เงาปีศาจ : เมื่อ “ไทย” คิกออฟเล่นใหญ่เกินตัว! รวมชาติอาเซียนขอจัด “บอลโลก”

ยังคงกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับวงการกีฬาเมืองไทยเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เริ่มขับเคลื่อนขั้นตอนการผลักดันให้ไทยเป็นแกนหลักของชาติอาเซียนร่วมกันเสนอตัวขอรับเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ.2034 / พ.ศ.2577

ประเด็นดังกล่าวถูกจุดพลุขึ้นมาระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562

โดยกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” ชงเรื่องให้ “บิ๊กตู่” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้นำชาติอาเซียนจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ชาติอาเซียนต้องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 ต่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)

ทันทีที่สื่อต่างๆ นำเสนอข่าวในครั้งนั้น ความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยแตกเป็นหลายฝ่าย

ด้านหนึ่งมองว่า เป็นเรื่องที่ดี เป็นการยกระดับอาเซียนสู่สายตาชาวโลก

อีกด้านหนึ่งมองว่า ชาติอาเซียนยังขาดความพร้อมที่จะคิดการใหญ่ถึงระดับฟุตบอลโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่คนในประเทศยังต้องดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจที่ทิ้งดิ่งแต่กลับ” “เล่นใหญ่เกินตัว”

อีกส่วนหนึ่งมองว่า ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาคิดที่จะทำ คิดไว้ก่อนอีกตั้งหลายปี ทำหรือไม่ทำอีกเรื่องหนึ่ง แค่เราคิดจะเสนอตัวก็ได้ประชาสัมพันธ์ประเทศแล้ว…!!!

 

ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องชาติอาเซียนกับฟุตบอลโลก จะถูกคนลืมไปแล้ว แต่ 3 เดือนต่อมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เริ่มเป่านกหวีดคิกออฟเดินเกมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 กันแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, กรมพลศึกษา, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

“ดร.สุริยา จินดาวงษ์” อธิบดีกรมอาเซียน บอกกับที่ประชุมว่า จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้ไทยยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก ปี 2034 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากที่จะให้หาข้อมูลด้านต่างๆ ในการเตรียมความพร้อม ซึ่งควรที่จะต้องมีข้อมูลภายในปีนี้ เพราะเป็นปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก่อนที่ในช่วงเดือนตุลาคมจะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอีกครั้ง จึงจะต้องเตรียมการว่า ถ้าไทยจะจัดฟุตบอลโลกจะต้องเตรียมความพร้อม และมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกัน เวียดนามเองก็แสดงความสนใจอย่างมากในการยื่นเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก ซึ่งในปีหน้าเวียดนามก็จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน

“โจ” “พาทิศ ศุภะพงษ์” รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชี้แจงว่า ฟุตบอลโลกในอนาคตจะเพิ่มทีมเข้าร่วมเป็น 48 ทีม และจะมีประเทศเจ้าภาพร่วมได้มากที่สุด 4 ประเทศ

โดยฟีฟ่าได้มีข้อกำหนดในการจัดฟุตบอลโลก เรื่องแรกคือ สนามแข่งขันต้องมีอย่างน้อย 12 สนาม (ตัวเลือก 14-16 สนาม) และมีความจุ 40,000-80,000 ที่นั่ง

เรื่องการอำนวยความสะดวกทีมและผู้ตัดสินจะต้องมีโรงแรม 4-5 ดาวเท่านั้นอย่างน้อย 48 แห่ง (ตัวเลือก 72 แห่ง)

ประเทศที่จะเสนอตัวจัดฟุตบอลโลกจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ซึ่งต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และ/หรือรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทุกภาคส่วนต้องให้การสนับสนุน และต้องถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับสัดส่วนที่ฟีฟ่าจะให้คะแนนความพร้อมสำหรับประเทศที่ยื่นบิดส่วนมากจะเป็นเรื่องสนามแข่งขันมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีเพียงสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่มีความจุราว 49,000 คน ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย ที่มีสนามที่มีความพร้อมหลายสนาม

ดังนั้น ไทยจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องสนามแข่งขันเป็นอันดับแรก

 

มติที่ประชุมวันนั้นจึงสรุปเบื้องต้นกันว่า จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาก่อสร้างสนามฟุตบอลมาตรฐานเกรด A ขึ้น เพื่อรองรับการจัดฟุตบอลโลก

