ทุนใหญ่-จีน-ญี่ปุ่น บุกยึด EEC สหพัฒน์-เซ็นทรัล ตุนที่ดินดักหน้า “ซีพี-บีทีเอส-ปตท.” เสียบไฮสปีดเทรน

ยิ่งใกล้ถึงวันดีเดย์นับถอยหลังออกประกาศร่างขอบเขตงานและเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (ทีโออาร์) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนเปิดให้เอกชนที่สนใจร่วมทุนแบบ PPP ยื่นซองประมูลปลายเดือนตุลาคม 2561 นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทย-เทศยิ่งจับตามองและเกาะติดข่าวคราวความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มซีพี บีทีเอส ปตท. ช.การช่าง อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ฯลฯ ที่เวลานี้พากันเดินสายเจรจาจับคู่กับพันธมิตรทั้งไทย จีน ญี่ปุ่นฝุ่นตลบ ผนึกฐานเงินทุน เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ บวกคอนเน็กชั่น ก่อนถึงฤกษ์ลงสนามจริง เพื่อช่วงชิงโปรเจ็กต์ยักษ์ไฮสปีดเทรน มูลค่าลงทุน 2.24 ล้านล้านบาท

แต่หากรัฐบาลประเดิมเปิดประมูลโครงการนี้ได้สำเร็จ เท่ากับส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าการลงทุนโครงการ EEC เริ่มเดินหน้าอย่างเป็นทางการแล้ว ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกหลากหลายสาขาก็พร้อมขยับตาม

เพราะทุนไทยต่างชาติที่กำลังรอฟังข่าวดี EEC แจ้งเกิดมีจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญหลายรายเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เหลือแค่รอจังหวะสตาร์ตลงทุนเมื่อโอกาสมาถึง การตัดสินใจลงทุนใหม่กับขยายฐานลงทุนเพิ่มจากนี้ไปตลอดช่วงครึ่งปีหลังจึงน่าจะมีมากขึ้น

ยิ่งเปิดประมูลขยายสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด ไล่หลังไฮสปีดเทรนตามแผนได้ จะเป็นแรงหนุนส่งให้การพลิกอนาคตประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” ยิ่งใกล้ความจริง

 

ในส่วนของการประมูลไฮสปีดเทรนนั้น นอกจากกลุ่มทุนไทยแล้ว ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านการเงิน รับเหมา บริษัทรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นทุนจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ต่างแสดงความสนใจเข้าประมูลลงทุนในรูปแบบ PPP net Cost ด้วย

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนไทย ล่าสุด นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรซีพี ได้เดินสายเจรจาทั้งกับนายคีรี กาญจนพาสน์ บิ๊กบอส บมจ.บีทีเอสโฮลดิ้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล บิ๊ก บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หลังจากเจรจากับ บมจ.ปตท. ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยซีพีพร้อมจะลงขันลงทุนไฮสปีดเทรน EEC กับพันธมิตรสนใจร่วมทุน

เช่นเดียวกับทุนใหญ่อย่างกลุ่มสหพัฒน์และเซ็นทรัล ที่ประสานเสียงหนุนให้รัฐเร่งเดินหน้า EEC ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขณะที่บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ศุภาลัย ควอลิตี้ เฮ้าส์ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เอสซี แอสเสท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ฯลฯ ส่วนใหญ่มีที่ดินตุนอยู่ในมือ และพร้อมจะลงทุนต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ในตลาดจะมีเพิ่มขึ้น หลังแหล่งธุรกิจ แหล่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เปิดเผยว่า เซ็นทรัลเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของ EEC พร้อมจะขยายการลงทุนรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอุตสาหกรรมการบิน

“หากมีโอกาสดีๆ เราจะเข้าไปแน่ เพราะมีอินฟราสตรักเจอร์พร้อมซัพพอร์ตทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ เมื่อแผนของรัฐบาลชัดเจนและมีการลงทุนเป็นรูปธรรม เราพร้อมจะต่อยอดธุรกิจที่ปัจจุบันมีฐานอยู่แล้วทั้งที่ระยอง ชลบุรี อาทิ เซ็นทรัลพลาซา ระยอง เซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี โรบินสัน ศรีราชา นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในบริษัท ดาราฮาเบอร์ จำกัด ที่มีสิทธิในที่ดินเช่าขนาดเนื้อที่ 34.5 ไร่ บริเวณถนนสุขุมวิท เกาะลอย ศรีราชาอีกด้วย” นายรัฐกิตติ์กล่าว

ส่วนค่ายสหพัฒน์ ซึ่งมีฐานธุรกิจในพื้นที่ EEC ทั้งส่วนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ศรีราชา ธุรกิจอสังหาฯ นั้น มีคำยืนยันจากนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล ชัดเจนว่าได้หารือถึงแผนธุรกิจในอนาคตรองรับโครงการ EEC กับกลุ่มนักลงทุนในส่วนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ก่อนหน้านี้แล้ว และพร้อมลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่ม โดยเฉพาะในส่วนอุตสาหกรรมดังกล่าวขณะนี้เหลือที่ดินรอพัฒนา 200-300 ไร่ จากทั้งหมด 1,600 ไร่ สามารถขยายการลงทุนเพิ่มได้ทันทีเมื่อสถานการณ์เหมาะสม”

ควบคู่กับความเคลื่อนไหวของทุนรับเหมา ยักษ์ระบบขนส่งมวลชน บริษัทน้ำมัน ค่ายอสังหาฯ ค้าปลีก ฯลฯ ที่กำลังฮ็อตและมาแรง คือธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ หรือนายหน้าซื้อขาย เก็งกำไรที่ดินทั้งเจ้าถิ่น ต่างถิ่นพากันผุดออฟฟิศรับกระแส EEC แถมมีโบรกเกอร์หรือนายหน้าค้าที่ดินต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ผสมโรงซื้อขายที่ดินเก็งกำไรไม่น้อยหน้านายหน้าคนไทย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลจากกรมพัฒนธุรกิจการค้าระบุว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่พฤศจิกายน 2560-เมษายน 2561 ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทประกอบธุรกิจนายหน้าตัวแทนซื้อขายอสังหาฯ มีมากกว่า 500 บริษัท เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากผู้ประกอบการไทยแล้ว นักธุรกิจจีน ญี่ปุ่น ยื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทประกอบอาชีพนายหน้าและตัวแทนซื้อขายอสังหาฯ จำนวนมากเช่นเดียวกัน

สอดคล้องกับข้อมูลที่นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บมจ.ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ เผยผลสำรวจจัดเก็บข้อมูลในฐานะบริษัทที่ปรึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในพื้นที่ EEC ซึ่งพบว่ากลุ่มทุนญี่ปุ่นหลายรายรวมตัวกันกว้านซื้อที่ดินใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งธุรกิจและแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยกลุ่มดังกล่าวต้องการตุนที่ดินไว้ในมือทั้งรองรับการพัฒนาโครงการและขายต่อให้กับผู้สนใจ

ไม่แปลกที่เวลานี้ราคาที่ดินในพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัดจะพุ่งขึ้นกู่ไม่กลับ ล่าสุดราคาซื้อขายที่ดินในทำเลติดถนนบริเวณศรีราชา ปรับขึ้น 30-50% เป็นไร่ละ 80-100 ล้านบาท ส่วนที่ดินติดชายทะเลไร่ละ 100 ล้านบาท เช่นเดียวกับทำเลสัตหีบ ที่ได้อานิสงส์แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

 

ผลพวงจากกระแสบูมเมกะโปรเจ็กต์ EEC ของภาครัฐ บวกกับการกว้านซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร หรือปั่นราคาของกลุ่มนายทุน นายหน้า

ทำให้ราคาที่ดินภาคตะวันออกเกือบทั้งโซนพุ่งกระฉูดจนแทบจับไม่ไหว

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนทั่วไป ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า

จะฝ่ากับดักนายทุน นายหน้าค้าที่ดินอย่างไรดี