ลุมพินีสถาน สงครามเย็น กับอนาคตพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ในช่วงเกือบทศวรรษที่อาคารลุมพินีสถานถูกปล่อยทิ้งร้างไป มีแนวคิดมากมายในการพัฒนาพื้นที่นี้

ไล่ตั้งแต่ข้อเสนอให้มีการรื้ออาคารลงเพื่อสร้างอาคารใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นที่สามารถตอบสนองการใช้งานสมัยใหม่ได้

การซ่อมให้กลับคืนสภาพเพื่อใช้เป็นเวทีลีลาศเหมือนในอดีต

การปรับเปลี่ยนอาคารให้เป็น co-working space

การปรับอาคารให้กลายเป็น amphitheater กลางแจ้งสำหรับการแสดงดนตรีและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ

โดยส่วนตัวเห็นว่า ก่อนจะมีการกำหนดทิศทางว่าอาคารแห่งนี้ควรจะพัฒนาและปรับปรุงอย่างไร สิ่งที่ควรดำเนินการเป็นอย่างแรกคือ การสำรวจความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารว่าสภาพปัจจุบันมีความมั่นคงแข็งแรงมากน้อยเพียงใด

แม้ในปี พ.ศ.2558 สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะเคยเข้ามาตรวจสอบความแข็งแรงของตัวอาคารและพบว่ามีความเสียหายทางโครงสร้างอยู่หลายส่วน

แต่ก็ดูเสมือนว่ายังมิได้ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากนักถึงศักยภาพของโครงสร้างเดิม โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้สอยในกิจกรรมรูปแบบอื่น

หลายคนเชื่อว่า อาคารน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2478 และโครงสร้างฐานรากของตัวอาคารน่าจะเป็นไม้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะปรับเปลี่ยนการใช้งานอะไรได้มากนัก และควรที่จะทำการรื้อถอนสร้างใหม่มากกว่า

หรืออย่างดีที่สุดก็เสนอให้เก็บรักษาเปลือกอาคารภายนอกเพียงบางส่วน เพื่อรักษาความทรงจำของอาคารเอาไว้ แต่พื้นที่ภายในควรรื้อออกเพื่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด

ภาพการประกวดเต้นลีลาศ ณ ลุมพินีสถาน (ไม่ทราบปีถ่าย)
ที่มาภาพ : อัลบั้มส่วนตัวของคุณประไพ พนมยงค์

ขณะเดียวกัน หลายคนก็เชื่อว่า (ผมเองก็เชื่อแบบนี้) ด้วยรูปร่างหน้าตาอาคารที่ปรากฏและหลักฐานเอกสารแวดล้อมบางอย่าง ตัวอาคารน่าจะถูกสร้างขึ้นไม่เก่ามากไปกว่า พ.ศ.2495 และฐานรากอาคารน่าจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ไม่ใช่ไม้)

ดังนั้น แม้โครงสร้างจะมีความเสียหายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงระดับวิกฤตที่เกินแก่การบูรณะ และสามารถนำตัวอาคารมาออกแบบใหม่ด้วยประโยขน์ใช้สอยอย่างใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องทำการรื้ออาคารลง

แม้ผมเองจะเชื่อตามความเห็นที่สอง แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ การคิดถึงอนาคตของลุมพินีสถานก็ดูจะเป็นเรื่องที่ลำบาก

ซึ่งถือเป็นข่าวดีนะครับ เพราะเท่าที่ทราบ ปัจจุบัน ทางกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการศึกษาสำรวจในประเด็นนี้อยู่ โดยหวังว่าคงจะได้คำตอบที่ชัดเจนในเร็ววัน

สิ่งสำคัญประการที่สองที่ควรทำต่อมาคือ การสำรวจความเห็นจากประชาชนถึงความต้องการหรืออนาคตที่อยากเห็นของอาคารแห่งนี้

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกเช่นกัน เพราะในช่วงเวลานี้ (ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์-25 มีนาคม 2566) กรุงเทพมหานครในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบอาคารลุมพินีสถาน กำลังทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าอยากเห็นอาคารหลังนี้ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาไปเป็นอะไรในอนาคต

ภาพการประกวดเต้นลีลาศ ณ ลุมพินีสถาน (ไม่ทราบปีถ่าย)
ที่มาภาพ : อัลบั้มส่วนตัวของคุณประไพ พนมยงค์

จากประวัติศาสตร์และความสำคัญของอาคารหลังนี้ ตามที่ได้อธิบายไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเองก็มีความเห็นส่วนตัวที่อยากร่วมเสนอเช่นกัน และอยากใช้พื้นที่นี้เพื่อนำเสนอไอเดียนั้น

ปัจจุบัน สังคมไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปราว 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหากว่ากันตามนิยามสากล ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัย (Aging Society) เต็มตัวแล้ว

และจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เห็นพ้องร่วมกันว่าตัวเลขนี้จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรไทยที่นับวันมีแต่จะลดลง

ทุกหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่างเริ่มมองเห็นแนวโน้มนี้และเริ่มให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งแวดวงสถาปัตยกรรมก็ตื่นตัวในเรื่องนี้มานานแล้วเช่นกัน

ในวงการการออกแบบสถาปัตยกรรม สิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ ในการรับมือกับปรากฎการณ์นี้ก็คือ “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เอื้อสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย

 

