มุสลิมอังกฤษ : จาก 3 เหตุการณ์ก่อการร้าย ถึงไฟไหม้อาคาร Grenfell Tower

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมหมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

อย่างน้อย 3 ครั้งใหญ่ที่อังกฤษต้องเผชิญการก่อการร้ายในปีนี้

หนึ่ง การก่อการร้ายโจมตีกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ 22 มีนาคม 2560 โดยผู้ก่อการร้ายขับรถยนต์พุ่งชนฝูงชนตามทางเดินบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Bridge) มุ่งหน้าไปยังรัฐสภาอังกฤษทำให้มีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและตกลงไปในแม่น้ำเธมส์จากสะพาน แต่ได้รับการช่วยเหลือทัน หลังจากนั้น ผู้ก่อการร้ายขับรถไปถึงหน้ารัฐสภา ลงจากรถใช้อาวุธมีดแทงตำรวจหนึ่งนายซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ผู้ก่อการร้ายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในพื้นที่รัฐสภา สรุป มีผู้เสียชีวิต 5 คน รวมทั้งผู้ก่อการร้ายด้วย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน

ครั้งที่สอง 22 พฤษภาคม 2560 เหตุระเบิดสะเทือนขวัญที่แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ โดยคนร้ายเลือกเวลาลงมือก่อเหตุในช่วงจบคอนเสิร์ตของ แอเรียนา แกรนเด นักร้องสาวชื่อดังชาวอเมริกัน เมื่อเวลาประมาณ 22.35 น. จนสร้างความตื่นตระหนกตกใจแก่ผู้คนที่มาชมคอนเสิร์ตและพยายามหนีออกจากสถานที่แสดงคอนเสิร์ต ซึ่งแรงระเบิดได้คร่าชีวิตเหยื่อเคราะห์ร้ายมากถึง 22 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 ราย

ครั้งที่สาม ในช่วงค่ำวันเสาร์ของวันที่ 3 มิถุนายน 2560 เกิดเหตุโจมตีกระจายหลายจุดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มจากคนร้ายขับรถแวนไล่ชนคนบนสะพานลอนดอนบริดจ์ใจกลางกรุง พยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก จากนั้นยังสยองซ้ำเมื่อมีคนร้ายชาย 3 คน กระโดดลงมาจากรถใช้มีดยาวไล่ฟันแทงผู้คนไม่เลือกหน้า

ต่อมามีรายงานพบผู้เสียชีวิตเกิน 1 ราย

ทั้งสามเหตุการณ์ ขบวนการรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เหมือนหลายเหตุการณ์ทั่วยุโรป เช่น การสังหารคนจำนวนมากทั้งในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมและกรุงปารีส ส่งผลให้คนมุสลิม ชุมชนมุสลิมรวมทั้งมัสยิด โรงเรียนมุสลิมได้รับผลกระทบและเกลียดชังจากคนอังกฤษ

เช่น มีคนพูดใส่คนมุสลิมอังกฤษว่า “เมื่อไหร่คนมุสลิมอย่างพวกเธอจะหยุดฆ่าผู้บริสุทธิ์กันเสียที”

ชายคนหนึ่งตะโกนไล่หลังเด็กหญิงมุสลิมที่สวมฮิญาบหรือผ้าคลุมผม วัย 14 ปี ขณะที่เธอเดินไปโรงเรียนในเช้าหลังวันที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญ เด็กหญิงคนนั้นสะเทือนใจมาก แต่เธอก็ไม่ตอบโต้ และรีบเดินจากไป

ชาวมุสลิมรอบเมืองแมนเชสเตอร์และอังกฤษหลายคนตกเป็นเหยื่อจากความแค้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ข่าวระเบิดที่หอแสดงคอนเสิร์ตในย่านใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์เผยแพร่ออกไป ประตูของมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองโอลดัม (Oldham) นอกจากนี้ มัสยิดกลางประจำเมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ก็ตกเป็นเป้าเช่นกัน โดยมีมือมืดนำสีไปพ่นบนกำแพงล้อเลียนโดยเขียนคำว่า ISIS อยู่ในรูปหัวใจ ขณะนี้ตำรวจท้องถิ่นวางกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยแล้วบริเวณดังกล่าว

