ส่อง “เอฟวัน” ฤดูกาลใหม่ กับการเริ่มต้นที่พลิกความคาดหมาย

ก่อนหน้าศึก “ฟอร์มูล่าวัน” ฤดูกาลนี้จะเปิดฉาก บรรดาสื่อและแฟนบอลต่างยกให้ “เมอร์เซเดส” เป็นตัวเต็งคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้อีกเช่นเคย หลังจากครองความยิ่งใหญ่ในช่วง 4 ปีหลัง

เช่นเดียวกับ “ลูอิส แฮมิลตัน” นักขับมือ 1 ของทีมซึ่งหลายคนมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นนักขับรุ่นใหม่คนแรกที่คว้าแชมป์โลกได้ถึง 5 สมัย

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านการแข่งขัน 2 สนามแรก ในศึก “ออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์” และ “บาห์เรน กรังด์ปรีซ์”

กลับกลายเป็นว่า “เซบาสเตียน เว็ตเทล” อดีตแชมป์โลก 4 สมัยของ “เฟอร์รารี่” กลับเข้าป้ายคว้าแชมป์ได้ทั้ง 2 รายการ

ขณะที่แฮมิลตันคว้าอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ มีแต้มตามหลังนักขับชาวเยอรมัน 17 คะแนน

ระยะห่าง 17 คะแนนหลังจากผ่านไปเพียง 2 สนาม ยังบอกอะไรไม่ได้มากและยังมองไม่เห็นบทสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าระยะห่างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกสนามที่ลงแข่งขัน

แต่การที่ผลแข่งออกมาพลิกความคาดหมายขนาดนี้ก็เป็นประเด็นให้สื่อและแฟนๆ ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย

 

ความสำเร็จของทีมม้าลำพองเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ที่แน่ๆ คือการวางแผนและวัดใจกับเมอร์เซเดสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สนามแรกที่ออสเตรเลียนั้น แฮมิลตันทำเวลาดีที่สุดในรอบคัดเลือก ได้ออกสตาร์ตในกริดแรกและรักษาตำแหน่งผู้นำเอาไว้ได้โดยมี “คิมี่ ไรโคเน่น” อีกหนึ่งนักขับเฟอร์รารี่ตามมาในอันดับ 2 กระทั่งไรโคเน่นเข้าพิตในรอบที่ 18 และแฮมิลตันเข้าพิตในรอบถัดมา เฟอร์รารี่ก็ตัดสินใจให้เว็ตเทลฝืนวิ่งต่อไปยิ่งทำให้ระยะห่างกับแฮมิลตันเพิ่มมากขึ้น

แต่แล้วสิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อรถของทีม “ฮาส” มีปัญหา เพราะตอนเข้าพิตทีมช่างใส่ล้อเข้าไม่ถูกตำแหน่งทำให้ล้อหลวม เริ่มจาก “เควิน แม็กนุสเซ่น” ซึ่งอยู่อันดับ 4 ต้องถอนตัวในรอบ 22 ส่วนเพื่อนร่วมทีม “โรแม็ง โกรส์ฌ็อง” ที่ตามหลังแม็กนุสสันมา ต้องถอนตัวในรอบ 24

กรณีของแม็กนุสเซ่นเอารถออกจากการแข่งขันได้ไม่มีปัญหา แต่รถของโกรส์ฌ็องจอดนิ่งอยู่บริเวณทางตรงระหว่างโค้งที่ 2 และ 3 ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจปล่อยรถเวอร์ช่วล เซฟตี้คาร์ (VSC) ออกมาจำกัดความเร็วของรถทุกคันในสนาม (โดยยังคงอันดับเดิมก่อนอุบัติเหตุไว้)

