ไปชมบ้าน “แดเนียล บูน (DANIEL BOONE)” ตำนานนักบุกเบิกตะวันตก แห่งอเมริกา

คนไทยที่อายุเกิน 60 ปี หรือคนไทยที่เกิดทันยุคทีวีขาวดำ ต้องรู้จัก แดเนียล บูน (Daniel Boone) เพราะเป็นหนังทีวียอดฮิตในยุคสมัยนั้น

ในอเมริกา แดเนียล บูน คือตำนานนักบุกเบิกตะวันตกที่เป็นขวัญใจอเมริกันชน

2 พฤศจิกายน คือวันคล้ายวันเกิดของ แดเนียล บูน ที่เกิดในปี 1734 หรือ 283 ปีมาแล้ว แต่เรื่องราวของเขาไม่เคยลบเลือนจากหน้าประวัติศาสตร์และจากความทรงจำของชาวอเมริกัน

บ้านเกิดของ แดเนียล บูน อยู่ที่เมือง Birdsboro ห่างจากเมือง Reading แค่ 20 นาที บางตำนานก็บอกว่าบ้านเกิดของ แดเนียล บูน อยู่ที่เมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการแยกเมือง Birdsboro ออกมา จึงถือว่าบ้านเกิดของ แดเนียล บูน อยู่ที่เมืองเรดดิ้ง

ในวาระครบรอบวันเกิด 2 พฤศจิกายน ของ แดเนียล บูน ที่บ้านเกิด Daniel Boone Homestead จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองซึ่งในปีนี้จัดงานวันที่ 4 และ 5 พฤศจิกายน ให้ตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์

ในงานทุกปีจะมีผู้มาร่วมงานแต่งตัวในยุค แดเนียล บูน ทั้งหญิงและชาย ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งอดีตให้หวนคืน

ผมขับรถจากบ้านเรดดิ้งไปร่วมงานที่ Daniel Boone Homestead วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2017 ไปถึงตอนบ่าย 2 โมง เพื่อฟังการบรรยายเกี่ยวกับ แดเนียล บูน เสียค่าเข้าฟังการบรรยายและชมสถานที่ $7 ไม่มีราคาซีเนียร์ เพราะสิบกว่าคนที่เข้าร่วมฟัง ล้วนแต่เป็นซีเนียร์ทั้งนั้น

ขับรถเข้าไปตามถนนสายเล็กๆ ชื่อ Daniel Boone Road ที่ตัดเข้าไปในราวป่า ต้นไม้สองข้างทางกำลังเปลี่ยนสีเป็นเฉดสีเหลือง ส้ม แดงของฤดูใบไม้ร่วงสลับกับสีเขียวดั้งเดิม สวยงามยิ่งนัก

นอกจากตัวบ้าน Daniel Boone Homestead แล้ว ยังมีอาคารทางเข้าเป็นห้องขายของที่ระลึก หางหมาจิ้งจอก (Fox Tail) ราคา $14 น่าสนใจทีเดียว พร้อมจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับสถานที่นี้ ที่ใกล้ๆ ตัวบ้าน แดเนียล บูน มีอาคารโรงเก็บของ (Barn) ทาสีแดงสองหลัง ตอนที่วิ่งรถเข้ามาก็ผ่านอาคาร Bertolet House บ้านที่สร้างด้วยไม้ซุงทั้งหลัง สวยงามมาก

เสียดายที่วันนี้ไม่มีใครแต่งตัวมาในยุค แดเนียล บูน เลยขาดบรรยากาศไปนิดหน่อย

ผู้บรรยายเล่าว่า พ่อแม่ของ แดเนียล บูน มาจากเวลส์ อังกฤษ จึงพูดอังกฤษสำเนียงเวลส์ เป็น Quaker หรือพวกเคร่งศาสนา พ่อชื่อ Squire และ แม่ชื่อ Sarah ตอนนั้นยังไม่ใช้ Last name ว่า Boone ส่วน แดเนียล บูน เกิดที่บ้านหลังนี้

นามสกุล Boone ได้มาเมื่อแดเนียลเป็น Weaver ช่างทอ นอกจากนี้ เขายังเป็นชาวไร่ และช่างตีเหล็กอีกด้วย

ผู้บรรยายไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวกับ แดเนียล บูน ส่วนใหญ่จะบรรยายถึงแต่ยุคพ่อแม่ของ แดเนียล บูน

