เมอร์คิวรี่ : “ไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน” แผนจัดระบบสู่มาตรฐานโลก

ปัจจุบันการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ถูกจัดขึ้นในประเทศไทยมีจำนวนมากมายในทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งมีจำนวนรายการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับความนิยมของผู้คนทั่วไปที่หันมาสนใจการออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนกันเป็นจำนวนมาก

เสน่ห์ที่สำคัญของการแข่งขันวิ่งมาราธอนคือการพิสูจน์จิตใจของตัวเองกับการพิชิตเส้นทางระยะ 42.195 ก.ม. ซึ่งถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก และในแต่ละสนามแข่งขันก็มีความท้าทายแตกต่างกันไปอีกด้วย โดยจำนวนสนามที่มีมากมาย ทำให้ปัจจุบันการแข่งขันวิ่งมาราธอนของเมืองไทยยังไม่เป็นระบบเข้าที่เข้าทางมากนัก

“การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานสำรวจเส้นทางการแข่งขัน” “บอสตัน มาราธอน” ซึ่งเป็นรายการวิ่งมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และจัดเป็นครั้งที่ 123 ในปีนี้ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับใช้กับการแข่งขันวิ่งมาราธอนในประเทศไทย

เพื่อยกระดับให้มีระบบ และมีมาตรฐานระดับสากล

 

“บิ๊กก้อง” “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ กกท. ระบุว่า จากการไปดูงานและสำรวจเส้นทางที่การแข่งขันบอสตัน มาราธอน ถือว่าเป็นการได้รับประโยชน์อย่างมากกับการพัฒนาการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนของเมืองไทย โดย กกท.ยังมีโอกาสได้เชิญผู้จัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน 5 รายการหลักโลกมาร่วมประชุมที่ประเทศไทย เพื่อแนะนำแนวทางยกระดับสู่มาตรฐานสากลด้วย

กกท.ได้เชิญ 5 ผู้จัดศึกวิ่งมาราธอน 5 เมเจอร์หลักของโลก ประกอบด้วย “โตเกียว, ชิกาโก้, ลอนดอน, เบอร์ลิน และนิวยอร์ก” มาร่วมการประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลก “โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2019” ที่โรงแรมเดอะ ริเวอร์รี บายกะตะธานี จ.เชียงราย วันที่ 4-5 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังแนวทางการบริหารจัดการจากผู้จัดรายการระดับโลก

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กกท.ยังเตรียมจัดระบบการแข่งขันวิ่งมาราธอนของไทยที่มีจำนวนมากมายในปัจจุบันให้มีระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น ด้วยการจัดระบบให้เป็น” “ไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน” โดยจะเลือกรายการวิ่งมาราธอนท็อปที่จัดขึ้นในเมืองไทยมาจำนวน 6 รายการหลักตามภูมิภาคต่างๆ ให้เข้ามาถูกบรรจุเป็นเมเจอร์ มาราธอนของเมืองไทย

“เราคงจะไม่สร้างรายการวิ่งมาราธอนขึ้นมาใหม่ เพราะตอนนี้เรามีรายการวิ่งมาราธอนเต็มไปหมด และเราจะนำเอารายการเหล่านี้มาจัดเป็นไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน ซึ่งจะเป็นการมาร่วมกันสร้างมาตรฐาน และในแต่ละสนามแข่งขันก็จะมีเครดิต สามารถเทียบเวลากันได้ และยกระดับการแข่งขันให้มีมาตรฐานสากล”

“เราจะเอาระบบของบอสตัน มาราธอน มาปรับใช้ แต่เราคงจะไม่มีกฎหมายกับผู้จัดที่จะต้องมีไลเซนส์เหมือนกับต่างประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาในบ้านเรามีการจัดกันไปเยอะแล้ว แต่เราก็จะรับรองให้รายการมาราธอนเหล่านี้เป็นเกรดเอ หรือเกรดบี เกรดซี ตามลำดับ”

ดร.ก้องศักดกล่าว

 

ผู้ว่าการ กกท.กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการคงจะต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพูดคุยกัน ทั้ง กกท.เอง, สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.-TCEB, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาจับมือร่วมกันทำ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน และทำให้นักวิ่งที่สนใจจะเข้าร่วมชิงชัยวิ่งมาราธอนของไทยจะได้รู้ว่ารายการไหนมีมาตรฐานแตกต่างกันไปในระดับใด

ในแต่ละรอบเดือนมีรายการวิ่งมาราธอนถูกจัดขึ้นอย่างมากมายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งต่างถูกจัดการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เล็งเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งในแต่ละสัปดาห์มีงานวิ่งมาราธอนไม่ต่ำกว่า 8 รายการ และในแต่ละรอบเดือนมีเฉลี่ย 30 รายการทั่วประเทศ

สำหรับแนวทางที่ กกท.เตรียมที่จะจัดระบบให้เป็น” “ไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน” ถือเป็นแนวทางที่ช่วยให้งานวิ่งมาราธอนของไทยไที่มีจำนวนมากในปัจจุบันถูกจัดนำมาเข้าระบบให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อรับรองว่ารายการวิ่งมาราธอนใดมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีถึง 7 รายการวิ่งมาราธอนที่มีความน่าสนใจ และน่าจะถูกบรรจุให้เป็นรายการหลักของประเทศไทยต่อในอนาคต