ตอนนั้นเองที่เฟอร์รารี่ตัดสินใจสั่งให้เว็ตเทลเข้าพิตเพื่อเปลี่ยนล้อ เพราะการเข้าพิตในช่วงเซฟตี้คาร์ที่มีการจำกัดความเร็ว ทำให้เสียเวลาน้อยกว่าเวลาวิ่งเต็มสปีดถึง 10 วินาที ซึ่งแผนการดังกล่าวได้ผลดีเยี่ยม เพราะเว็ตเทลเสียเวลาเปลี่ยนยางน้อยกว่า แถมยางยังใหม่กว่า เมื่อกลับสู่สนามและขึ้นนำได้สำเร็จ ก็สามารถรักษาตำแหน่งของตัวเองได้จนจบ

แม้ว่า “บีบีซี” สื่อดังของอังกฤษ สัญชาติเดียวกับแฮมิลตันจะตั้งข้อสังเกตว่ารถของทีมฮาสซึ่งเป็น “ทีมน้อง” ของเฟอร์รารี่บังเอิญเสียได้ถูกที่ถูกเวลาเหลือเกิน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ช่วงรอบหลังๆ ของศึกออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์นั้น แฮมิลตันไม่สามารถไล่ตามถึงขั้นมีลุ้นแซงได้เลย

แถมช่วงสุดท้ายต้องมาห่วงว่าจะโดนไรโคเน่นแซงจนร่วงจากอันดับ 2 ซะอีก

 

พอมาศึกบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ สถานการณ์ของเมอร์เซเดสยิ่งน่าผิดหวัง เมื่อรถของแฮมิลตันมีปัญหาต้องเปลี่ยนกระปุกเกียร์ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้โดนลงโทษปรับกริดสตาร์ต 5 กริด แถมรอบคัดเลือกยังทำเวลาน่าผิดหวังได้เพียงอันดับ 4 จึงต้องไปออกสตาร์ตจากกริดที่ 9

ยังดีที่แฮมิลตันมีลูกฮึดไล่แซงจนคว้าอันดับ 3 ได้ขึ้นโพเดียม แต่เมอร์เซเดสก็ต้องผิดหวังที่ วัลต์เทรี่ บ็อตทาส นักขับอีกรายไม่สามารถแซงเว็ตเทลจนคว้าแชมป์สนามนี้ได้

อย่างไรก็ตาม แชมป์กรังด์ปรีซ์สนามที่ 49 ในชีวิตการเป็นนักแข่งเอฟวันของเว็ตเทลก็ใช่ว่าจะได้มาโดยง่าย เพราะช่วงที่โดนบ็อตทาสไล่บี้หนักๆ จากแผนการเข้าพิตเปลี่ยนยางของทีมเมอร์เซเดสนั้น นักซิ่งเมืองเบียร์ต้องอาศัยประสบการณ์ เทคนิคการขับ และการควบคุมอารมณ์ที่น่าชื่นชมเอาตัวรอดได้อย่างน่าทึ่งจนกูรูหลายคนยกให้การขับครั้งนี้เป็นหนึ่งในครั้งที่ดีที่สุดในชีวิตของเจ้าตัวเลยทีเดียว

เอฟวันฤดูกาลนี้ผ่านไป 2 สนาม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ รถของเมอร์เซเดสไม่ได้เร็วที่สุดชนิดทิ้งห่างแบบฤดูกาลก่อนๆ อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ตอนแรก และเฟอร์รารี่เตรียมแผนมารับมือคู่ปรับได้หลากหลายมาก (เช่นกรณีวัดใจให้เว็ตเทลเข้าพิตครั้งเดียวและวิ่งรักษาสภาพยางในรอบหลังๆ ของสนามที่บาห์เรน) เพราะฉะนั้น การขับเคี่ยวลุ้นแชมป์โลกในปีนี้จึงอาจจะสนุกขึ้นกว่าปีก่อนๆ

ยกเว้นแต่ว่าเว็ตเทลจะนำม้วนเดียวจบ นั่นก็จะถือเป็น “เซอร์ไพรส์” ในอีกรูปแบบหนึ่ง