ส่วนนายมุฮัมหมัด ชาฟิก เล่าให้หนังสือพิมพ์ดิอินดิเพนเดนต์ฟังว่า มีชายวัยประมาณสามสิบตอนต้นคนหนึ่งดึงแขนให้เขาหยุดขณะที่เดินอยู่บนถนนเวสต์ในเมืองไบรตัน เพื่อจะบอกเขาว่าเขาฆ่าเด็กๆ ตาย และถุยน้ำลายใส่หน้าเขารวมทั้งหญิงมุสลิมอีกคนถูกคนสัญจรบนถนนถุยน้ำลายใส่ ขณะเดินอยู่บนถนนอ๊อกซ์ฟอร์ดในเมืองแมนเชสเตอร์

(โปรดดูรายละเอียดรายงานจากบีบีซี http://www.bbc.com/thai/international-40045782)

การแสดงออกของผู้นำมุสลิมอังกฤษสายกลาง

จากเหตุการก่อการร้าย บรรดาอิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนาอิสลาม ผู้คนมุสลิมชายและหญิงปฏิเสธที่จะประกอบพิธีศพต่อผู้ก่อการร้าย แสดงความเสียใจต่อคนอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการก่อการร้าย และออกเดินขบวนถือป้ายประณามคนร้าย

อิหม่ามมากกว่า 130 คนในสหราชอาณาจักรต่างปฏิเสธที่จะประกอบพิธีศพทางศาสนาให้กับชายผู้ก่อเหตุร้าย 3 คนเมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคมในกรุงลอนดอน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

“เราจะไม่ทำพิธีฝังศพตามประเพณีดั้งเดิมของศาสนาอิสลามให้กับผู้กระทำผิด และพวกเรายังหนุนให้บรรดาอิหม่ามและผู้มีอำนาจทางศาสนาของภาครัฐขอถอนตัวออกจากพิธีการเหล่านี้ด้วย” ผู้นำมุสลิมกล่าวในแถลงการณ์บนโซเชียลมีเดีย

โดยบรรดาอิหม่ามกลุ่มนี้บอกว่า การกระทำของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงแม้มัสยิดในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และในสหรัฐ จะเคยมีการปฏิเสธที่จะฝังศพชาวมุสลิมที่เกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายในช่วงไม่กี่ปีนี้มาก่อนแล้วก็ตาม

อิหม่าม อับดุลลอฮฺ ฮาซัน เป็นอิหม่ามในกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำทารุณในประเทศ ซึ่งโพสต์คำแถลงการณ์ออนไลน์กล่าวว่า พิธีกรรมในงานศพ เป็นการแสดงออกที่เป็นปกติสำหรับมุสลิมทุกคนโดยไม่คำนึงถึงการกระทำ ในแถลงการณ์ อิหม่ามบรรยายว่า ผู้ก่อการร้ายไม่ได้เป็นตัวแทนของศาสนาอิสลาม

“เรารู้สึกเจ็บปวดมากที่เกิดเหตุก่อการร้ายในประเทศของเรา และโดยผู้ก่อเหตุที่อ้างถึงความถูกต้องทางศาสนาเป็นเหตุผลในการลงมือก่อเหตุ เราต้องการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า การกระทำรุนแรงเหล่านั้นเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมและไม่น่าเห็นอกเห็นใจ”

“ฆาตกรกำลังแบ่งแยกสังคมของเราให้อยู่ในความหวาดกลัว เราต้องทำให้รู้ว่าพวกเขาล้มเหลว เราจะรวมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เราเป็นประชาคมเดียวกัน ในการเผชิญหน้ากับความขี้ขลาดน่าละอายทั้งหลาย เราจะไม่กระทำเหมือนผู้ก่อการร้าย เราต้องยึดมั่นในความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน”

อ้างอิงจาก http://www.aec10news.com/

เมื่อช่วงดึกของวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณอาคาร Grenfell Tower (เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์) ในเขตแลงคาสเตอร์ เวสต์ เอสเตต ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินแลทิเมรอ์และศูนย์การค้าเวสต์ฟีลส์ ไวต์ ซิตี้ ทางฝั่งตะวันตกของกรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ เมื่อเวลา 01.16 น. ที่ผ่านมาตามเวลาในอังกฤษหรือประมาณ 07.16 น. ของวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย โดยไฟได้ลุกลามไปทั้ง 27 ชั้นของอาคาร

อาคารนี้เป็นอาคารที่อยู่อาศัยขนาด 24 ชั้น จำนวน 120 ยูนิต เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 30 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกราว 68 คน

เว็บไซต์ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ อังกฤษได้เผยแพร่ว่า

“ท่ามกลางหมอกควันของความโศกเศร้าเสียใจของผู้ที่พักอาศัยในอาคารหลังนี้ กลับมีเรื่องน่ายกย่องจากคนอังกฤษที่ไม่ใช่มุสลิม กล่าวคือ เด็กหนุ่มมุสลิม นายคาลิด ซุลมาน อะห์เหม็ด อายุ 20 ปี ซึ่งพักอยู่บนชั้น 8 กับป้าของเขาวิ่งเคาะประตูห้องทั่วทั้งชั้น เพื่อเรียกให้หนีออกจากอาคารที่กำลังไฟไหม้ ซึ่งในเวลาดังกล่าว ตรงกับช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม ทำให้เขาและมุสลิมหลายคนที่อาศัยในอาคารเดียวกันยังไม่เข้านอน หรือบางคนเพิ่งตื่นจากนอน เพื่อมาเตรียมอาหาร เพราะต้องรอทานอาหารช่วงดึกในการเตรียมถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น”

จากเหตุการก่อการร้าย บรรดาผู้นำทางศาสนาอิสลามปฏิเสธที่จะประกอบพิธีศพต่อผู้ก่อการร้าย แสดงความเสียใจต่อคนอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการก่อการร้าย และคนมุสลิมช่วยเหลือไฟไหม้คนต่างศาสนิก

ผู้เขียนหวังว่าคนมุสลิมจะมีความอดทนต่อกระแสความเกลียดชังเขา รวมกันต่อต้านการก่อการร้ายในนามศาสนา

มีไมตรีจิตต่อผู้คนร่วมชาติ และประชาชาติจะช่วยนำคนมุสลิมเองก้าววิกฤต

ในขณะเดียวกันก็ฝากคนอังกฤษ ยุโรป และทั่วโลกแยกแยะมุสลิมส่วนใหญ่ที่ดีกับคนมุสลิมบางคนที่อ้างทำเพื่อศาสนา

สุดท้ายผู้เขียนขอฝากคำของ ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด ที่แนะนำว่าทุกคนสามารถทำงานศาสนาถึงแม้ไม่ใช่ผู้นำศาสนา

มุสลิมทุกสาขาอาชีพที่ต้องการทำงานศาสนา ทำงานอิสลาม หลายคนคิดง่ายๆ ผิวเผิน ว่าหมายถึง การทำอิบาดัต (การประกอบศาสนกิจ) การเผยแผ่ศาสนาต่อผู้คน การบรรยายศาสนา การเป็นอิหม่าม ฯลฯ

ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ในรายละเอียดของแต่ละบุคคล อัลกุรอานและหะดีษ (วจนศาสดา) มากมาย ชี้ว่าการทำงานศาสนานั้น คือการทำงานในบริบท ตามบทบาทหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด สามารถเป็นมุสลิมตัวอย่างในสาขาอาชีพนั้นๆ ได้

เพราะการเป็นประชาคมมุสลิมนั้น สังคมมุสลิมต้องการทรัพยากรจากทุกสาขาอาชีพ มิฉะนั้น สังคมมุสลิมก็จะเกิดไม่ได้ และจะไปไม่รอด

ทั้งนี้ เพราะการพึ่งพาอาศัยต่างศาสนิกไม่ว่าในกรณีใดๆ เช่น การรักษาพยาบาล การก่อสร้าง การซ่อมแซม ฯลฯ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม บาป นอกจากในกรณีจำเป็น

นอกจากนั้น งานศาสนายังมีในแง่มุมอื่น เช่น

เป็นผู้นำ งานศาสนา คือ ความยุติธรรม

เป็นคนมีเงิน งานศาสนา คือ การบริจาค

เป็นผู้รู้ งานศาสนา คือ การสอน การผลิตงานวิชาการ

การกล้าพูดความจริง

เป็นสามีภรรยา งานศาสนา คือ การทำดีและมีไมตรีต่อกัน

ฉะนั้น ได้เห็นมุสลิมบางสาขาอาชีพ เช่น ชมรมรถตู้มุสลิมไทยราวๆ 100 คัน รวมตัวกันเป็นชมรม เพื่อระดมช่วยเหลือผู้เดือดร้อนยามจำเป็น ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี ที่มุสลิมสาขาอาชีพอื่นๆ ที่มีรายได้ค่อนข้างดีสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานสายธุรกิจ หรือข้าราชการ

ซึ่งการกระทำเช่นนั้น ทำให้การขับรถตู้ก็เป็นการทำงานศาสนา โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งอาชีพ เพื่อออกไปบรรยายศาสนาหรือสอนหนังสือแต่อย่างใด

https://www.facebook.com/profile.php?id=100006447947980&fref=ts