แดเนียล บูน เกิดที่บ้านเรดดิ้งเมื่อปี 1734 เป็นลูกคนที่ 6 ในพี่น้อง 11 คน ชีวิตวัยเด็กเขาได้รับการศึกษาเล่าเรียนเพียงเล็กน้อย เพราะรักที่จะออกป่าล่าสัตว์ ผจญภัยในราวป่าและใช้ชีวิตอิสระมากกว่า

ชีวิตในวัยเด็ก แดเนียล บูน ต้องทำงานจากเช้าจรดค่ำ ต้องจัดเตรียมหาอาหาร เช่น พวกเนื้อตากแห้ง ต้องออกป่าล่าสัตว์ จัดเตรียมพืชผักจากสวนครัวและเสาะหาจากราวป่า เพื่อสำรองในหน้าหนาว

ปี 1750 พ่อแม่และ แดเนียล บูน ทิ้งถิ่นเพนซิลเวเนีย มุ่งสู่ North Carolina ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ได้รวมอยู่ใน 13 อาณานิคม ปีนั้น แดเนียล บูน อายุ 15 ขวบครึ่ง

จึงขายบ้านให้ William Maugridge ลูกพี่ลูกน้องชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ที่บ้านเรดดิ้งจนสิ้นชีวิตในปี 1766

ในประวัติเล่าว่า แดเนียล บูน กลับมาเยือนบ้านเรดดิ้งเพียง 2 ครั้งเท่านั้นในปี 1781 และ 1788

ในหลายปีช่วงนี้ แดเนียล บูน เป็นนายกองเกวียนของนายพล Edward Braddock

ปี 1756-1758 เป็นนายกองเกวียนให้นายพล John Forbes ผู้สร้างถนนไป Fort Duquesne ซึ่งบูรณะเป็น Fort Pitt หรือเมือง Pittsburg เมืองอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐเพนซิลเวเนียในยุคต่อมา

ปี 1755 แดเนียล บูน แต่งงานกับสาวเพื่อนบ้าน Rebecca Bryan มีลูกด้วยกัน 10 คน

กลับมาสู่ North Carolina แดเนียล บูน ซื้อที่ดินจากพ่อแม่ แต่ไม่ได้ทำฟาร์มจริงจัง และต่อมาต้องสูญเสียที่ดินผืนนี้ไป

แดเนียล บูน มีชื่อเสียงมากเมื่อออกเดินทางสำรวจ Kentucky เริ่มจากภาคตะวันตกของเคนทักกีในปี 1767 แต่งานสำรวจที่มีชื่อเสียงที่สุดอยู่ในช่วงปี 1769-1771 ที่บุกเบิกเข้าไปในเส้นทางที่เรียกว่า Warrior”s Path ตอนขากลับบ้านในเดือนมีนาคม 1771 แดเนียล บูน กับน้องชายที่ร่วมสำรวจโดนอินเดียนแดงเผ่า Shawnees จับตัว แต่ก็หนีรอดมาได้

ครั้งหนึ่งลูกชายของ แดเนียล บูน ก็โดนอินเดียนแดงจับตัวไป แต่ก็รอดมาได้เช่นกัน

สี่ปีต่อมา จนถึงปี 1778 แดเนียล บูน ได้เป็น Captain ในกองทัพ ความเป็นผู้นำของเขาได้สร้างสถานี 3 แห่งใน Kentucky ที่ยังคงเป็นเมืองอยู่ในทุกวันนี้ คือ Boonesboro, Logan”s (St.Asph”s) และ Harrodsburg

แดเนียล บูน เสียลูกชาย 2 คนและน้องชายหนึ่งคนในการสู้รบ

สำหรับชาว Kentucky ถือว่า แดเนียล บูน คือ “วีรบุรุษแห่ง Kentucky” ถ้าไม่มี แดเนียล บูน ก็ไม่มีรัฐ Kentucky เช่นทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี แดเนียล บูน ที่ได้ขึ้นมามีตำแหน่งเป็นผู้พันแห่งกองทัพ ก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีความสามารถ เขาสูญเสียที่ดินใน Kentucky ในปี 1799

ชีวิตในบั้นปลาย แดเนียล บูน ไปอยู่กับลูกชายที่ Missouri เขายังคงออกล่าสัตว์และท่องไปในพนาไพรและได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลปกครองสแปนิชจากปี 1799-1803

