E-DUANG : มอง “มาเลเซีย” สะท้อนถึง “ไทย”

ไม่ว่าเสียงจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนชื่นชมต่อชัยชนะของ นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด จากการเลือกตั้งที่มาเลเซีย

แม้ว่าจะด้วย”มุมมอง”อันแตกต่างกัน

แต่ลักษณะ “ร่วม” ภายในความชื่นชมของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ คือ การยกย่องและชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของ “การเลือกตั้ง”

ตรงจุดนี้สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย”

โดยเฉพาะเมื่อนำเอากรณีของมาเลเซียย้อนกลับมามองกรณีของไทยในห้วงนับแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

หากไม่มีการสรุปไทยอาจต้องเดินวนอย่างชนิดซ้ำซาก

 

ไม่ว่าสังคมประเทศไทย ไม่ว่าสังคมประเทศมาเลเซีย ล้วนมีความขัดแย้ง มีปัญหาดำรงอยู่

แต่จุดต่างอย่างสำคัญ คือ พื้นฐานความคิด

มาเลเซียมีความขัดแย้ง มีการชุมนุมประท้วง แต่ทางเลือกของมาเลเซียก็คือ ใช้กระบวนการ”เลือกตั้ง” เป็นตัวตัดสิน

นั่นก็คือ การมอบอำนาจให้”ประชาชน”

แต่ไทยเราหากย้อนกลับไปยังความขัดแย้งก่อนเดือนกันยายน 2549 ความขัดแย้งก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 แทนที่จะใช้กระบวนการเลือกตั้ง

ตรงกันข้าม ธงนำ 1 ซึ่งชูขึ้นสูงเด่น คือ กระบวนการรัฐประหาร

มีการยุบสภา แต่ก็มีการบอยคอตเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือ ความผิดซ้ำซากที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

ในความผิดซ้ำซากจากรัฐประหาร 2 ครั้งภายในเวลาไม่เกิน 10 ปีนี้เองที่กำลังเป็น”บทเรียน”อย่างทรงความหมาย

ประเด็นอยู่ที่ว่า สังคมไทยคิดอย่างไรในเรื่องนี้

บทสรุปอันมาจากพรรคเพื่อไทย บทสรุปอันมาจากพรรคประ ชาธิปัตย์ เป็นความชื่นชมต่อมาเลเซียก็จริง แต่ก็เท่ากับเป็นเงาสะ ท้อนความคิดที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยด้วย

หวังเป็นอย่างสูงว่า ไทยจะทำความผิดพลาดซ้ำอีกเหมือนก่อนปี 2549 เหมือนก่อนปี 2557