เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน ยุค1990-2000 [นายกฯชวน หลีกภัย มองจีนด้วยความระแวง]

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (ตอน6) : ยุค 2 ค.ศ.1990-2000

ประเด็นน่าสนใจที่ควรอภิปรายถึงในยุค 2 ช่วงปลายของความสัมพันธ์ไทย-จีน ค.ศ.1997-2000 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากหนังสือของ Banjamin Zawacki และวิทยานิพนธ์ของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช ได้แก่

– ระบบ/ระเบียบการจัดวางนโยบายโดยทั่วไปรวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศต่อจีนเปลี่ยนไป

– เชื้อมูลต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นพื้นฐานรองรับฉันทมติที่ไทยปรับตัวเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจจีนระดับภูมิภาคในยุคถัดไป

– นายกฯ ชวน หลีกภัย มองจีนด้วยความหวาดระแวงบางระดับในด้านความมั่นคง

ระบบ/ระเบียบการจัดวางนโยบายโดยทั่วไปรวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศต่อจีนเปลี่ยนไป

ประเด็นนี้ ดร.เจษฎาพัญพูดไว้ชัดในวิทยานิพนธ์ (น.228-237) โดยชี้แนวโน้มแปลกใหม่สำคัญ 2 ประการด้วยกันคือ

– เกิดแหล่งที่มาของนโยบายอิสระของผู้นำการเมือง (นายกฯ ชาติชาย) นอกระบบราชการ จากคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นทีมนักวิชาการ ขึ้นตรงต่อนายกฯ อีกทั้งเดินนโยบายอิสระที่สวนกับกระทรวงการต่างประเทศและกองทัพ รวมทั้งกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยเดิมที่เคยเป็น The Chinese Lobby แวดล้อมอดีตนายกรัฐมนตรีและบรรษัทข้ามชาติการเกษตร (BZ, p. 81, 83) โดยเฉพาะในแง่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีน

– กลุ่มผลประโยชน์ทุนธุรกิจที่เคยเข้าถึงและมีอิทธิพลสูงในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนยุครัฐบาลเปรม-ประชาธิปไตยครึ่งใบ (CP, Bangkok Bank, สยามกลการ, ไทย-อาซาฮี ดู เจษฎาพัญ, บท 3 น.160-171) ยังคงเข้าถึงวงกำหนดนโยบายระดับชาติได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ แม้จะเปลี่ยนรูปแบบหรือระดับความเข้มข้นไปบ้าง เพราะทำผ่านพรรคการเมือง ครม. และสถาบันรัฐสภาแทน (เจษฎาพัญ, น.233-237)

แต่ที่น่าสนใจมากคือกลุ่มทุนท้องถิ่นระดับจังหวัดก็เข้าถึงวงการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเกี่ยวกับจีนในระดับท้องถิ่นที่ติดชายแดนในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะ 10 จังหวัดภาคเหนือ (น.235-237)

เชื้อมูลต่างๆที่ประกอบกันเข้าเป็นพื้นฐานรองรับฉันทมติที่ไทยปรับตัวเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจจีนระดับภูมิภาคในยุคถัดไป

ผู้เขียนใคร่ขอออกตัวแต่ต้นว่าส่วนนี้เป็นการคาดเดา (conjecture) ประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผลจากการอ่านข้อมูลจำนวนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ของ ดร.เจษฎาพัญและงานของ Banjamin Zawacki แล้วนำมาปะติดปะต่อเชื่อมโยงหาตรรกะความสัมพันธ์กัน มากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริงชัดเจนที่พิสูจน์ทราบแล้ว

ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ :

– “การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตทำให้ในช่วงทศวรรษ 1990 ไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญคือสินค้าส่งออกและนำเข้ากลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรและสินค้าสำเร็จรูป เป็นต้น รวมทั้งการเกิดขึ้นของการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (intra-industry trade) และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบรรษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ ทำให้เกิดการออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการลงทุนไปยังจีน ทำให้มีนโยบายการสนับสนุนการลงทุนในช่วงนี้ด้วย” (เจษฎาพัญ, น.225 เน้นโดยผู้เขียน)

– จีนกำลังเตรียมการต่างๆ ที่จำเป็นรวมทั้งเจรจากับประเทศภาคีสมาชิกตามพันธกรณี GATT เดิมทั้งหลายรวมทั้งไทย และปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจในประเทศจีนด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับระเบียบของ WTO ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การที่จีนได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก WTO ในปี ค.ศ.2001 (เจษฎาพัญ, น.218-219)

– ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และประธานคณะกรรมการ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) สมัยรัฐบาลชวน นำคณะเดินทางไปเจรจาเศรษฐกิจกับผู้นำที่รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจของจีนบ่อยครั้งช่วงปี ค.ศ.1998-2000 (เจษฎาพัญ, น.230, 231-233)

– ไทยมีนโยบายมุ่งมั่นพยายามจะวางฐานะของประเทศทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาคและอนุภูมิภาคในด้านต่างๆ และเป็นห่วงเชื่อมสำคัญของภูมิภาค ASEAN กับจีนด้วย (เจษฎาพัญ, น.226)

– ในที่สุดไทย (สมัยรัฐบาลชวน) กับจีนได้ร่วมกันจัดทำ “แผนความร่วมมือในศตวรรษที่ 21” ในปี ค.ศ.1999 ระหว่างสองประเทศอย่างกว้างขวาง (เจษฎาพัญ, น.181-182; BZ, pp. 96-97) ซึ่ง BZ ตีความว่า “แผนความร่วมมือฯ” ดังกล่าว “เป็นที่ตระหนักกันทั่วไปว่าเป็นรหัสของจีนที่แสดง “ความปรารถนาให้อำนาจอเมริกันเสื่อมถอยลง” และระบุอย่างเป็นทางการให้ “ประเทศไทยมีบทบาทเป็นห่วงเชื่อมของจีนต่อ ASEAN” (BZ, p. 97)

จากข้อมูลประเด็นต่างๆ ข้างต้นที่ยกมาทั้งหมด ผู้เขียนอยากคาดเดาตีความว่าเป็นการปูทางเตรียม พร้อมให้ไทยปรับตัวเข้าร่วมทีมจีนทางเศรษฐกิจ ในรูป “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” หลังจากจีนเข้า WTO แล้ว ตามข้อวิเคราะห์ของ Hung Ho-Fung. “America”s Head Servant”, New Left Review Series II, 60 (November – December 2009), 5-25. ซึ่งผมจะพูดถึงโดยละเอียดในตอนถัดไป

นายกฯ ชวนมองจีนด้วยความหวาดระแวงบางระดับในด้านความมั่นคง

ถึงแม้จีนจะบ่มเพาะปลูกฝังสัมพันธไมตรีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในยุคนี้อย่างแนบแน่นหลายครั้งหลายรูปแบบ (โบ, น.213) แต่ Benjamin Zawacki ก็ชี้ว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงไม่ทรงปลงพระราชหฤทัยเชื่อว่าจีนไม่มีแผนการทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อไทย (BZ, p. 78) นอกจากนี้ เขายังเรียกนายกฯ ชวน หลีกภัย ว่า “นายกรัฐมนตรีโปรอเมริกันคนสุดท้ายของไทย” (BZ, p.94)

คำถามคือฝ่ายไทยอย่างนายกฯ ชวนมองจีนด้านความมั่นคงอย่างไรในยุค 2 นี้?

นายกฯ ชวนระแวงการที่จีนรุกคืบเข้ามาร่วมมือกับพม่าทางทัพเรือในทะเลอันดามันทางตะวันตก และปฏิบัติการทางนาวีของจีนในทะเลจีนใต้ทางตะวันออกของไทย ในแง่ที่อาจคุกคามเส้นทางคมนาคมสำคัญทางเศรษฐกิจ การประมง ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและน้ำมันใต้ทะเลที่ไทยมีผลประโยชน์อยู่

ท่าทีของนายกฯ ชวนจึงมีนโยบายด้านความมั่นคงเชิงป้องกันต่อจีน โดยเรียกให้ฟังรื่นหูว่า “นโยบายสร้างดุลอำนาจ” (BZ, pp. 88-89)

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐด้านความมั่นคงและการเมืองก็ฟื้นคืนดีขึ้น แก้ปัญหาตกค้างเรื่องการที่ไทยสั่งซื้อฝูงบินรบ F18 แล้วติดค้างไม่มีเงินจ่ายเพราะวิกฤตต้มยำกุ้งให้ตกไปอย่างเรียบร้อย โดยสหรัฐสมัยประธานาธิบดีคลินตันเสนอตัวให้รัฐบาลอเมริกันเข้ารับซื้อฝูงบินดังกล่าวแทนไทยเอง แล้วไม่คิดค่าปรับกับรัฐบาลไทย แถมคืนเงินดาวน์ฝูงบินที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วให้ไทยอีกต่างหาก (BZ, p. 95) และทั้งสองประเทศร่วมมือกันในแง่ที่ไทยเน้นย้ำคุณค่าด้านเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

แต่ชวนก็เห็นความสำคัญของจีนในแง่เศรษฐกิจ จึงกระชับความสัมพันธ์กับจีนในด้านต่างๆ รวมทั้งร่วมจัดทำ “แผนความร่วมมือในศตวรรษที่ 21” ระหว่างสองประเทศ ในปี ค.ศ.1999 อันช่วยปูพื้นแก่สัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นขึ้นกับจีนในยุค 3 ของรัฐบาลทักษิณถัดไป