ตราบจนวาระสุดท้ายที่อายุ 86 ปี เขาเสียชีวิตปี 1820 ที่ใกล้เมือง St. Louis

25 ปีต่อมา ภรรยาได้นำร่างของเขากลับมาฝังที่ Kentucky

แล้วก็ถึงเวลานำชมบ้าน Daniel Boone Homestead

ผู้หญิงที่นำชมเล่าว่า บ้านหลังนี้สร้างปี 1730 โดย Squire Boone ก่อน แดเนียล บูน เกิด 4 ปี ตกทอดเปลี่ยนมือมา 3 เจ้าของ จนเป็นของ Foundation ชื่อ Pennsylvania Historical and Museum Commission เมื่อปี 1938 ที่พยายามอนุรักษ์ทุกอย่างให้คงสภาพเดิมให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (Historic site) พร้อมกับท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล 579 เอเคอร์ที่มีการปลูกพืชผักให้เหมือนกับปี 1734 รวมทั้งมีการเลี้ยงแกะไว้หนึ่งฝูงให้เหมือนสมัยนั้น

เธอเล่าว่า บ้านหลังแรกในปี 1730 นั้นเป็นบ้านชั้นเดียวทำจากซุง ที่เห็นเป็นบ้านสองชั้นแบบ Stone House ตรงหน้านั้นเป็นการต่อเติมในยุคหลัง

ในประวัติศาสตร์บอกว่า ปี 1770 John DeTurk และเมีย Elizabeth ชาวไร่เพนซิลเวเนียเชื้อสายเยอรมันได้ซื้อบ้านหลังนี้ และเริ่มปรับปรุงบ้านด้วยการฉาบหินแทนผนังซุงในปี 1790 จวบจนปี 1800 การเปลี่ยนบ้านซุงเป็น Stone House จึงเสร็จสมบูรณ์

บ้านหลังนี้มีชื่อเสียงมากในหุบเขา Oley Valley เพราะเป็นบ้านที่รวมเอางานสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษและเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน

การชมบ้านเริ่มด้วยการพาเดินอ้อมไปด้านข้างสู่ประตูทางเข้าเล็กๆ ลงสู่ Basement ชั้นใต้ดิน ในห้องนี้จะมีรางหินเป็นทางเดินของน้ำใต้ดินที่ไหลอยู่ตลอดปีนานเกือบ 300 ปีแล้ว ทำให้บ้านนี้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดกาล

ไม่น่าเชื่อว่าบริเวณผิวดินด้านบนจะไม่มีร่องรอยของสายน้ำปรากฏให้เห็นเลย

ถือเป็นภูมิปัญญาของอเมริกันชนในยุค 300 ปีที่แล้ว ที่สร้างบ้านคร่อมทางน้ำใต้ดินที่ไหลรินมาชั่วนาตาปี

ภายในห้องใต้ดินใช้เป็นที่เก็บอาหารพวกเนื้อย่างและเนื้อสดบางจำพวก รวมทั้งพืชผัก ผลไม้ที่ต้องเก็บรักษาด้วยความเย็น เพื่อใช้กินตลอดหน้าหนาว

ที่ฝาผนังด้านในมีถังไม้หลายใบ คงไว้ใช้บ่มไวน์กินกันในยุคนั้น

แดเนียล บูน กับพี่น้องทั้ง 11 คนใช้ห้องใต้ดินเป็นที่เล่นในเยาว์วัย

ขึ้นมาสู่ตัวบ้านด้านบน

ห้องแรกที่เข้าไปดูคือห้องรับแขกที่ใช้เป็นที่บรรยาย ห้องนี้เป็นห้องทำกิจกรรมของครอบครัว มีโต๊ะและเก้าอี้ยุคโบราณหลายตัว เก้าอี้สวยงามมาก เวลาทำกิจกรรมจะลากโต๊ะมาไว้กลางห้อง มีเตาผิงอยู่มุมหนึ่ง ด้านมุมห้องตรงกันข้ามมีกล่องสี่เหลี่ยมแขวนติดข้างฝา ในนั้นเป็นนาฬิกาที่ถือเป็นของนำสมัยในยุคนั้น

เข้ามาห้องกลางห้องนี้เป็นห้องทำครัว มี Cooking Stove อยู่ริมห้องด้านหนึ่ง เป็นเตาขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าเตาผิง ในเตามีที่ตั้งหม้อสามขาอยู่กลางเตา ด้านซ้ายและขวาเป็นเครื่องปิ้งย่าง มี Kick Toast ใช้ปิ้งขนมปังบนพื้น พอปิ้งสุกด้านหนึ่งก็ใช้ตีนเตะให้ปิ้งอีกด้าน เลยเรียกเครื่องปิ้งขนมปังโบราณนี้ว่า Kick Toast มีอุปกรณ์ทำครัวพวกกระทะ หม้อ ไห แขวนและวางอยู่ข้างๆ เตาใหญ่

ฝั่งตรงข้าม Cooking Stove เป็นโต๊ะสำหรับหั่นผักเตรียมอาหาร มีตู้แขวนเก็บอุปกรณ์ มุมด้านในเป็นเตาผิง อีกข้างเป็นที่ตั้งนาฬิกาแขวนเรือนสูงใหญ่ ห้องครัวนี้มีประตูเข้าออก 2 ประตูทางด้านหน้าและด้านหลังบ้าน

เธอเล่าว่าสมัยนั้นเวลาเจ็บป่วยจะใช้ยาสมุนไพรที่ได้จากราวป่า หรือจากการเพาะปลูก

ห้องข้างๆ เป็นห้องอาหาร มีโต๊ะอาหารหนึ่งชุด มีตู้ใหญ่หนึ่งหลัง มีล้อปั่นด้ายหนึ่งอัน เดิมห้องนี้ใช้เป็นห้องทอผ้าด้วย

อีกห้องเดียวที่เหลือบนชั้นล่างของบ้าน คือห้องนอน มีเตียงนอนใหญ่หนึ่งเตียง และเตียงนอนเด็กยื่นมาข้างเตียงใหญ่หนึ่งเตียง มีหีบไม้ขนาดใหญ่สำหรับเก็บเสื้อผ้าอยู่ปลายเตียงหนึ่งหีบ

ลองจินตนาการดูว่า พ่อแม่กับพี่น้องของ แดเนียล บูน 11 คน นอนอัดกันในห้องนี้ จะมีความอบอุ่นเพียงใด

เดินขึ้นกระไดวนเล็กๆ แคบชันขึ้นไปชั้นบน ห้องที่น่าสนใจเป็นห้องใหญ่ โชว์เครื่องปั่นด้ายใช้ถักทอขนแกะให้เป็นผืนผ้า และอุปกรณ์ทอผ้าอื่นๆ กว่าจะได้ผ้าหนึ่งผืนต้องใช้เวลาปั่นทอ 2 ปี

นอกจากนี้ สมัยนั้นยังมีการปั่นด้ายจากต้น Flax แล้วนำมาถักทอเป็นผืนผ้า ต้องใช้เวลาถักทอนาน 2 ปีต่อหนึ่งผืนผ้าเช่นกัน

ดังนั้น ในยุคสมัยนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะมีเสื้อผ้าใหม่สักหนึ่งชุด

นอกจากนี้ ชั้นบนยังมีห้องนอนอีก 3 ห้อง เป็นห้องนอนขนาดเล็ก มีห้องหนึ่งมีเครื่องปั่นด้ายวางอยู่ด้วย

มีบรรไดวนลงชั้นล่างอยู่อีกด้าน เท่ากับขึ้นลงได้ 2 ทาง

ข้อน่าสังเกตคือ บ้านเกิดของ แดเนียล บูน ไม่มีห้องน้ำ และไม่มีชักโครก

แดเนียล บูน ขับถ่ายใส่หม้อ Chamber Pot แล้วเอาไปทิ้งที่ชายป่า

บ้านเก่าหลังหนึ่งในอเมริกาเก็บรักษาไว้เพื่อเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ผู้คนภาคภูมิใจมายาวนาน

แต่ที่เมืองไทยเมื่อ 4 ปีที่แล้วกุฏิไม้สักหลังหนึ่งในวัดบวรฯ ถูกรื้อทิ้งเพื่อทำถนนทางออกด้านข้างวัด (ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่เห็นความจำเป็นว่าพระจะต้องมีทางเข้าออกวัดหลายทาง) ข้าวของเครื่องใช้ในกุฏิที่ค้นพบนั้น บ่งบอกว่าเคยเป็นที่จำวัดของเจ้าฟ้ามงกุฎ สมัยที่บวชอยู่วัดบวรฯ 27 ปี ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ร.4

เรื่องนี้กรรมการวัดช่วยกันปิดเงียบ

กุฏิเก่าหลังหนึ่งที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ถูกทำลายด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา