บทความพิเศษ : ร.9 กับมุสลิมไทย และแนวคิดของพระองค์

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือในหลวง ร.9 ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก

อีกทั้งพระองค์ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจต่างๆ อันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่พสกนิกรของพระองค์ โดยไม่ทรงถือความแตกต่าง ในด้านศาสนา เชื้อชาติและชาติพันธุ์แต่ประการใด

นั่นหมายความว่าทุกศาสนาในประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ จึงทำให้ความรู้สึกกตัญญูของพสกนิกร ทุกศาสนิก ที่มีต่อพระองค์ ประหนึ่งความรู้สึกกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อ

ความแตกต่างทางศาสนาไม่ได้กร่อนทำลายความรู้สึกดังกล่าวแม้แต่น้อย

ชนชาติไทยประกอบด้วยเชื้อชาติดั้งเดิมหลายเชื้อชาติ ซึ่งความแตกต่างทางประวัติศาสตร์แห่งชนชาติดั้งเดิม พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้น มิใช่เป็นเพียงนามธรรม แต่เป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้

นั่นคือ พระราชกรณียกิจ ที่กำหนดเป็นโครงการแผนงานมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน กระจายออกไปทั่วราชอาณาจักร ปรากฏเป็นหลักฐานที่เด่นชัด เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ

สําหรับมุสลิมพบว่า โครงการในพระราชดำริที่ดำเนินการในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ โครงการเหล่านั้นอำนวยประโยชน์โดยตรงแก่พี่น้องมุสลิม ด้วยมูลค่าทางวัตถุมหาศาล แต่มูลค่าทางจิตใจยิ่งใหญ่กว่ามากมาย

มุสลิมจำนวนมากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงอุปถัมภ์โดยตรง ไม่ว่าในด้านการรักษาพยาบาลการอาชีพ การศึกษา หรือการศาสนาก็ตาม

พระองค์ทรงพระราชทานรางวัลครูสอนศาสนาดีเด่นทุกปี

พระราชทานรางวัลมัสยิดดีเด่นทุกปี ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย

พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างมัสยิดหรือสมทบทุนก่อสร้างมัสยิดหลายแห่ง

ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี อธิบายความหมายอัลกุรอาน เป็นภาษาไทย

ทรงสนับสนุนให้รัฐบาลจัดงบประมาณก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลาม ในสมัย นายประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรี

ทรงวางพระองค์เป็นกันเองกับพสกนิกรมุสลิมที่เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ทุกคนเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด

ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับพสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ อย่างสนิทสนมไม่ถือพระองค์

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีได้กล่าวว่า พระราชกิจวัตรของพระองค์ 2 ประเด็นและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับมุสลิมที่สำคัญมี 6 ด้าน

พระราชกิจวัตรของพระองค์ 2 ประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยศาสนาอิสลาม และทรงเข้าพระราชหฤทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง

ตัวอย่างที่จะยกมาบางประเด็นก็คือรูปแบบของคนไทยในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของแต่ละกลุ่ม แต่ละศาสนิกนั้น อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพราะว่าพี่น้องชาวไทยมุสลิมนั้นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาที่ระบุไว้ชัดเจน และพี่น้องมุสลิมจะปฏิบัตินอกเหนือไปจากนี้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทรงเข้าพระทัยดี

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการเข้าเฝ้าฯ การถวายความเคารพ ทรงเข้าพระทัยดีว่าการถวายความเคารพโดยการกราบพระองค์ท่านนั้น พี่น้องมุสลิมทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ทรงเข้าพระทัยดีและก็ไม่เคยมีครั้งใดที่จะทรงแสดงอาการรังเกียจ

เวลาเสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพี่น้องประชาชนเข้าเฝ้าฯ ต่างศาสนิกกันจะทรงให้ความใกล้ชิดสอบถามทุกข์สุขเยี่ยมเยียนอย่างเสมอภาคกัน ทรงสนพระราชหฤทัยในชีวิตความเป็นอยู่

ประเด็นที่ 2 ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ คราวใดที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ช่วงหนึ่ง 2-3 สัปดาห์ บางคราวก็เป็นเดือน

ซึ่งพระองค์เสด็จออกไปเยี่ยมพี่น้องที่อยู่ไกลๆ ในชนบท เพื่อทรงตรวจสอบ เยี่ยมเยียน ไต่ถามทุกข์สุขว่าพี่น้องในชนบทเป็นอย่างไร

สําหรับพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับมุสลิมที่สำคัญมี 6 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. ด้านการส่งเสริมศึกษาตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

2. ด้านการส่งเสริมกิจการในศาสนาอิสลาม ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ได้มีการกราบบังคมทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จไปงานเมาลิดกลางทุกปี

3. ด้านการศึกษาของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทรงได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปหลายร้อยโครงการในจังหวัดชายแดนภาคใต้

5. การบริหารกิจการของศาสนาอิสลามในประเทศไทย ทรงได้พระราชทานแนวคิดมาตั้งแต่ต้นว่า ประเทศของเราควรจะมีคณะกรรมการกลางชุดหนึ่งขึ้นมาดูแลกิจการศาสนาให้มาเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ

6. ด้านการยกย่องส่งเสริมบุคลากรที่รับผิดชอบกิจการศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งท่านจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลาง ดาโต๊ะยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผู้ที่ดูแลเกี่ยวกับอรรถคดีกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัวและมรดกใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระราชทานเข็มพระปรมาภิไธยให้ประดับตำแหน่งซึ่งแต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบ

ดาโต๊ะยุติธรรมก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตำแหน่งชั้นยศที่เท่าเทียมกับผู้พิพากษา

สรุปว่า จากแนวพระราชดำริตลอดจนพระราชจริยวัตรทรงปฏิบัติต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมนั้น เราได้ข้อคิด 6 ประการ กล่าวคือ

ประการที่ 1 การไม่ทรงมีอคติ พระองค์ไม่ได้มองว่าความแตกต่างความหลากหลายทางเชื้อสาย ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม

ประการที่ 2 ทรงให้ความสำคัญเรื่องของจิตวิญญาณ ค่านิยม ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหลักคำสอนของศาสนา วิถีชีวิต จารีตและความเป็นอยู่ รวมทั้งทรงให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางด้านวัตถุกับการพัฒนาทางจิตใจ ทางการศึกษา และความเท่าเทียมกันทางสังคม ตลอดจนความสมดุลของชีวิตผู้คนในการพัฒนา และความคงอยู่ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นเรื่องที่มีความชัดเจนมาก

ประการที่ 3 พบว่าได้ทรงพยายามสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้คนในสังคมได้เรียนรู้ ได้ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ให้เกียรติต่อกัน รวมทั้งการลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนที่ต่างวัฒนธรรมกัน และระหว่างประชาชนกับราชการ

ประการที่ 4 ทรงแสดงให้เห็นว่าทุกคนนั้นจะต้องได้รับความเป็นธรรม ได้รับความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม

ประการที่ 5 แนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงแสดงให้เห็นว่าจะต้องแก้ไขปัญหาโดยวิธีสันติวิธีเท่านั้น การแก้ปัญหาจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจไม่มีอคติ และฝ่ายราชการจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับประชาชน ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ให้เข้ากับจารีตประเพณี และความเชื่อของพี่น้องในพื้นที่ ที่ข้าราชการเหล่านั้นไปทำงาน ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้พี่น้องประชาชนปรับตัวปรับใจมาเข้ากับทางราชการ เป็นข้อสังเกตที่ชัดเจน ทรงแสดงให้เห็นว่าทุกครั้งทุกโอกาส

ประการที่ 6 ทรงให้ความสนใจแก่พี่น้องประชาชนไม่ว่าจะคนเล็กคนน้อย สามัญชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส หรือพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยชายขอบของประเทศทุกภาค เป็นลำดับความสำคัญต้นๆ ที่ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ

คำกล่าว

ถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ของจุฬาราชมนตรี (นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เป็นประจักษ์พยานยืนยันพระบรมราชโองการดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกและธรรมราชาผู้ปกครองอาณาประชาราษฎร์ทุกเชื้อชาติและศาสนา ทรงเป็นผู้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งทรงยอมรับศาสนาอื่นๆ ที่มิใช่ศาสนาพุทธได้เสมอกัน

พระราชกรณียกิจที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยมุสลิมนั้นมากล้นเหลือคณานับ พระองค์ทรงให้ นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี แปลและจัดพิมพ์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และทรงพระราชทานนาม “ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ” แห่งนี้ และทรงพระราชทานรางวัลแก่ผู้นำศาสนาอิสลามดีเด่น เป็นต้น

พระองค์ทรงสนพระหราชหฤทัยในศาสนาอิสลามและเข้าพระทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง แม้รูปแบบการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมอาจแตกต่างจากพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นอยู่บ้าง พระองค์ทรงทราบความข้อนี้เป็นอย่างดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้สำหรับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม

พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ ได้ตราตรึงในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยมุสลิมมาโดยตลอดมิรู้ลืม ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ กาลนับแต่นี้ต่อไป พี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่าต้องตระหนักในการสืบสานพระราชปณิธานและหลักการทำงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

และพระองค์จะทรงสถิตมั่นในดวงใจพสกนิกรของพระองค์ตราบนิรันดร์กาล