็กชั่นถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำของโลกมากมาย และส่งอิทธิพลให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก

อนึ่ง หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า โมริมูระนั้นเคยมาแสดงนิทรรศการศิลปะในบ้านเราหลายต่อหลายครั้งแล้ว

Daughter of Art History, Theater A (1989)

ซึ่งนิทรรศการครั้งสำคัญที่สุดก็คือนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเขาที่มีชื่อว่า “กาลไร้นาม กายไร้ชื่อ” (The Time with no name, The Self with no name A Performance Show) ที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2000 นั่นเอง

โดยนอกจากในนิทรรศการจะมีผลงานภาพถ่ายของเขาแล้ว ตัวโมริมูระยังเดินทางมาทำศิลปะการแสดงสดในหอศิลป์ด้วยตัวเอง

ซึ่งการแสดงสดอันสุดขีดคลั่งจนยากจะลืมเลือนของเขาในครั้งนั้นก็ได้วงดนตรีอินดี้ร็อกชั้นนำของไทยอย่าง อพาร์ตเมนต์คุณป้า มาเล่นดนตรีแบ็คอัพให้อย่างทรงพลังอีกด้วย

น่าเสียดายที่วิดีโอบันทึกการแสดงสดครั้งนั้นไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนเลย

ปัจจุบัน โมริมูระอาศัยและทำงานในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น