อนุสรณ์ ติปยานนท์ : อาหารยามจาริก / บทสนทนาว่าด้วยความตาย

My Chefs (34) อาหารยามจาริก (5)

คําพูดของไคลน์ว่าด้วยความตายของแม่ของเขา ว่าด้วยการเดินทางไกล ว่าด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา ทำให้ผมนึกถึงตนเอง

สิบปีก่อนเช่นกันที่สิ่งที่เรียกว่าความตายพรากแม่ของผมไปจากผม

ทุกคนในครอบครัวแม้จะแน่ใจว่าแม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้นานนักจากโรคร้ายที่รุมกระทำต่อแม่

แต่เราทุกคนล้วนมีความหวังเสมอเมื่อเผชิญกับความตาย

เราอาจหมดหวังได้ในหลายสิ่ง

การสอบเข้าโรงเรียนที่ไม่ได้ดังใจในวัยเด็ก

การไม่ได้ครอบครองคนรักที่ปรารถนา

การไม่มีอาชีพที่ใฝ่ฝัน

การไม่มีทรัพย์สินเงินทองดังตั้งใจ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน ทุกนาที ตลอดชีวิตเรา

และเมื่อมันเกิดขึ้นเราจะพูดกับตนเองอย่างสั้นๆ อย่างแผ่วเบา ว่าลืมมันเสียเถิด ช่างมันเถิด มันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับเรา ไม่ใช่สิ่งที่ไปกันได้กับชีวิตเรา

เราทอดทิ้งความหวังในเรื่องเหล่านั้นอยู่เสมอ

แต่ไม่ใช่ในเรื่องของความตาย

แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่างความตาย

ความตายถูกเผชิญหน้าด้วยความหวังเสมอ

หลายครั้ง หลายคนก็เอาชนะมันได้

ผมนึกถึงนักไต่เขาคนหนึ่งที่ต่อสู้ท่ามกลางความหนาวเหน็บในเทือกเขาหิมาลัยหลังพายุหิมะพัดพาเขาจนหลงทางกับกลุ่มเพื่อน

เขาดิ้นรนทำทุกวิถีทางที่จะมีชีวิตรอด จนในที่สุดเพื่อนกลุ่มนั้นหาเขาพบและนำเขากลับมาสู่โลกได้แม้หิมะจะกัดกร่อนร่างของเขาจนยับเยินก็ตามที

ผมนึกถึงชายที่หลงทางในทะเลทรายซาฮาร่า วันแล้ววันเล่าที่เขามุ่งหน้าเดินเพื่อหลุดพ้นจากขอบเขตของทะเลทราย

เขาจำกัดปริมาณน้ำที่นำมาติดตัวจากการดื่มคล่องคอสู่น้ำหยดต่อหยด

เขาเดินและเดิน หลับใหลในความร้อนยามกลางวัน ความหนาวเหน็บยามกลางคืน

จนในที่สุดเขาได้พบกับกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย

ผมจำชื่อชนเผ่านั้นไม่ได้ แต่ผมจำได้ว่าเขารอดพ้นจากความตาย

เรื่องราวของเขาที่ผมอ่านเจอเป็นสิ่งที่ผมจดจำและระลึกถึงเสมอเมื่อเผชิญกับความตายของแม่

ในการต่อสู้กับความตายที่มากลุ้มรุมแม่ ผมไม่เคยสิ้นหวัง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายในเรื่องนั้นยังคงเป็นเช่นเดิม

โรคร้ายเป็นฝ่ายมีชัยชนะและแม่จากผมไปในที่สุด

ความผิดหวังครั้งนั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตผม

หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการส่งแม่ไปสู่ความสงบสุขในโลกเบื้องหน้า (ซึ่งแม้ผมเองยังสงสัยอยู่ว่ามันเป็นเช่นไร)