 

รายการแรก” “จอมบึง มาราธอน” ถือเป็นงานวิ่งที่มีความเก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528 ที่อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี โดยอาจารย์ของวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง) จากจุดเริ่มต้นที่มีนักวิ่งเข้าร่วมหลัก 100 คน แต่ได้รับการยอมรับจากงานวิ่งที่เป็นงานประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล จนเคยทำสิถิติมีนักวิ่งเข้าร่วมมากที่สุดถึงกว่า 5,000 คนมาแล้วด้วย

รายการต่อมา” “กรุงเทพ มาราธอน” เป็นงานวิ่งขนาดใหญ่ที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2531 จุดเริ่มต้นและเส้นชัยอยู่ที่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ซึ่งถือเป็นศึกวิ่งมาราธอนอีกหนึ่งรายการที่มีความเก่าแก่ของไทย ทำให้มีนักวิ่งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจมาร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก เพื่อพิชิตเส้นทางที่มีความสวยงามตามแบบฉบับวิถีคนเมือง

รายการที่สาม” “ภูเก็ต มาราธอน” เป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนชื่อดังในภาคใต้ของไทย ถูกกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2549 โดย โก แอดเวนเจอร์ เอเชีย ซึ่งสร้างสนามวิ่งเป็นมาตรฐานขึ้นมา และได้การรับรองมาตรฐาน โดยเสน่ห์ของสนามนี้เป็นการวิ่งผ่านเส้นทางธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งจะได้เห็นทะเลภูเก็ต ทำให้เป็นอีกหนึ่งรายการที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกหนึ่งรายการต่อไป” “เชียงใหม่ มาราธอน” เป็นรายการวิ่งใหญ่ที่สุดในแถบภาคเหนือของไทยซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อปี 2552 โดยเป็นสนามที่มีเอกลักษณ์คือจะได้วิ่งผ่านเส้นทางบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ในตัวเมือง รวมทั้งดอยสุเทพ และจะได้สัมผัสอากาศหนาวๆ ของเชียงใหม่ด้วย ทำให้ดึงดูดนักวิ่งทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาเข้าร่วมชิงชัยได้เป็นจำนวนมาก

รายการวิ่งน้องใหม่อย่าง” “บุรีรัมย์ มาราธอน” แม้เพิ่งจะถูกจัดขึ้นเมื่อปี 2560 แต่ก็ได้การยอมรับว่าเป็นสนามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเส้นทางการวิ่งได้การรับรองจากทั้งสหพันธ์กรีฑาเอเชีย และสหพันธ์กรีฑานานาชาติ โดยไฮไลต์ของเส้นทางก็อยู่ที่การวิ่งจากสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่เป็นสนามโมโตจีพี และวิ่งผ่านตามเส้นทางภายในบุรีรัมย์

ในปีเดียวกันรายการวิ่งมาราธอนอย่าง” “บางแสน 42” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2560 เช่นกัน ซึ่งมีมาตรฐานระดับโลก เพราะสถิติการวิ่งสนามนี้สามารถนำไปสมัครวิ่งรายการบอสตัน มาราธอน ได้ด้วย และเส้นทางการวิ่งยังผ่านทิวทัศน์อันสวยงามวิ่งเลียบชายทะเลบางแสนเกือบตลอดเส้นทาง ทำให้เป็นอีกหนึ่งงานที่มีทั้งมาตรฐาน และมีความสวยงาม

ปิดท้ายกันที่รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน” ซึ่งทาง ททท.ได้ร่วมจัดขึ้นเมื่อปี 2561 ออกสตาร์ตจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน ผ่านเส้นทางภายในกรุงเทพฯ และสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะเป็นรายการวิ่งมาราธอนป้ายแดงหมาดๆ แต่ก็จัดได้อย่างมีมาตรฐาน และตั้งเป้าจะติดท็อป 10 รายการวิ่งมาราธอนของโลกภายใน 3 ปีอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ กกท.เตรียมจัดระบบให้เป็น “ไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน” ถือเป็นแนวทางที่ช่วยยกระดับมาตรฐานรายการวิ่งมาราธอนของไทยให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น เพราะทุกรายการต่างหวังที่จะเข้ามาเป็นเมเจอร์หลักที่จะช่วยดึงดูดนักวิ่งได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกรายการจำเป็นที่จะต้องพัฒนารูปแบบการแข่งขันให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งในภาพรวมแล้วส่งผลดีต่อการพัฒนาการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากลยิ่งขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงจะต้องคำนึงถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของนักวิ่งที่เข้าร่วมการแข่งขันด้วย เพราะเมื่อมีนักวิ่งเข้าร่วมในแต่ละรายการเป็นจำนวนมาก การดูแลรักษาความปลอดภัยก็จะต้องมีการเข้มงวดเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ท้ายที่สุดนี้ต้องติดตามว่ารายการวิ่งมาราธอนใดจะติดโผเข้ามาเป็น “ไทยแลนด์ เมเจอร์ มาราธอน” แต่เชื่อว่า แผนการจัดระบบครั้งนี้จะช่วยยกระดับให้รายการวิ่งมาราธอนของไทยก้าวขึ้นไปติดโผเป็นรายการท็อปของโลกในอนาคตต่อไปได้อย่างแน่นอน…