แน่นอน เป็นแนวคิดที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ แนวคิดนี้ส่วนมากยังคงมุ่งเน้นไปที่การออกแบบเพื่อตอบสนองข้อจำกัดทางกายภาพเป็นด้านหลัก ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบทางลาดหรือการสร้างลิฟท์สำหรับผู้พิการและคนสูงวัย,การออกแบบป้ายต่างๆ ด้วยอักษรเบลล์, ประตูบานเลื่อนอัตโนมัติ, การเพิ่มราวจับในจุดต่างๆ ที่ช่วยพยุงร่างกาย ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยแทบไม่ได้พูดถึงหรือให้ความสำคัญมากนักกับมิติทางด้านจิตใจ

ปัญหาข้อจำกัดทางกายภาพของคนสูงวัยเป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญเท่านั้น ซึ่งในความเห็นผม อีกด้านของเหรียญที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ การขาดพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับตอบสนองไลฟ์สไตล์และจิตใจของคนสูงวัย

พื้นที่สาธารณะทั้งของรัฐและเอกชน เกือบทั้งหมดในปัจจุบันถูกออกแบบขึ้น (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เพื่อตอบสนองผู้ใช้สอยที่เป็นคนในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานมากที่สุด รองลงมาก็คือเด็ก แต่ที่แทบไม่ปรากฏเลยคือ พื้นที่สำหรับคนสูงวัย

ลองพิจารณาพื้นที่สาธารณะรอบตัวเราดูสิครับ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี เวทีคอนเสิร์ต ฯลฯ แม้แต่สินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อการบันเทิงและผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา และพื้นที่พบปะพูดคุยสาธารณะทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างและออกแบบขึ้นเพื่อวิถีชีวิตของคนวัยทำงาน (และเด็ก) เป็นหลักทั้งสิ้น

แน่นอน พื้นที่ดังกล่าวมิได้ปิดกั้นคนสูงวัยในการเข้าไปใช้สอย แต่ถ้าเราลองคิดอย่างจริงจังดูเราก็จะพบว่า พื้นที่เหล่านั้นไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจของคนสูงวัยมากนัก

ซึ่งในทัศนะผม หากสังคมไทยขาดการสร้างพื้นที่ทางจิตใจเหล่านี้ให้แก่คนสูงวัย (ซึ่งนับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ) ในระดับที่มากเพียงพอ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยจะมีปัญหาในระยะยาว การเน้นเพียงการออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่เมือง บนฐานคิด Universal Design ที่ให้ความสำคัญเพียงมิติทางกายภาพนั้นเป็นเพียงการมองปัญหาแค่ด้านเดียวของเหรียญเท่านั้น

ด้วยความเชื่อดังกล่าว ผมจึงเห็นว่า ลุมพินีสถาน คือพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นต้นแบบในการนำร่องเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับคนสูงวัย

 

ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการเป็นพื้นที่ลีลาศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคอดีต และด้วยการที่กิจกรรมเต้นลีลาศในบริบทสังคมไทยปัจจุบันกลุ่มผู้เต้นส่วนใหญ่คือผู้สูงวัย (แน่นอน คนรุ่นใหม่ไม่น้อยก็เต้นลีลาศ แต่หากพิจารณาในเชิงสัดส่วน เราต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่คือผู้สูงวัย)

ดังนั้น การย้อนกลับไปปรับปรุงอาคารนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเต้นลีลาศอีกครั้ง จึงเป็นแนวทางที่ผมเห็นว่าควรทำที่สุด

แม้ในปัจจุบันจะมีโรงเรียนหรือศูนย์เยาวชนของกรุงเทพมหานครหลายแห่งเปิดพื้นที่สำหรับการเต้นลีลาศ แต่พื้นที่เหล่านั้นมิใช่พื้นที่ที่ผู้เต้นลีลาศจะมาแสดงตัวในพื้นที่สาธารณะในสถานะและความหมายแบบเดิมของการเป็นพื้นที่แสดงออกทางสังคมซึ่งผู้มาเต้นจะแต่งตัวอย่างสวยงาม และเต้นอวดโชว์ความสามารถและทักษะการเต้นให้ผู้อื่นชม

ส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือพื้นที่ที่คนสูงวัยจะมาเต้นเพื่อออกกำลังกายและพบปะเพื่อนฝูง

การมาเต้นในปัจจุบันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องแต่งตัวด้วยชุดเต้นเต็มยศ เพราะพื้นที่เหล่านี้มิใช่พื้นที่ในการแสดงออกถึงตัวตนทางสังคมในแบบที่เวทีลีลาศในยุคสมัยก่อนเคยเป็น

ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงลุมพินีสถานให้กลับมาเป็นเวทีลีลาศอีกครั้งจึงสำคัญ เพราะจะมิใช่เป็นเพียงการรื้อฟื้นความทรงจำในอดีต หรือเก็บรักษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบันเทิงของไทยเอาไว้เพียงเท่านั้น แต่คือการสร้างพื้นที่ของคนสูงวัยที่จะได้มาอวดโชว์ความสามารถ แสดงตัวในพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่สามารถยืนยันตัวตนและไลฟ์สไตล์ของตนเอง

พูดให้ชัดก็คือ เป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะทางจิตใจสำหรับคนสูงวัย ที่หาได้ยากในสังคมไทยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การรื้อฟื้นลุมพินีสถานให้กลายมาเป็นพื้นที่ในการเต้นลีลาศสำหรับคนสูงวัยเพียงอย่างเดียวก็อาจมิใช่คำตอบที่เหมาะสมนัก

การพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ในลักษณะของการเป็น multi-functional space ที่ในด้านหนึ่งยังคงสืบทอดเวทีลีลาศสำหรับผู้สูงวัยเอาไว้ ในขณะที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือแชร์ใช้พื้นที่สำหรับกิจกรรมประเภทอื่นสำหรับคนกลุ่มอื่นไปพร้อมกัน อาจจะเป็นทิศทางที่ดีและคุ้มค่ามากกว่า