ผมเริ่มต้นการใช้ชีวิตที่เคว้งคว้างเต็มที

ผมลาออกจากงาน พกกระเป๋าสะพายหลังหนึ่งใบ นั่งรถประจำทางจากจังหวัดหนึ่งสู่จังหวัดหนึ่ง จากภาคกลางสู่ภาคใต้ จากภาคใต้วกกลับสู่ภาคตะวันตก จากภาคตะวันตกอ้อมขึ้นสู่ภาคเหนือ (ซึ่งหมายถึงการเดินทางผ่านป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ) จากภาคเหนือสู่ภาคอีสาน จากภาคอีสานสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน และจากเดือนเป็นหลายเดือน

จากบ้านของคนรู้จักเป็นบ้านของคนไม่รู้จัก จากบ้านของคนรู้จักเป็นที่พักในวัดวาอาราม

จากที่พักในวัดวาอารามเป็นที่พักข้างทาง

จนแม้ศาลาริมทางก็เคย

การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเดินทางที่ไกลและนานครั้งหนึ่งในชีวิตผม

และนั่นทำให้ผมเข้าใจความหมายในคำพูดของไคลน์ คงมีบางสิ่งเกิดขึ้นกับเขา

และผมกำลังตั้งอกตั้งใจฟังมันอย่างยิ่งแล้ว

“ช่วงเวลาตอนนั้น กันกำลังทำงานอยู่กับเชฟปีเตอร์ กอร์ดอน แถวแมรี่เลอโบน นายคงเคยได้ยินชื่อของเขามาแล้ว”

ผมพยักหน้า ปีเตอร์ กอร์ดอน เป็นเชฟชาวนิวซีแลนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผนวกรวมเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่มาจากที่มาอันหลากหลายขึ้นเป็นอาหารได้อย่างวิเศษ

เขาเป็นเสมือนหนึ่งในเสาหลักของกระแสอาหารยุคนั้นที่เรียกว่าอาหารแบบฟิวชั่น หรือ Fusion Food

“ในตอนนั้นกันเป็นผู้ช่วยเชฟมือสอง หรือ Sous Chef วันทุกวันของกันผ่านไปด้วยความรื่นรมย์ นายคงพอนึกได้ ทำงานที่ตนเองรักอย่างมีความสุข รายได้ดี ทิปดี ร้านอาหารมีชื่อเสียงแวดล้อมด้วยคนเก่งๆ เต็มไปหมด ในวันหยุดกันเดินเล่นตามสวนสาธารณะหรือไม่ก็ออกไปทะเลไบรต์ตัน อาจยาวไปจนถึงโฟล์กสโตน หรือไม่ก็ไปไกลถึงเลก ดิสตริก กันลงทุนซื้อที่อยู่ที่เป็นแฟลตเล็กๆ แถบริชมอนด์ และกำลังเริ่มต้นคบหากับเพื่อนหญิงคนหนึ่ง ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี แต่แล้วแม่ของกันก็ป่วยลง เคราะห์กรรมมักมาทดสอบเราเสมอในเวลาที่เราพร้อมและเป็นสุข เป็นอย่างนั้นเสมอ ใช่ไหม พี่ชาย”

ผมนิ่งเงียบ ไคลน์ลุกไปตั้งน้ำร้อน อาจถือว่าเป็นเวลาบ่ายเกินกว่าจะดื่มกาแฟ ใจหนึ่งผมนึกถึงเบียร์ลาวเย็นเฉียบ แต่ไคลน์คงอยากรักษาสติให้มั่นคงมากกว่าการผ่อนคลายมัน

เขาชงกาแฟดาวเรืองถ้วยหนึ่งให้ผมและให้ตนเอง

“อย่างที่นายเคยรู้ กันมาจากครอบครัวที่ไม่ดีนัก พ่อจากแม่ของกันไปมีครอบครัวใหม่ตั้งแต่กันยังเล็ก กันไม่เคยเจอพ่อด้วยซ้ำไป นอกจากภาพถ่ายเลือนรางภาพเดียวที่กันเคยเห็นแล้ว กันแทบไม่เคยมีความทรงจำเกี่ยวกับพ่อเลย แม่ของกันสิที่เป็นคนรับภาระเลี้ยงดูกันกับน้องสาว แต่กันก็เป็นเด็กเหลือขอเต็มที อาชีพนักฟุตบอลเป็นอาชีพเดียวที่กันคิดว่ามันเหมาะกับคนชอบใช้แรงงานมากกว่าใช้สมองอย่างกัน อีกทั้งกันยังเชื่อว่ารายได้ที่ดีของมันจะนำพาชีวิตครอบครัวของกันให้ผาสุกกว่าที่เป็น นายลองนึกถึงห้องเล็กๆ จากการสงเคราะห์ของรัฐบาล ที่แทบจะเดินหลีกกันไม่พ้น กันเลยตัดสินใจออกจากโรงเรียน ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปแบบพวกเด็กตามท้องถนน จนกันพบการทำอาหาร และอาหารนั่นเองที่เปลี่ยนแปลงชีวิตกันไป”

“หลังจากกันลงหลักปักฐานได้พอควร กันกับน้องสาวก็ขอให้แม่เลิกทำงาน ชีวิตพนักงานรับโทรศัพท์ในโรงแรมไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เท่าใดนัก แม่อิดออดในตอนแรก แต่ก็ยินยอมในที่สุดก่อนที่แม่จะย้ายออกจากแฟลตรังหนูนั่นไปอาศัยอยู่กับน้องสาวของกันที่เพิ่งแต่งงาน ส่วนกันนั้นมีหน้าที่คอยส่งเงินให้แม่ไว้ใช้สอย มากบ้าง น้อยบ้างตามสมควร แต่เรียกได้ว่าแม่ไม่เคยเดือดร้อนเงินขาดมือเลยนับจากนั้น”

“แม่ของกันมีชีวิตสุขสงบที่เริ่มต้นนับหนึ่ง การได้เดินเล่นในสวนสาธารณะยามเช้า การได้ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ การได้ใช้ชีวิตที่เป็นนายของตนเองเสียที อีกทั้งน้องสาวของกันยังมีลูกน้อยให้แม่ได้เพลินใจ เทียบกับมาตรฐานชีวิตโดยทั่วไปในยามนั้น กันอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเราเข้าสู่วิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางได้”

“แต่แล้ว โรคร้ายก็มาเยือน แม่เริ่มต้นไอ นอนไม่หลับ ในชั้นแรกพวกเราคิดว่าแม่เป็นโรคแพ้อากาศ แต่หลังจากการตรวจครั้งแรกพวกเราก็พบว่าแม่เป็นวัณโรค ความเครียดและการทำงานหนักในรอบหลายสิบปีของแม่เพาะบ่มเชื้อวัณโรคไว้ในกายโดยที่แม่เองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แม่หายใจลำบากขึ้นทุกที อาการหนักลงอย่างรวดเร็ว วัณโรคลามขึ้นสู่สมอง”

“จากบ้านแม่ต้องเข้าพักที่โรงพยาบาลและมันแทบกลายเป็นบ้านหลังที่สองของแม่ กันเองต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับน้องสาวมาดูแลแม่ นายอาจคิดว่าทำไมกันไม่ทอดทิ้งแม่เหมือนดังที่หลายครอบครัวมักทำกัน ซึ่งกันตอบได้ง่ายๆ เลยว่าสำหรับกันแล้วแม่เป็นสิ่งมีค่าของกันไม่ใช่เพียงผู้ให้กำเนิด แต่แม่เป็นเหมือนกำลังใจในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของกันด้วย การที่กันไม่ใช้ชีวิตแบบเสียผู้เสียคนจนกู่ไม่กลับนั้น แม่มีส่วนต่อชีวิตกันอย่างมาก”

“แต่แล้วแม่ก็จากไป ไม่ว่ากันจะพยายามเท่าใดก็ตาม” ไคลน์หยุดพูด ผมสังเกตพบว่าดวงตาของเขาเปียกชื้น ประโยคเดียวของเขานำพาเราให้เข้าใกล้กันมากกว่าเดิม ชีวิตของผู้ชายที่ผ่านวัยกลางคนและต้องสูญเสียแม่มีจุดบรรจบกันตรงประโยคนั้นเอง

