เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน [ไทยเข้าร่วมคณะเสี่ยวเอ้อส่งออก ไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย]

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (8) : ยุค 3 ค.ศ.2001-2006

ไทยเข้าร่วมคณะเสี่ยวเอ้อส่งออก ไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย

เห็นชัดว่ารัฐบาลทักษิณและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและพาณิชย์ต่อมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ผู้ได้รับสมญาว่า Mr. China ดู BZ, p.117) ตัดสินใจเอาไทยไปร่วมทีมเศรษฐกิจจีนแบบ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ในสิ่งที่ผมเรียกตาม Hung Ho-fung ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองชาวจีน สังกัดคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย John Hopkins ในสหรัฐว่า “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” (ข้อสันนิษฐานของผมประเด็นนี้มีข้อมูลเหตุผลให้สังเกตเห็นได้ตั้งแต่บทที่ 4 ในวิทยานิพนธ์ของ ดร.เจษฎาพัญ และมายิ่งชัดเจนขึ้นในบทที่ 5) กล่าวคือ :

– โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรและชิ้นส่วน เกิดการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (intra-industry trade) และเข้าเป็นเครือข่ายบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งค้าเพิ่มมากกับจีน (เจษฎาพัญ, น.225, 248-249)

– ขณะเดียวกัน โครงสร้างการส่งออกของจีนหลังเข้า WTO ปี ค.ศ.2001 ก็เปลี่ยนไปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมในทิศทางสอดรับกัน (เจษฎาพัญ, น.290)

– ฝ่ายรัฐบาลทักษิณก็เข้าใจความข้อนี้และมุ่งให้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-จีนไปในทิศทางดังกล่าว แต่ใช้ภาษาราชการ/ทางการที่ดูคลุมเครือกว่า ดังที่ ดร.เจษฎาพัญอ้างเอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า : “ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน จับมือในการเป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 ในรูปแบบการผสานจุดเด่นของแต่ละฝ่ายในการลงทุนร่วมกัน…ส่วนไทยจะเป็นประตูการค้าสำหรับจีนสู่ภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิก” (เจษฎาพัญ, น.257)

– ทั้งนี้ สอดรับกับที่ฝ่ายจีนคาดหวังผลประโยชน์และบทบาทจากฝ่ายไทยให้เป็น “แหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ…ใช้เส้นทางของไทยในการขนส่งวัตถุดิบจากภูมิภาคอาเซียนเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายในจีนเพื่อนำออกสู่ตลาดโลก…ให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของจีนไปสู่ประเทศอาเซียนด้วย” (เจษฎาพัญ, น.295)

– ที่เด่นชัดยิ่งคือคำกล่าวแบบแบไต๋ของนายกฯ ทักษิณกับนายกฯ เหวินเจียเป่า ที่ว่า : “ทักษิณถามว่าถ้าหากจีนปักใจจะเป็นศูนย์เศรษฐกิจใหม่ของเอเชียแล้วละก็ ขอให้ประเทศไทยเป็นลูกน้องอันดับหนึ่ง (first among equals) ได้หรือไม่ เหวินตอบว่าได้” (BZ, p.110)

– จากการประมวลข้อมูลข้างต้นจึงอาจกล่าวว่าได้เกิด โครงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับโลกและระดับภูมิภาค (A new global and regional economic opportunity structure) ขึ้นหลังจีนเข้า WTO ปี ค.ศ.2001 ซึ่งเป็นโครงสร้างรองรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-จีน

โดยในการอธิบายจำเป็นต้องเท้าความ 2 แนวคิด (concepts) ประกอบกันคือ Chimerica ของ Niall Ferguson

และ “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” ของ Hung Ho-fung

1)Chimerica ของ Niall Ferguson ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอังกฤษชื่อดัง ได้เสนอในปี ค.ศ.2006 ว่าได้เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบ symbiosis (ภาวะพึ่งพิงซึ่งกันและกัน, สมชีพ) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเหมือนเป็นหน่วยเศรษฐกิจเดียวกัน (Niall Ferguson, The Ascent of Money : A Financial History of the World, 2008, โดยเฉพาะ Chapter 8 From Empire to Chimerica) เพื่อเข้าใจได้ง่าย อาจลำดับตรรกะดังนี้ :

– บรรษัทข้ามชาติสหรัฐขนเงินไปลงทุนสร้างโรงงานทำการผลิตสินค้าในจีนที่ซึ่งต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าในสหรัฐเองอย่างมากมาย

– จีนส่งสินค้าราคาถูกเหล่านั้นมาขายกลับคืนในตลาดอเมริกัน

– ทำให้จีนได้ดุลการค้าเงินดอลลาร์มหาศาลมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ (foreign exchange reserve) ของจีน ส่วนหนึ่งเป็นเงินออมสะสมเพื่อลงทุนขยายการผลิตในประเทศต่อไป อีกส่วนหนึ่งเอากลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้เพราะเป็นการลงทุนที่มั่นคงในระยะยาว จนจีนกลายเป็นเจ้าหนี้สาธารณะและประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอันดับสูงสุดของโลก

– สหรัฐขาดดุลการค้ามหาศาล แต่ได้เปรียบดุลชำระเงิน ด้วยเงินดอลลาร์ไหลกลับจากจีนที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตน ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐต่ำลง กระตุ้นการบริโภคสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนในสหรัฐเกิดกระแสก่อหนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยลูกหนี้คุณภาพต่ำ (หนี้ซับไพรม์) และกลุ่มทุนการเงินวาณิช-ธนกิจวอลล์สตรีตเอาหนี้ซับไพรม์พวกนี้ไปสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนและเก็งกำไรทางการเงินผ่านตราสารหนี้ เกิดฟองสบู่ยักษ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐและโลก (ราคาอสังหาฯ และตราสารหนี้พุ่งสูงแบบไร้ฐานเศรษฐกิจจริงรองรับ) จนฟองสบู่แตก

นำไปสู่วิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกทุนนิยมในปี ค.ศ.2007-2008

2)ในช่วงที่ปรากฏการณ์ Chimerica ทำงานอยู่เกือบทศวรรษ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์รู้ตัวว่าแข่งผลิตส่งออกสู้จีนไม่ได้ จึงพากันปรับตัวเข้าร่วมกับจีนเพื่อผสานสายโซ่การผลิตส่งออกไปอเมริการ่วมกันโดยมีจีนเป็นตั่วเฮีย

ไทยเองก็อยู่ในกระแสนี้ด้วย

Hung Ho-fung ได้อธิบายกระบวนการ “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” ในบทความ “America”s Head Servant : The PRC”s Dilemma in the Global Crisis”, New Left Review Series II, 60 (November – December 2009), 5-25.

โดยผมขอสรุปความสังเขปดังนี้ :

– หลังแนวทางการพัฒนาแบบกระสวนห่านบินที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง (the flying geese pattern of development http://www.grips.ac.jp/forum/module/prsp/FGeese.htm) และไทยเข้าร่วมด้วยในการเป็น NIC (Newly-Industrialized Country) มาถึงจุดตีบตันเพราะจีนเข้าสู่ตลาดโลกเต็มตัวในฐานะผู้ผลิตใหญ่และคู่ค้าสมาชิก WTO รายใหม่

ปรากฏว่าในเวลาอันสั้นจีนส่งออกไปอเมริกาแซงหน้าเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกไปหมด ทำให้เงินตราต่างประเทศสำรองของจีนพุ่งสูงลิบกว่าเพื่อนบ้านและจีนเอาเงินดอลลาร์ที่เกินดุลการค้าเข้าเก็บกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้สูงกว่าใคร (ดูแผนภาพประกอบ)

ยิ่งกว่านั้นจีนยังเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ (แพนด้า) เหนือฝูงห่านเดิม เพราะทำทั้งสินค้าพื้นๆ และประณีตพิสดารได้ในเวลาเดียวกัน คือทำได้ทั้งผ้าอ้อมเด็กทารกและไมโครชิพส์ ทั้งโลว์เทคและไฮเทค ครอบคลุมตลอดทั้งสายโซ่มูลค่าในขอบเขตที่กำหนดราคาทั่วโลกได้

ในสภาพเช่นนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวันต่างกลัวอุตสาหกรรมของตนจะถูกจีนล้วงไส้จนกลวงในสภาพที่โรงงานทั้งหลายพากันย้ายไปจีนซึ่งต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ข้างฝ่ายเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทยก็วิตกเรื่องกระแสการค้าและการลงทุนจะพลัดถิ่นไปจีนบ้างเหมือนกัน ปัญหาหลักคือถ้าจีนมีประสิทธิภาพการผลิตเหนือกว่าทุกๆ อย่าง จะเหลืออะไรให้เพื่อนบ้านทำเล่า? (“A panda breaks the formation”, The Economist, 25 August 2001)

บรรดาห่านเก่าทั้งหลายจึงแตกฝูง ต่างหันไปร่วม “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” แทน โดยปรับการผลิตและการค้าของตน ให้มุ่งผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนโดยตรงเป็นหลักจนสูงลิ่วกว่าหรือกวดใกล้การส่งออกไปสหรัฐเอง เพื่ออาศัยฐานการผลิตในจีนส่งออกสินค้าขั้นปลายไปสหรัฐอีกทีหนึ่ง ในลักษณะ “การค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (intra-industry trade) และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบรรษัทข้ามชาติ” อย่างที่ ดร.เจษฎาพัญสรุปไว้ในกรณีไทย (น.225)

และไทยก็เช่นกัน ดังเห็นได้จากมูลค่าการค้ากับคู่ค้าหลักๆ ของไทยที่เปลี่ยนขยับเทไปทางจีนอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 5 ปี

จะเห็นได้ว่าจังหวะดังกล่าวสอดคล้องต้องตรงกับช่วงรัฐบาลทักษิณ (ค.ศ.2001-2006) พอดี เป็นการบรรจบเข้าด้วยกันของตัวผู้กระทำการที่วางหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับจีนอย่างจงใจ โดยอาศัยโครงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับโลกและภูมิภาคที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง