คำแถลงพรรคเพื่อไทย เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย

คำแถลงพรรคเพื่อไทย

เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.

นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าและยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน
คสช.ได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจตามประกาศฉบับที่ 1/2557 ว่า ต้องการให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนเกิดความรัก ความสามัคคี ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย พร้อมกับสัญญาว่าจะใช้อำนาจเผด็จการไม่นาน และต่อมาก็ประกาศว่าจะปราบปรามและแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังโดยไม่เลือกปฏิบัติ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า 4 ปี ของการรัฐประหารเป็น 4 ปีแห่งความล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาส และจะนำประเทศไปสู่ความมืดมน และอันตราย

ความล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างในการยึดอำนาจ
พลเอกประยุทธ์ ฯ แถลงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ว่าจะมุ่งสร้างความปรองดอง ในสามเดือน แต่ไม่เห็นความจริงใจในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังคงมีอยู่ โดย คสช. ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง การคืนความเป็นธรรม ให้ความชอบธรรมกับทุกฝ่ายไม่เกิดขึ้น กลับมีแนวโน้มที่จะทำให้เงียบหายไป
ประกาศว่าจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ครบ 4 ปีแล้ว ประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น หาเหตุเลื่อนการเลือกตั้งมาโดยตลอดหลายครั้งหลายหน
ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง แต่กลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปไกล ทำลายพรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ เลย
ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับทำให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนขึ้น กำลังซื้อหดหาย ปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้น
การปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว ทั้งที่ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมหาศาล

ล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นขาดความเป็นอิสระมีแต่คนในรัฐบาล ข้าราชการในกองทัพ และข้าราชการอื่นๆ ไม่มีองค์ประกอบในส่วนของภาคประชาชน และองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วม แนวทางการสร้างความปรองดองถูกควบคุมและเห็นชอบโดยหัวหน้า คสช. กระบวนการสร้างความปรองดองไม่เป็นไปตามหลักการสากล ขาดการยอมรับจากภาคส่วนของสังคม ไม่ศึกษาสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่แท้จริง และไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ที่หัวหน้า คสช. และคนใน คสช. เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งในอดีต และมาเป็นคู่ขัดแย้งในปัจจุบัน สัญญาประชาคมที่ทำขึ้นเป็นลักษณะสัญญาฝ่ายเดียวของ คสช. จึงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพียงเพื่อสร้างภาพ คสช. แต่งตั้งกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ไม่มีการประชุมมาแล้วถึง 8 เดือน ปัญหาคอรัปชั่น กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และ คสช. ที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังให้สัมภาษณ์ว่า หากตนเองถูกเปิดโปงเพียงเรือนแรก ก็จะลาออกไปแล้ว แต่กลับมีการปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ละเลยที่จะดำเนินการ ขณะที่ผู้ร้องเรียนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ บางคนถูกดำเนินคดี ส่วนองค์กรตรวจสอบต่างๆ ก็มุ่งช่วยเหลือปกปิด หรือทำให้ล่าช้า และสุดท้ายก็เงียบหายไป องค์กรตรวจสอบต่างๆ เช่น ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับการต่ออายุให้อยู่ครบวาระ และเลยวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่บางองค์กรกลับให้สิ้นสุดลง 4 ปีที่ไม่มีนักการเมืองกลับพบการทุจริตอย่างกว้างขวาง ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย (CSI) เดือนธันวาคม 2560 พบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศไทย (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ปรับตัวในทิศทางตกต่ำลง เมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร

ล้มเหลวในการทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตย 
นับแต่รัฐประหาร เป็นต้นมา ประเทศต้องอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน การแสดงออกทางความคิดเห็นถูกปิดกั้น ได้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปอย่างมาก วางกลไกที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่มีประเทศใดเคยใช้มาก่อน วางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจโดยในวาระเริ่มแรกให้อำนาจ คสช. เลือกผู้สมควรได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 244 คน ให้วุฒิสภามีอำนาจออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้เพื่อให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายพรรคการเมืองจะประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 แต่จนถึงปัจจุบัน คสช. ก็ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองตามกฎหมายดังกล่าว ซ้ำร้ายยังออกคำสั่ง คสช.รีเซ็ตสมาชิกพรรค และยุบสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วทั้งหมด การกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้บังคับเป็นเวลาถึง 20 ปี เป็นการพันธนาการประเทศและประชาชนไว้กับแนวคิดของ คสช. โดยที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว การรัฐประหารอันถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง คสช. กลับกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้นิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง กำหนดให้การกระทำของตนและพวกทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน 
นับแต่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอย่างต่อเนื่อง การออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายของศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ ไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จำกัดและริดรอนสิทธิ เสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางเฟสบุ๊คของบุคคล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายและคำสั่งที่ตนเองออกใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับแล้ว ประชาชนก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น ปรากฏตามรายงานประจำปี 2560/61 ของ AMNESTY INTERNATIONAL

6. ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมากตลอด 4 ปีงบประมาณ นับเป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล คสช. ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีเดียว เท่ากับยอดเงินฯ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง 2 ปีงบประมาณ คือ ปี 2556 รวมกับปี 2557
รัฐบาล คสช. มีแนวโน้มใช้เงินเกินตัวมากขึ้นทุกๆ ปี อย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ซึ่งต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สามารถบริหารให้การขาดดุลงบประมาณลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นรัฐบาล หากรัฐบาล คสช.ปล่อยให้แนวโน้มการใช้จ่ายเช่นนี้ดำเนินต่อไป วินัยทางการคลังของประเทศย่อมได้รับความกระทบกระเทือน
ถึงแม้รัฐบาล คสช. จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจไทยในยุค คสช. เติบโตในอัตราที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆ ในอาเซียนในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป
ด้วยแนวคิด ทัศนะ และนโยบายของรัฐที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดของสินค้า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กำลังซื้อภาคประชาชนลดลง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยถูกทิ้งขว้างตามยถากรรม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้รับการแก้ไข เงินที่รัฐบาลใส่ลงในระบบไม่เกิดการใช้จ่าย เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

7. ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
รับปากต่อประชาชนว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา และจะอยู่ไม่นาน แต่กลับอยู่ยาวถึง 4 ปี และมีแนวโน้มจะมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไป เมื่อเข้ามายกตนว่าเป็นคนดี ด่าว่า และกล่าวร้ายนักการเมือง และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายมายอมรับว่าตนเป็นนักการเมือง และยังไปชักชวนนักการเมืองมาร่วมรัฐบาล เพื่อพยุงอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ประกาศว่าจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ผ่านมา 48 เดือน ประชาธิปไตยยังมืดมน ทั้งๆ ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชน และรับปากต่อผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่สุดท้ายก็เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 ครั้ง การกระทำและพฤติการณ์ส่อว่าได้เสพติดอำนาจ และวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เริ่มตั้งแต่การวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาและอำนาจของ ส.ว. การทุ่มเทงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะหวังผลทางการเมือง ล่าสุดมีการดูดนักการเมืองจากค่ายต่างๆ เพื่อมาร่วมงานกับตนเอง อันแตกต่างจากการประกาศครั้งแรก เมื่อเข้ามายึดอำนาจ
โดยสรุปสิ่งที่ คสช. และหัวหน้า คสช.ทำในช่วง 4 ปี คือ การใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การทำทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องการสร้างรัฐเผด็จการโดยใช้ระบบราชการเป็นกลไก ทำให้กลไกภาคประชาชนและพรรคการเมืองอ่อนแอ ใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อปกป้องและเอื้อต่อตนเอง
ดังนั้น 4 ปีของ คสช. คือ การนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมน และอันตราย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกมองเป็นเพียงบ่าว ทั้งๆ ที่พวกเขาคือนาย เพราะเป็นผู้เลือกส.ส.และรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันนำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา พร้อมด้วยหลักนิติธรรม ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ฯลฯ และไม่ยอมให้เผด็จการทำลายประชาธิปไตยอีกต่อไป เพื่ออนาคตที่สดใสและเกิดความรัก ความสามัคคี ความเมตตา ปรารถนาดีระหว่างประชาชน อย่างแท้จริง
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
  17 พฤษภาคม 2561