เขาดื่มกาแฟ จุดบุหรี่ขึ้นสูบ พ่นควันยาวคล้ายกับการทบทวนและกำลังเรียบเรียงคำพูดอย่างตั้งใจ

“หลังงานศพของแม่ กันกลับไปทำงานแต่กลับไม่มีแรงจูงใจหรือพลังงานเช่นเคย กันรู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย เบื่อหน่ายไปเสียทุกอย่าง ความตื่นเต้นที่เคยมีขึ้นต่องานในครัวของกันกลายเป็นความซ้ำซากจำเจ ทุกอย่างขัดหูขัดตากันไปหมด กันปรึกษาเรื่องนี้กับปีเตอร์ นายคงรู้ว่านอกจากจะเป็นเชฟแล้ว เขายังเป็นนักเดินทางตัวยง เขาบอกให้กันเดินทางไกล ไปเอเชียหรือแอฟริกาดู อย่างน้อยก็ได้ลองลิ้มชิมอาหารแปลกๆ ดู แล้วจะกลับมาทำงานอีกทีเมื่อไรก็ได้ เขาพูดอย่างนั้นกับกัน แต่กันก็ยังลังเล กันไม่เคยเดินทางไกลมาก่อนเลย อีกทั้งชีวิตเบื้องหน้ากันก็ดูจะลงตัวดีแล้ว การเดินทางไกลหมายถึงการปรับตัว และกันคิดว่าไม่มีแรงพอที่จะทำเช่นนั้นได้”

“แต่แล้ว แต่แล้ว ในวันหนึ่งขณะที่กันกำลังเดินเล่นแถบถนนฮาร์ตหลังจากออกเที่ยวเล่นตลาดแถวนั้น กันก็เดินผ่านโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่าโบสถ์โอลาฟ กันผ่านโบสถ์แห่งนี้หลายครั้ง แต่นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่กันเงยหน้าขึ้นจ้องมองตัวโบสถ์อย่างเต็มตา ภาพที่กันพบคือภาพของหัวกะโหลกตรงหน้าโบสถ์พร้อมถ้อยความที่กล่าวว่าความตายนั้นอยู่รอบตัวเราเสมอ”

“กันจ้องมองดูกะโหลกนั้นอย่างเนิ่นนาน ครุ่นคิดและในที่สุดกันก็ตัดสินใจ ถ้ากันไม่ออกเดินทาง ไม่เปลี่ยนแปลงชีวิต กันก็จะปล่อยให้ชีวิตกันล่องลอยไปจนถึงวาระสุดท้ายอย่างแม่ ถ้ากันไม่หาทางออกจากวงจรชีวิตที่ซ้ำเดิมจนกันไม่รู้ว่ามันจะจบลงที่ใด ในที่สุดกันก็จะพบกับความตายที่มาถึงโดยที่กันไม่เคยเตรียมตัว กันควรเข้าใจชีวิต ควรเข้าใจโลกมากกว่านี้”

“กันกลับที่พัก พิมพ์จดหมายลาออก บอกลาคนรัก ซื้อบัตรโดยสารไปไกลที่สุดที่ออสเตรเลีย กันได้รับคำบอกเล่าว่าซิดนีย์เป็นแหล่งร้านอาหารที่น่าทึ่ง กันตั้งใจว่าจากที่นั่น กันจะเคลื่อนที่ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ กันประกาศขายแฟลตและหวังว่ามันจะขายได้ไม่ช้า ดังนั้น รวมกับเงินที่กันมี หนึ่งปีหรือสองปีแห่งการเดินทางน่าจะเพียงพอสำหรับกัน”

“และไม่ถึงอาทิตย์นับจากวันที่กันเดินผ่านโบสถ์โอลาฟ กันก็พบตนเองอยู่ในซิดนีย์ นั่งมองโรงละครอันมีชื่อเสียงของมัน ท่ามกลางความเวิ้งว้างและเดียวดายที่กันรู้สึกอยู่ในใจของตนเอง”