เนื่องจากสนามเดิมที่มีอยู่นั้น เป็นโครงสร้างเดิมที่มีการก่อสร้างเมื่อหลายสิบปี ดังนั้น ควรที่จะก่อสร้างสนามใหม่ให้สอดคล้องกับฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยทาง กกท.เสนอว่า มีโครงการที่จะก่อสร้างสนามกีฬาระดับชาติ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ ปี 2026 อยู่แล้ว จึงเตรียมที่จะนำมาบูรณาการร่วมกัน

ทางฝั่งกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันเตรียมพร้อมในการยื่นเสนอเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2034 เนื่องจากฟุตบอลโลกไม่ใช่เพียงแค่เรื่องกีฬาฟุตบอล แต่เป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ของชาติด้วย

คำถามคือ ณ วันนี้ประเทศไทย เราต้องย้อนมาดูตัวเองก่อนว่า เรามีศักยภาพอยู่ในระดับใดของอาเซียน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทุกองคาพยพ ต้องหยิบยกมาพิจารณากันทั้งหมด

อย่ามองแค่ว่า” “ไทยแลนด์” เป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน เราต้อง” “หน้าใหญ่” พยักหน้าทำกันอย่างเดียวไม่ได้นะครับ

เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของปากท้องของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ตัวอย่างมีให้เห็น กรีซจัดโอลิมปิกเกมส์ 2004 จนประเทศเป็นหนี้มหาศาล ประชาชนยากไร้ หรือแม้กระทั่งฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล คนต่อต้านกันทั้งประเทศ ถึงขั้นเดินขบวนประท้วง ก่อจลาจล

แต่…รัฐบาลพวกเขาไม่สนใจ

 

ถามว่า เราจะเอากันแบบนั้นหรือ เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ นะครับ ไม่ใช่พูดกันสนุกปากกันไปเรื่อย

ถามว่า หากประเทศไทยจะเข้าร่วมกับชาติอาเซียน ในการเสนอตัวเป็น” “เจ้าภาพร่วม” ฟุตบอลโลก 2034 ทำไมประชาชนในประเทศไม่มีสิทธิร่วมตัดสินใจกรณีดังกล่าว…?

ทำไมถึงไม่มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนเพื่อให้ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนเจ้าของประเทศว่า พวกเขา” “เห็นด้วย VS ไม่เห็นด้วย” กับการที่ประเทศไทยจะร่วมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ย้ำนะว่า ประชาพิจารณ์ต้องทำกันแบบครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ใช่ทำกันแบบเอาคนหยิบมือเดียวมาลงความเห็นแล้วเหมารวมกันทั้งประเทศแล้วนำไปตบตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างนั้นเขาไม่เรียกฉันทานุมัติจากประชาชน…!!!

โอเคว่า ในแง่มุมที่ดี หากไทยได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกร่วมกับอาเซียนมันก็พอจะมีอยู่บ้าง เดี๋ยวจะหาว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่มันต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า ระหว่างผลดีที่ประเทศไทยจะได้รับ กับผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต อย่างไหนทำแล้วประเทศชาติได้รับผลประโยชน์มากกว่ากัน

ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาเห็นด้วยให้เดินเครื่องเต็มสูบ เอาเลยครับ ทำไปเลยครับ อย่างน้อยๆ ประชาชนต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบร่วมกันหากเกิดผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อประเทศไทยในอนาคต

แต่…ถ้าประชาชนเขาไม่เอาด้วย เขาไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาไม่อยากให้ปากท้องของพวกเขาต้องมาตกเป็น” “ตัวประกัน” สนองความสุขของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ก็ต้องหยุดคิด และล้มเลิกโครงการ” “อภิมหาโปรเจ็กต์” นี้ทันที…!!!

อย่าทำเพียงแค่เป็นคำพูดของผู้นำอาเซียน อย่าทำเพียงเพื่อเอาใจนาย เพราะเจ้าของประเทศไทยคือประชาชน เมื่อมัน” “ล่ม” มัน” “พัง” หรือเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย

พวกนักการเมือง หรือข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้อง จะรับผิดชอบไหวไหม…?

นี่คือ คำถามที่ต้องการคำตอบ….!!!